วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ม.ค. 2553
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐไลบีเรีย
Republic of Liberia
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดกับกินี ทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันออกติดกับโกตดิวัวร์ และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับเซียร์ราลีโอน
พื้นที่ 111,370 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงมันโรเวีย (Monrovia)
ประชากร 3.8 ล้านคน (ปี 2551) ประกอบด้วยชาวแอฟริกันดั้งเดิม ร้อยละ 95 (อาทิ เผ่า Kpelle, Bassa, Gio, Kru, Grebo, Mano, Krahn เป็นต้น) ชาวอเมริกัน-ไลบีเรียน ร้อยละ 2.5 และชาวคองโก ร้อยละ 2.5
ภูมิอากาศ ร้อนชื้น อุณหภูมิสูงโดยตลอด โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมมีอุณหภูมิเฉลี่ย 24 - 32 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวในช่วงเดือนกรกฎาคมมีอุณหภูมิเฉลี่ย 22 27 องศาเซลเซียส มีฝนตลอดปี
ภาษาราชการ ภาษาอังกฤษ
ศาสนา คริสต์ร้อยละ 40 อิสลามร้อยละ 20 และความเชื่อดั้งเดิม ร้อยละ 40
หน่วยเงินตรา Liberian Dollars (LRD) อัตราแลกเปลี่ยน 1 LRD ประมาณ 0.481 บาท หรือ 1 บาท เท่ากับ 2.08 LRD (ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2552)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี สามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาง Ellen Johnson-Sirleaf ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 16 มกราคม 2549 เป็นสมัยแรก
ฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดยได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภา รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันคือ นาง Olubankie King-Akerele
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสองสภา (Bicameral) ประกอบด้วยวุฒิสมาชิก 30 ที่นั่ง ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 6 ปี (เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 11 ตุลาคม 2548) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 64 ที่นั่ง ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 6 ปี เช่นเดียวกับสมาชิกวุฒิสภา (เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 11 ตุลาคม 2548)
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลสูงสุดเพียงศาลเดียว
1. การเมืองการปกครอง
1.1 ไลบีเรียประกาศเป็นสาธารณรัฐในปี 2390 (ค.ศ.1847) ภายหลังจากที่ดินแดนแห่งนี้เคยถูกใช้เป็นถิ่นที่ตั้งของเหล่าทาสผิวดำที่ถูกส่งมาจากสหรัฐฯ (freed slave colony) โดยมีนาย William Tubman เป็นประธานาธิบดีคนแรกระหว่างปี 2487 2514 (ค.ศ.1944 1971) ในช่วงดังกล่าว ไลบีเรียมีนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติและลดความแตกต่างด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างทายาทกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ (original settlers) กับกลุ่มชนพื้นเมือง ต่อมาในปี 2530
(ค.ศ.1987) เกิดการทำรัฐประหารนำโดยนาย Samuel Doe และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองในระบอบเผด็จการอย่างสมบูรณ์แบบ (authoritarian) ในไลบีเรีย
1.2 สาธารณรัฐไลบีเรียต้องประสบกับภาวะสงครามกลางเมืองมาอย่างยาวนาน นับจากเดือนธันวาคม 2532 (ค.ศ.1989) เป็นจุดเริ่มต้นของการสู้รบระหว่างรัฐบาลของนาย Doe และผู้นำกลุ่มกบฎซึ่งนำโดยนาย Charles Taylor ซึ่งการสู้รบได้ขยายเป็นวงกว้างโดยมีกลุ่มกบฎกลุ่มอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วยจนทำให้การสู้รบยืดเยื้อกว่า 6 ปี จนท้ายที่สุดกลุ่มกบฎก็สามารถสังหารนาย Doe ประกอบกับความสำเร็จในการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพ (peace agreement) ณ เมืองอาบูจา ประเทศไนจีเรีย ส่งผลให้มีการจัดการเลือกตั้งในปี 2540 (ค.ศ.1977) โดยนาย Charles Taylor ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงกว่าร้อยละ 70
1.3 นาย Taylor ปกครองประเทศด้วยความเข้มงวดตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งผู้นำ ตั้งแต่ 2540 2546 (ค.ศ. 1997 2003) อีกทั้งยังใช้อำนาจทางการเมืองโดยมิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว นาย Taylor กลายเป็นบุคคลทรงอิทธิพลทั้งในเซียร์ราลีโอนและประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก อย่างไรก็ดี ภายหลังปี 2546 (ค.ศ. 2003) ความวุ่นวายทางการเมืองภายในไลบีเรียเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเนื่องจากประธานาธิบดี Taylor ได้รับแรงกดดันจากนานาประเทศจนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งและขอลี้ภัยทางทางการเมืองในไนจีเรีย ทั้งนี้ ประธานาธิบดี Taylor ได้ถูกนำตัวเข้าพิจารณาคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court : ICC) ในข้อหาอาชญากรในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มกบฎในสงครามกลางเมืองในเซียร์ราลีโอน
1.4 ภายหลังการลาออกของประธานาธิบดี Taylor ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ และรัฐบาลรักษาการณ์ได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดยมีนาย Gyudeh Bryant เป็นประธานาธิบดี ซึ่งได้บริหารประเทศจนถึงปี 2548 (ค.ศ. 2005) ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งขึ้นในช่วงปลายปีเดียวกันนั้น ผลปรากฎว่านาง Ellen Johnson-Sirleaf ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี และเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคม 2549 (ค.ศ. 2006) จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ นาง Johnson-Sirleaf เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยอมรับและรู้จักอย่างกว้างขวางบนเวทีระหว่างประเทศเนื่องจากมีภาพลักษณ์ของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ทางการปฏิรูป อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในการทำงานกับองค์การสหประชาชาติ อย่างไรก็ดี นาง Ellen ยังคงมีฐานความนิยมทางการเมืองในไลบีเรียน้อย
1.5 ในปี 2550 (ค.ศ. 2007) The Economist Intelligence Unit (EIU) ได้จัดให้ไลบีเรียอยู่ในลำดับที่ 98 จาก 167 ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดการจัดการบริหารงานที่ดีของรัฐบาล (poor functioning of government) การฉ้อราษฎร์บังหลวง ระบบตุลาการที่ไม่ได้มาตรฐาน และอิสรภาพของประชาชนที่จำกัด อย่างไรก็ดี ไลบีเรียได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากต่างชาติเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับความช่วยเหลือเพื่อเตรียมการและจัดการเลือกตั้งในปี 2548 (ค.ศ. 2005) จนเป็นผลให้การเลือกตั้งครั้งนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น โปร่งใสและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
2. เศรษฐกิจ
2.1 หลังจากประธานาธิบดี Ellen Johnson-Sirleaf เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2549 มีการทบทวนสัญญาและสัมปทานต่างๆ ที่รัฐบาลชุดก่อนได้ทำไว้ มีการปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการติดตามผลการดำเนินนโยบายด้านการเงินการคลังของรัฐบาล มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบราชการให้เล็กลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจัดการกับปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งในการจัดการกับการคอรัปชั่น รัฐบาลได้ให้ข้าราชการที่ถูกตรวจสอบพบว่าคอรัปชั่นออกจากงานกว่า 500 คน ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณได้กว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และยังได้จัดตั้งกลุ่มต่อต้านการคอรัปชั่น (Anti-Corruption Task Force) ขึ้นโดยประกอบด้วยผู้แทนจาก Economic Community of West African States (ECOWAS) และกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ของไลบีเรีย เพื่อสืบสวนการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลชุดที่แล้ว
2.2 ไลบีเรียยังขาดระบบตุลาการที่ดีและบุคคลากรที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เป็นผลให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาคดี ความหนาแน่นของประชากรในเรือนจำ และอัตราการก่ออาชญากรรมที่สูง ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในการให้ความช่วยเหลือรื้อฟื้นและปรับปรุงระบบตุลาการให้มีมาตรฐานมากขึ้น
2.3 สาธารณรัฐไลบีเรียเป็นประเทศเกษตรกรรม โดยกว่าร้อยละ 80 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) มาจากภาคเกษตรกรรมโดยสินค้าเกษตรที่ไลบีเรียส่งออก ได้แก่ ยาง และเมล็ดโกโก้ ทั้งนี้ ไลบีเรียยังมีทรัพยากรธรรมชาติด้วย อาทิ ป่าไม้ สินแร่ เพชร ทองคำ และน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ฝูงเรือประมงไลบีเรียซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีเรือประมงกว่า 1,800 ลำที่ลงทะเบียนเป็นเรือของไลบีเรีย หรือกว่าร้อยละ 35 ของเรือประมงที่มีอยู่ทั่วโลก สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.4 ประชากรที่มีงานทำในประเทศ กว่าร้อยละ 70 ทำงานในภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 8 อยู่ในภาคอุตสาหกรรม และร้อยละ 22 อยู่ในภาคบริการ อย่างไรก็ตาม ประชากรกว่าร้อยละ 85 ยังอยู่ในภาวะว่างงาน และกว่าร้อยละ 80 ยังเป็นประชากรยังอยู่ในภาวะยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอดีตนายทหารและเยาวชนจำนวนมากที่ถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมกองกำลังในสมัยสงครามกลางเมือง นอกจากนี้ ไลบีเรียจัดเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการรู้หนังสือต่ำเพียงร้อยละ 55.5 (ประมาณการปี 2550) และแม้ว่าองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแล้ว แต่คาดว่าระบบการศึกษาในไลบีเรียยังจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกมาก ซึ่งส่งผลให้ไลบีเรียมีดัชนีการพัฒนามนุษย์ของ UNDP ในปี 2552 อยู่ในอันดับที่ 169 จาก 182 ประเทศที่มีดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สูงสุด
3. นโยบายต่างประเทศ
3.1 ความสัมพันธ์ระหว่างไลบีเรียกับประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่ม Mano River Union (เซียร์ราลีโอน กินี และโกตดิวัวร์) ซึ่งเป็นประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน โดยเน้นไปที่ความร่วมมือด้านความมั่นคงเพื่อสกัดกั้นและยับยั้งการขนอาวุธข้ามพรมแดนซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในช่วงที่ประเทศเหล่านี้อยู่ระหว่างการปราบปรามกลุ่มกบฎและสงครามกลางเมือง
3.2 สาธารณรัฐไลบีเรียได้ดำเนินความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ (technical assistance) และการสนับสนุนเงินทุนในการฟื้นฟูประเทศ ภายหลังจากที่ไลบีเรียได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามภายใน นอกจากนี้ ไลบีเรียยังเริ่มที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับลิเบีย คิวบา และจีน เช่นกัน
3.3 ไลบีเรียถือว่าเป็นหนึ่งสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ และยังเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศอื่นที่สำคัญด้วย อาทิ Economic Community of West African States (ECOWAS), African Development Bank (ADB), Mano River Union (MRU) และ Non-Aligned Movement (NAM)
การเมืองการปกครอง
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2551)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 280 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 7.1 (ปี 2551)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 7.1 (ปี 2551)
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ประเทศไทยและสาธารณรัฐไลบีเรียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2510 (ค.ศ. 1967) ความสัมพันธ์ระหว่างกันราบรื่นมาโดยตลอด ประเทศไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ มีเขตอาณารับผิดชอบไลบีเรีย ส่วนไลบีเรียมอบให้สถานเอกอัครราชทูตไลบีเรียประจำประเทศญี่ปุ่น มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ทั้งนี้ ไลบีเรียเคยแต่งตั้งนายอภิชาติ ชโยภาส เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไลบีเรียประจำประเทศไทย อย่างไรก็ตาม โดยที่ในปี 2550 (ค.ศ. 2007) ไลบีเรียได้ยกเลิกกงสุลกิตติมศักดิ์ทั่วโลก จึงได้มีการถอดถอนกงสุลกิตติมศักดิ์ไลบีเรียประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 (ค.ศ. 2007)
1.2 เศรษฐกิจ
1.2.1 การค้า
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและไลบีเรียดำเนินไปด้วยดี มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะยังอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก โดยระหว่างปี 2546 (ค.ศ. 2003) ถึง 2549 (ค.ศ. 2006) การค้าเฉลี่ยมีมูลค่าประมาณ 2,100 ล้านบาท โดยไทยในช่วงนั้นเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าเนื่องจากมีการนำเข้าเรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำจากไลบีเรียเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี 2550 (ค.ศ. 2007) เป็นต้นมา มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไลบีเรียลดลงอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุดในปี 2551 (ค.ศ. 2008) มูลค่าการค้าระหว่างกันมีเพียง 8.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยังไลบีเรีย 8.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากไลบีเรีย 0.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 8.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าที่ไทยส่งออกไปไลบีเรีย ได้แก่ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เคหะสิ่งทอ หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เม็ดพลาสติก และสินค้าที่ไทยนำเข้าจากไลบีเรีย ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ
1.2.2 การลงทุน
ยังไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน
1.2.3 การท่องเที่ยว
ในปี 2551 มีนักท่องเที่ยวชาวไลบีเรียเดินทางมาไทย จำนวน 944 คน
1.3 ความร่วมมือทางวิชาการ
ไม่มี
2. ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย
ไม่มีความตกลงต่างๆระหว่างกัน
3. การเยือนที่สำคัญ
3.1 ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
- ในชั้นนี้ ยังไม่เคยมีการเสด็จฯ เยือนไลบีเรีย
รัฐบาล
- เดือนมีนาคม 2529 (ค.ศ. 1986) ร้อยตรีประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนไลบีเรียอย่างเป็นทางการ
3.2 ฝ่ายไลบีเรีย
รัฐบาล
- นาย Charles Taylor อดีตประธานาธิบดีไลบีเรีย เคยเดินทางแวะเยือนประเทศไทยหลายครั้ง
- เมื่อปี 2547 (ค.ศ. 2004) นาย Thomas Yaya Nimley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไลบีเรีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
********************************
ตุลาคม 2552
กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2038 E-mail : [email protected]
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **