วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ม.ค. 2553
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
The Arab Republic of Egypt
ชื่อทางการ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Arab Republic of Egypt)
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือ ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดอิสราเอล ทิศตะวันออกติดทะเลแดง ทิศใต้ติดซูดานและทิศตะวันตกติดลิเบีย
พื้นที่ 1,001,450 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงไคโร (Cairo)
ภูมิอากาศ อากาศแห้งแล้งแบบทะเลทราย มีฝนตกน้อย
ประชากร 81,500,000 คน (กรกฎาคม 2551)
ศาสนา อิสลาม สุหนี่ (ร้อยละ 94) คริสเตียนคอปติก และอื่น ๆ ร้อยละ 6
ภาษา อาหรับเป็นภาษาราชการ ภาษาต่างประเทศที่ใช้ทั่วไป ได้แก่ อังกฤษและฝรั่งเศส
วันชาติ 23 กรกฎาคม (Revolution Day)
รูปแบบการปกครอง
ระบอบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมีนายกรัฐมนตรีซึ่งแต่งตั้ง โดยประธานาธิบดีเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีรัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ สภาประชาชน (Peoples Assembly) หรือ Majlis al-Shab มีสมาชิก 454 คน มาจากการเลือกตั้ง 444 คน และประธานาธิบดีแต่งตั้งอีก 10 คน มีวาระสมัยละ 5 ปี และมีสภาที่ปรึกษา (Advisory Council) หรือ Majlis al-Shoura มีสมาชิก 285 คน ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งจากบุคคลสาขาอาชีพต่าง ๆ จำนวน 2 ใน 3 (190 คน) ส่วนที่เหลืออีก 95 คน ประชาชนเป็น ผู้เลือกตั้ง มีวาระคราวละ 3 ปี
ประมุขของรัฐ
ประธานาธิบดีมูฮัมเหม็ด ฮอสนี มูบารัค (Muhammed Hosni Mubarak)
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2524 (ค.ศ. 1981) และได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 5 เมื่อเดือนกันยายน 2548 (ค.ศ. 2005) มีวาระสมัยละ 6 ปี
หัวหน้ารัฐบาล นายอาเหม็ด โมฮาเหม็ด นาซีฟ (Ahmed Mohamed Nazif) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 9 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ. 2004)
ประมุขของรัฐ นายอาเหม็ด อบูล เกต (Ahmed Aboul Gheit) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 9 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ. 2004)
นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน
1.การเมืองการปกครอง
1.1 ประธานาธิบดีมูบารัค ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 5 สมัย ตั้งแต่ปี 2524 ครั้งล่าสุด ได้รับ ชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2548 รวมจนปัจจุบัน อยู่ในตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 25 ปี
1.2 ประธานาธิบดีมูบารัค ได้ดำเนินการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ได้พยามทำการปฏิรูปการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป (Gradualism Policy) เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 ได้ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้มีการเลือกประธานาธิบดีโดยตรง และสามารถมีผู้สมัครได้มากกว่า 1 คน
1.3 นายอาเหม็ด นาซีฟ นายกรัฐมนตรี ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีมูบารัค เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) และมีความรู้ความชำนาญ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็มีภาพลักษณ์ว่าเป็นรัฐบาลของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจและมีรัฐมนตรีที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศตะวันตกเป็นจำนวนมาก รัฐบาลปัจจุบันดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี มุ่งส่งเสริมธุรกิจเอกชนและระบบตลาด (pro-business and market oriented policies) ผลักดันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
2.เศรษฐกิจ
2.1 อียิปต์เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่สำคัญ เคยผลิตได้วันละ 922,000 บาร์เรล สร้างรายได้ประมาณปีละ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี อย่างไรก็ดี นับแต่ปี 2548 เป็นต้นมา การผลิตลดลงเหลือวันละประมาณ 579,000 บาร์เรล (ในปี 2551 ผลิตได้วันละ 632,000 บาร์เรล/วัน) แต่ยังมีศักยภาพด้านก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในขณะนี้ รัฐบาลพยายามผลักดันให้ เป็นแหล่งรายได้สำคัญต่อไป อียิปต์จึงได้เร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas -LNG)
2.2 อียิปต์มีรายได้หลัก 5 ด้าน ได้แก่ การส่งออกน้ำมัน โดยเฉลี่ยประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี การท่องเที่ยวประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ค่าธรรมเนียมผ่านคลองสุเอซประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี และการส่งเงินกลับของแรงงานอียิปต์ในต่างประเทศ (ประมาณ 5 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบียประมาณ 1 ล้านคน ในลิเบียประมาณ 1.5 ล้านคน) ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี
2.3 อียิปต์มีปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาหนี้ต่างประเทศประมาณ 35.26 พันล้าน
ดอลลาร์สหรัฐ ปัญหาอัตราการขยายตัวของประชากร ความยากจน และการขาดดุลงบประมาณ และปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลอียิปต์จึงได้พยายามแปรรูปกิจการของรัฐ และปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ โดยขอความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อดำเนินการด้านนี้จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก กลุ่มประเทศผู้ให้กู้ (Paris Club) และประเทศกลุ่มอาหรับ
2.4 นับแต่ที่อียิปต์เริ่มทำการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2533 โดยใช้นโยบายเศรษฐกิจการตลาด การค้าเสรีและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนมาตรการต่างๆ เช่น ยกเลิกการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ปฏิรูประบบศุลกากร ปรับปรุงระบบภาษี การลดอัตราศุลกากรสินค้าจำเป็นพื้นฐาน เช่น ข้าวสาลี และน้ำตาล การส่งเสริมอุตสาหกรรมและธุรกิจเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม (Information and Communications Technology-ICT) การแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาอัตราการเพิ่มขึ้นสูงของประชากร และการว่างงาน ได้ทำให้ภาวะเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณ ลดภาวะเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานลงได้จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 9.5 ในปัจจุบัน
2.5 อียิปต์ได้เข้าเป็นสมาชิกตลาดร่วมแอฟริกาตะวันออกและใต้ (Common Market of Eastern and Southern Africa COMESA) ในปี 2541 เพื่อขยายตลาดในแอฟริกา และเมื่อเดือนมิถุนายน 2544 อียิปต์ได้ลงนามร่วมกับสหภาพยุโรป (European Union) ในความตกลง Euro-Mediterranean Association Agreement ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างยุโรปกับอียิปต์ในอนาคต
2.6 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของอียิปต์ ได้แก่ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (European Union-EU) และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศในทวีปเอเชีย ปัจจุบันอียิปต์มีความสนใจจะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน กับสาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไทย
3.นโยบายต่างประเทศ
3.1 นโยบายต่างประเทศของอียิปต์ให้ความสำคัญต่อโลกอาหรับ โลกมุสลิมและแอฟริกา อียิปต์มีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ เช่น เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement - NAM) มีบทบาทนำในสันนิบาตอาหรับ (League of Arab States) และในกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง
3.2 อียิปต์เป็นประเทศอาหรับประเทศแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล เป็นผลให้ถูกขับออกจากสันนิบาตอาหรับเมื่อปี 2522 อย่างไรก็ดี เมื่อประธานาธิบดีมูบารัคเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2524 ได้พยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับโลกอาหรับ เช่น การสนับสนุนปาเลสไตน์ สนับสนุนอิรักในสงครามอิรัก-อิหร่าน สนับสนุนคูเวตเมื่อถูกอิรักยึดครอง เป็นต้น ทำให้ได้รับกลับเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับอีกครั้งในปี 2537
3.3 ประธานาธิบดีมูบารัคมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศอาหรับ การเจรจากับอิสราเอล สนับสนุนการแก้ไขปัญหาตะวันออกกลางตามแนวทาง Road Map และการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ และในสงครามอิสราเอล-เลบานอนเมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2549 อียิปต์ได้พยายามดำเนินการทางการทูตเพื่อให้อิสราเอลยุติการโจมตีเลบานอน โดยประธานาธิบดีมูบารัคได้ผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับผู้นำประเทศอาหรับ เช่น กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 แห่ง จอร์แดน เจ้าชายซาอุด อัล ไฟซาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย และเช็คคาลิฟา บินซาอิด อัล นายาน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พร้อมทั้งได้โน้มน้าวประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ด้วย
3.4 อียิปต์เป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ปีละประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมทั้งความช่วยเหลือทางทหาร และความช่วยเหลือทางเทคนิคและวิชาการ
3.5 อียิปต์เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนอิสลามศึกษาที่สำคัญของโลก เป็นแหล่งอารยธรรมซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเจริญรุ่งเรืองมาเป็นเวลา 7 พันปี ปัจจุบันอียิปต์ยังเป็นศูนย์กลางทางศิลปวัฒนธรรมอาหรับโดยภาพยนตร์และดนตรี อียิปต์ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มประเทศอาหรับ
-ข้อมูลเศรษฐกิจทั่วไป
หน่วยเงินตรา : ปอนด์อียิปต์ (Egyptian Pound) 1 EGP = 6.04 บาท (ธันวาคม 2552)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ: 159.1พันดอลลาร์สหรัฐ (2551)
รายได้ประชาชาติต่อหัว : 5,438 ดอลลาร์สหรัฐ (2551)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ : ร้อยละ 7.2 (2551)
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
1. ความสัมพันธ์ทางการทูตและการเมือง
ประเทศไทยและสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2497 (ค.ศ. 1954) อียิปต์เป็นประเทศอาหรับประเทศแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบราบรื่น ต่างสนับสนุนกันในเวทีระหว่างประเทศ และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอของคณะผู้แทนทั้งจากภาครัฐบาล ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชน
เอกอัครราชทูตไทยประจำอียิปต์คนปัจจุบัน ได้แก่ นายนภดล เทพพิทักษ์ ซึ่งเดินทางไปรับตำแหน่งที่อียิปต์เมื่อเมษายน 2549 และเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นายโมฮาเมด อัชราฟ โมฮาเมด กามาล เอล โคลี (Mr. Mohamed Ashraf Mohammed Kamal El Kholy) ซึ่งเพิ่งจะเดินทางมาเข้ารับตำแหน่งที่ไทย เมื่อ 4 กันยายน 2549
2. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
มูลค่าการค้าไทย อียิปต์ในปี 2551 เท่ากับ 719.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 635.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 79.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า 555.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าที่ไทยส่งออกไปอียิปต์ที่สำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอียิปต์ที่สำคัญ ได้แก่ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช ด้ายและเส้นใย เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เป็นต้น
อียิปต์มีกำลังผลิตน้ำมันดิบ 632,000 บาร์เรล/วัน (2551) และมีศักยภาพด้านก๊าซธรรมชาติ ขณะนี้บริษัท ปตท สผ จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อหุ้นร้อยละ 25 ในบริษัทด้านก๊าซธรรมชาติของอียิปต์
3. ด้านสังคมและวัฒนธรรม
อียิปต์เป็นศูนย์กลางการศึกษาอิสลามซึ่งเป็นที่นิยมของนักศึกษาไทยมุสลิม ไทยกำลังพยายามผลักดันให้มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร (Al Azhar) ของอียิปต์เพื่อพัฒนาหลักสูตรและร่วมจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยมุสลิมที่มหาวิทยาลัย Al Azhar กว่า 2,600 คน และในปี 2552 ไทยได้บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านบาทให้แก่มหาวิทยาลัยฯ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของนักเรียนไทยด้วย
4. ความตกลงทวิภาคีที่สำคัญกับไทย
(1) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม การศึกษา และวิทยาศาสตร์
ลงนามเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2519 (1976)
(2) ความตกลงทางการค้า
ลงนามเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2527 (1984) ความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันลงนาม
(3) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
ลงนามในระหว่างการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ครั้งที่ 10 (UNCTAD X) ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543
(4) การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-อียิปต์ (Thai-Egypt Joint Commission)
จัดตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2532 และจัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546 ระหว่าง
การเยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการของ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) และจัดประชุมครั้งที่ 2 เมื่อ 28-30 มกราคม 2549 ระหว่างการเยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการของนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
(5) ความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อน
ลงนามเมื่อ 29 มกราคม 2549 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
และนาย Ahmed Aboul Gheit รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์เป็นผู้ลงนามฝ่ายอียิปต์
เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย
การเยือนอียิปต์ของบุคคลสำคัญของไทย
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
- ธันวาคม 2531 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ
- มกราคม 2533 และเดือนมกราคม 2536 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ
- 17-23 มีนาคม 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการของ
รัฐบาล
- มีนาคม 2530 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ
- ปี 2542 นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรีเดินทางเยือนอียิปต์เพื่อเข้าร่วมประชุมศาสนาอิสลาม
- 29-30 มกราคม 2546 ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ และเป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อียิปต์ ครั้งที่ 1
- 23-25 กันยายน 2546 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ฮาลาลเยือนเพื่อขยายตลาดอาหารฮาลาล
- 20 23 มีนาคม 2547 ปี 2547 นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเดินทางไปร่วมประชุมความร่วมมือนานาชาติในการกำจัดโรคเท้าช้าง ครั้งที่ 3 (Third Meeting of the Global Alliance for Elimination of Lymphatic Filariasis) ที่กรุงไคโร
- 4-9 มกราคม 2548 นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำคณะเดินทางไปเจรจาเรื่องความร่วมมือด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัย Al-Azhar
- 31 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2548 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทยได้นำคณะผู้แทนทั้งภาคราชการและเอกชนไทยเดินทางไปขยายความสัมพันธ์และแสวงหาลู่ทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า อุตสาหกรรม ความร่วมมือทางวิชาการ และการลงทุนกับอียิปต์
- 28-30 มกราคม 2549 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการและเป็นประธานร่วมการประชุม JC ไทย-อียิปต์ ครั้งที่ 2
- 17-18 เมษายน 2550 นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ
- 25-27 มกราคม 2551 พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี เยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ
- 9-12 มีนาคม 2551 สมเด็จพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการ
- 15-16 กรกฎาคม 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอียิปต์เพื่อเข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) ครั้งที่ 15
ฝ่ายอียิปต์
- ปี 2539 นาย Amr Moussa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ เยือนไทย
- 27 กุมภาพันธ์ 2 มีนาคม 2547 Sheikh (Prof. Dr.) Ahmed Al-Tayeb อธิการบดีของมหาวิทยาลัย Al Azhar เยือนไทยในฐานะแขกของนายกรัฐมนตรี
- 13-15 ตุลาคม 2547 นาย Ezzat Saad Assistant Foreign Minister for Asian Affairs เดินทางเยือนไทยในฐานะแขกของปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
- 23 - 27 มิถุนายน 2550 Dr.Muhammad Sayid Tantawy ผู้นำสูงสุดทางศาสนา อิสลามของอียิปต์ (Grand Imam of Al Azhar) เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล
- 10-12 ธันวาคม 2550 นาย Sameh Samir Fahmy รมต.ปิโตรเลียมอียิปต์ในฐานะแขกของกระทรวงพลังงาน
- 16-18 พฤษภาคม 2552 ดร.อาลี โกมาร์ (Dr.Ali Gomaa) ผู้ชี้ขาดทางศาสนา (Mufti) เยือนไทย
ผู้แทนทางการทูต
ฝ่ายไทย
Royal Thai Embassy
9 Tiba Street,
Dokki, Giza
Tel : (202) 3336-7005, 3760-3553-4
Fax :(202) 3760-5076,3760-0137
E-mail : [email protected]
Website : http://www.thaiembassy.org/cairo
Office Hours : Sunday - Thursday 09.00 - 16.30 hrs.
Visa and Consular section : 09.30 - 12.30 hrs.
Weekly Holidays : Friday - Saturday
ฝ่ายอียิปต์
The Embassy of the Arab Republic of Egypt
6 Las Colinas Bldg., 42 nd Fl., Sukhumvit 21,
Watthana, Bangkok 10110
Tel : 0-2661-7184 , 0-2262-0236
Fax : 0-2262-0235
E-mail : [email protected]
Office Hours: 09.00 - 15.30 (Monday - Friday) ,10.00 - 12.00 (Visa Section)
********************************
กองตะวันออกกลาง
ธันวาคม 2552
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **