สาธารณรัฐประชาธิปไตยเซาตูเมและปรินซิปี

สาธารณรัฐประชาธิปไตยเซาตูเมและปรินซิปี

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 พ.ย. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,883 view


สาธารณรัฐประชาธิปไตยเซาตูเมและปรินซิปี
Democratic Republic of Saotome and Principe

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ประเทศเซาตูเมและปรินซิปี เป็นหมู่เกาะตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินแอตแลนติก (อ่าวกินี) ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ห่างจากประเทศกาบองประมาณ 200 กม.
พื้นที่ 1,001 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง Sao Tome
เมืองสำคัญ Principe
ภูมิอากาศ มีภูมิอากาศแบบโซนร้อน แต่ได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำเย็น Benguelaมีฝนตกเฉลี่ยปีละ 951 มม.
ประชากร 160,000 คน (ปี 2551)
เชื้อชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกันที่มีเชื้อสายปอร์ตุเกสผสม และมีผู้อพยพมาจากแองโกลา โมซัมบิกและเคปเวิร์ดบ้าง
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 70.3, Evangeligal ร้อยละ 3.4, New Apostolic ร้อยละ 2, Adventist ร้อยละ 1.8, อื่น ๆ ร้อยละ 3.1
ภาษา ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ และภาษาที่ใช้โดยทั่วไป ได้แก่
ภาษา Forror และ Crioulo
หน่วยเงินตรา/b> โดบรา (Dobra) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ประมาณ 495 โดบรา (พฤศจิกายน 2552)
ระบอบการปกครอง แบบสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ
มีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Fradique de Menesez

 

การเมืองการปกครอง

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
1. การเมืองการปกครอง
1.1 เซาตูเมและปรินซิปีปกครองในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย มีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติข้อเสนอของสภา และคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 ประธานาธิบดี Fradique de Menezes เป็นผู้ได้รับชัยชนะ ได้ดำรงตำแหน่งต่ออีก 1 สมัย นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นาย Joaquim Rafael Branco เข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2551
1.2 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 กันยายน 2533 (ค.ศ. 1990) กำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วยรัฐสภาแบบสภาเดียว (Unicameral) มีสมาชิกสภาจำนวน 55 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไป ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี จัดประชุมสภาสามัญทุกๆ ครึ่งปี การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2549 พรรค MLSTP-PSD เป็นผู้ถือครองเสียงมากที่สุดในสภา จำนวน 20 เสียง และร่วมกับพรรค MDFM/PL และพรรค PCD จัดตั้งรัฐบาลผสมถือเสียงรวมทั้งหมด 43 เสียงในสภา ฝ่ายตุลาการ มีศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุด ผู้พิพากษาได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐสภา
1.3 ที่ผ่านมา เซาตูเมและปรินซิปีประสบปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ประวัติศาสตร์ของประเทศเต็มไปด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีการเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ การเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งแต่เดิมกำหนดให้มีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2552 ก็มีความจำเป็นต้องเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านงบประมาณของประเทศ ซึ่งมีผลต่อความชอบธรรมของรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งยังสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลท้องถิ่นของเกาะปรินซิปี ซึ่งได้ขู่ว่าจะลาออกจากตำแหน่งหากไม่มีการจัดการเลือกตั้งได้ในเร็ววัน
1.4 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่จำกัดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไว้แค่ 2 สมัย ประธานาธิบดี De Menezes จะต้องลงจากตำแหน่งเมื่อวาระสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม 2553

2.เศรษฐกิจ
2.1 เศรษฐกิจของเซาตูเมและปรินซิปีขึ้นอยู่กับการเพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ โกโก้ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของประเทศ นอกจากนั้น ยังมี เนื้อมะพราวแห้ง เมล็ดปาล์ม กาแฟ อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตของประเทศไม่สามารถตอบสนองปริมาณความต้องการบริโภคของประชาชนได้ เซาตูเมและปรินซิปีจึงต้องนำเข้าอาหารเป็นจำนวนมาก และยังคงต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยในเดือนมีนาคม 2550 ธนาคารโลกและ IMF ได้ยกหนี้ให้แก่เซาตูเมและปรินซิปี จำนวน 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของหนี้ต่างชาติของประเทศ
2.2 ปัจจุบัน รัฐบาลเซาตูเมและปรินซิปีมีนโยบายส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกโกโก้ ซึ่งมักได้รับผลกระทบจากการผันแปรของผลผลิตและราคา นอกจากการเพาะปลูกแล้ว ภาคการประมงและอุตสาหกรรมขนาดย่อม อาทิ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ หนึ่งในความพยายามของรัฐบาล คือ การสำรวจทรัพยากรน้ำมันบริเวณรอบเกาะ โดยมีการจัดตั้ง Joint Development Zone ร่วมกันไนจีเรีย ปัจจุบัน บริษัท Sinopec ของจีนเป็นผู้บริษัทผู้ดำเนินกิจการรายใหญ่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว หลังจากที่ได้ลงทุนซื้อกิจการของบริษัท Addax Petroleum ในเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา
2.3 เดือนมีนาคม 2552 รัฐบาลเซาตูเมและปรินซิปีเริ่มดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามโครงการ Poverty Reduction and Growth Facility (PRGF) ของ IMF ซึ่งมุ่งพัฒนาการจัดการด้านการเงินของประเทศ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนการรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และลดอัตราเงินเฟ้อให้เหลือหนึ่งหลักภายในปี 2554 (ปัจจุบัน เซาตูเมและปรินซิปีมีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 26%)
2.4 การปฏิรูประบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการจัดการด้านการเงินของประเทศ การพัฒนาระบบธนาคารของประเทศ การปรับกฎระเบียบเกี่ยวกับจ้างงาน และการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี ทั้งนี้ เซาตูเมและปรินซิปีได้รับการจัดอันดับโดยธนาคารโลกให้เป็นประเทศที่มีบรรยากาศเหมาะแก่การลงทุนอันดับที่ 176 จากทั้งหมด 181 ประเทศ
2.5 ปัจจุบัน รัฐบาลเซาตูเมและปรินซิปีได้รับเงินจากการบริจาคในสัดส่วนประมาณ 80% ของรายได้ทั้งหมด ในปี 2552 รัฐบาลได้อัดฉีดเงินเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบเก็บภาษีของประเทศ ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล โดยเฉพาะภาษีที่ได้จากการนำเข้าน้ำมันและการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่เมือง Fernão Dias
2.6 ธนาคารกลางของเซาตูเมและปรินซิปี (Banco Central de São Tomé e Príncipe หรือ BCSTP) ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายการเงินของประเทศ มีภารกิจเร่งด่วนในการลดอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยของประเทศ รวมถึงการเพิ่มเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศ เพื่อปูทางไปสู่การผูกค่าเงินโดบรากับเงินสกุลยูโร อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ ยังไม่มีการระบุอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอน

3.นโยบายต่างประเทศ
3.1 หลังจากได้รับเอกราชในปี 2518 เซาตูเมและปรินซิปีพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศ ด้วยความใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์กับประเทศแอฟริกาที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส เซาตูเมและปรินซิปีมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับแองโกลา กาบอง และคองโก การปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามระบบเสรีนิยมในช่วงปี 2528 ทำให้ประเทศมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับชาติตะวันตก
3.2 ปัจจุบัน เซาตูเมและปรินซิปียังคงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับโปรตุเกส ซึ่งมีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่แน่นแฟ้นตั้งแต่สมัยอดีต นอกจากนี้ โปรตุเกสยังเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของเซาตูและปรินซิปี โดยเป็นแหล่งนำเข้าอาหาร ชิ้นส่วนอุตสาหกรรม เครื่องจักรและอุปกรณ์ ทั้งยังเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในภาคเศรษฐกิจที่ไม่ใช่น้ำมันในเซาตูเมและปรินซิปีอีกด้วย
3.3 ความสัมพันธ์ของเซาตูเมและปรินซิปีกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปได้ด้วยดี ศักยภาพทางเศรษฐกิจในฐานะประเทศผู้มีแหล่งทรัพยากรน้ำมันมีส่วนอย่างยิ่งในการดึงดูดให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับเซาตูเมและปรินซิปีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะไนจีเรียและแองโกลา โดยในปี 2548 เซาตูเมและไนจีเรียได้ลงนามความตกลงร่วมกันว่าด้วยการสำรวจแหล่งน้ำมันและการแบ่งสรรการผลิตกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ ซึ่งพัฒนาไปสู่การจัดตั้งพื้นที่พัฒนาร่วมกัน หรือ Joint Development Zone (JDZ) นอกจากนี้ ในปี 2550 เซาตูเมและไนจีเรียยังได้จัดตั้งกองกำลังทหารร่วมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางด้านน้ำมันร่วมกันในบริเวณอ่าวกินีด้วย
3.4 ความสัมพันธ์ระหว่างเซาตูเมและปรินซิปีกับสหรัฐอเมริกาเป็นไปได้ด้วยดี ในปี 2545 ประธานาธิบดี Menezes ประกาศแผนการจัดตั้งฐานทัพนาวิกโยธินของสหรัฐฯ ในประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการปกป้องผลประโยชน์ทางด้านน้ำมันของประเทศ
3.5 เซาตูเมและปรินซิปีได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน ในปี 2540 ตามบัญชาของประธานาธิบดีโทรวาโด และนำไปสู่การตอบโต้ของจีนโดยการระงับความสัมพันธ์ทางการทูต ที่ผ่านมา ไต้หวันให้ความช่วยเหลือทางแก่เซาตูเมและปรินซิปีมาอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม การเข้ามาลงทุนของบริษัท Sinopec ของจีน ในอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อสถานะความสัมพันธ์ดังกล่าวต่อไป

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวโปรตุเกสและแรงงานทาสจากแอฟริกาจำนวนมากได้เปลี่ยนให้เกาะเซาตูเมกลายเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลทขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของทวีปแอฟริกา และได้กลายมาเป็นแหล่งซื้อขายแรงงานทาสที่สำคัญแห่งหนึ่งของแอฟริกา ในศตวรรษที่ 16
ในช่วงศตวรรษที่ 18 เซาตูเมเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่ของโลก โดยมีกาแฟและโกโก้ได้กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ต่อมา ในปี 2494 (ค.ศ. 1951) เซาตูเมได้กลายเป็นจังหวัดหนึ่งในการปกครองของโปรตุเกส และในปี 2503 (ค.ศ. 1960) ได้มีการก่อตั้งกลุ่มนิยมชาติเพื่อเรียกร้องเอกราช หรือ Movement for the Liberation of São Tomé and Príncipe (MLSTP)
ในปี 2517 (ค.ศ. 1974) เกิดการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลเผด็จการของซัลลาซาร์และซิตาโนในโปรตุเกส รัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมาปกครองประเทศเริ่มดำเนินนโยบายปลดปล่อยประเทศในอาณานิคม โดยได้ร่วมเจรจากับกลุ่ม MLSTP จนนำไปสู่การส่งมอบอำนาจอธิปไตยคืนให้แก่เซาตูเมและปรินซิปี ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2518 (ค.ศ. 1975) โดยมีนายมานูเอล ปรินโต คอสตา (Manuel Printo da Costa) เลขาธิการของกลุ่ม MLSTP ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และนายมิเกล โทรโวดา (Miguel Trovoada) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปกครองตามระบอบสังคมนิยมและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ
ในปี 2521-2522 รัฐบาลได้รับการสนับสนุนทางทหารจากแองโกลาในความพยายามปราบปรามการก่อรัฐประหาร จนในปี 2522 นายโทรโวดาถูกจับกุมตัวโดยอ้างข้อหามีส่วนพัวพันในความพยายามก่อรัฐประหาร ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวและเนรเทศออกนอกประเทศในปี 2524
ในช่วงเศรษฐกิจโลกตกต่ำในทศวรษที่ 80 รัฐบาลเซาตูเมและปรินซิปีเริ่มถอยห่างจากประเทศคอมมิวนิสต์ ก่อนจะประกาศตนเองเป็นประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและหันไปหาการสนับสนุนทางด้านการเงินจากชาติตะวันตกเพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ
ปี 2531 มีการทำรัฐประหาร อันนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2533 ซึ่งนำไปสู่ระบบการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค และจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีไว้ที่ 2 วาระ วาระละ 5 ปี ในปีเดียวกัน นายโทรโวดากลับเข้าประเทศ
ปี 2534 มีการจัดการเลือกตั้งแบบหลายพรรคขึ้นเป็นครั้งแรก พรรค MLSTP-PSD (Movement for the Liberation of São Tomé and Príncipe - Partido Social Demócrata ซึ่งผันตัวมาจากกลุ่ม MLSTP เดิม) แพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรค PCD-GR (Partido da Convergencia Democratica - Grupo de Replexao) นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว และการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่นายโทรโวดาในฐานะผู้สมัครอิสระได้รับชัยชนะ อย่างไรก็ตาม พรรค MLSTP-PSD ได้กลับมากุมอำนาจในการปกครองอีกครั้งในปี 2537 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่รัฐสภามอบอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นปกครองตนเองให้กับเกาะปรินซิปี
การทำรัฐประหาร ในปี 2538 เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีโทรวาดา ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากฝ่ายทหารได้รับการกดดันจากประเทศผู้ให้ จนต้องคืนอำนาจให้แก่นายโทรวาดา ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อในปี 2539 เป็นสมัยที่ 2 อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2539-2540 เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศ นำไปสู่การชุมนุมประท้วง
ในปี 2541 พรรค MLSTP-PSD ชนะการเลือกตั้งทั่วไป นาย Guilherme Posser da Costa ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2544 นาย Fradique de Menesez นักธุรกิจรายใหญ่ของประเทศ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในต้นเดือนกันยายน
เดือนมีนาคม ปี 2545 พรรค MLSTP-PSD ชนะการเลือกตั้งระดับสมาชิกสภาด้วยคะแนนเสียงที่ไม่แตกต่างมากนักจากพรรคคู่แข่ง นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ประธานาธิบดี De Menezes ได้แต่งตั้งนาย Gabriel Costa ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลดังกล่าวได้ยุบไปในเดือนกันยายน และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยประธานาธิบดี De Menezes แต่งตั้งให้นาง Maria das Neves เป็นนายกรัฐมนตรี
วันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ฝ่ายทหารได้ทำการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล ประธานาธิบดี De Menezes ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนไนจีเรียได้เจรจากับฝ่ายทหารจนบรรลุข้อตกลงร่วมกัน และเดินทางกลับประเทศในสัปดาห์ต่อมา มีการประกาศนิรโทษกรรมให้แก่กลุ่มนายทหารที่ทำรัฐประหาร
เดือนกันยายน ปี 2547 ประธานาธิบดี De Menesez แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นแทนรัฐบาลของนาง Maria das Neves ซึ่งถูกขอให้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ต่อมา ในเดือนธันวาคม รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำมัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในภาคเศรษฐกิจดังกล่าว
ในเดือนพฤษภาคม 2548 นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐบาลลาออกจากตำแหน่ง นาง Maria do Carmo Silveira ประธานธนาคารกลาง เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (คนที่ 7 ในสมัยแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนาย De Menesez)
ในการเลือกตั้งระดับสมาชิกสภาในเดือนมีนาคม 2549 มีการประท้วงของประชาชนในบางพื้นที่ที่ประสบปัญหาความยากจนและสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรค Democratic Movement of Forces for Change (MDFM) ของประธานาธิบดี ได้รับชัยชนะ 23 เสียง จากทั้งหมด 55 ที่นั่งในรัฐสภา ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 นาย Patrice Trovoada ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่รัฐบาลผสมจะถูกยุบลงหลังจากการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจของรัฐสภาในเดือนพฤษภาคม

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลเศรษฐกิจปี 2551
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 202.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2551)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 917 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2551)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.5 (ปี 2551)

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเซาตูเมและปรินซิปี

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ไทยและเซาตูเมและปรินซิปีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2530 ปัจจุบัน ไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา มีเขตอาณาครอบคลุมเซาตูเมและปรินซิปี อย่างไรก็ตาม เซาตูเมและปรินซิปียังมิได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตใดมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ทั้งนี้ สถานกงสุลเซาตูเมและปรินซิปีที่ไทเป ตั้งอยู่ใกล้ประเทศไทยที่สุด
1.2 เศรษฐกิจ
ในปี 2551 ไทยและเซาตูเมและปรินซิปีมีมูลค่าการค้ารวม 1.4 แสนดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายส่งออกและได้ดุลทั้งสิ้น และไม่ปรากฏข้อมูลการนำเข้าจากเซาตูเมและปรินซิปี ทั้งนี้ มูลค่าการค้ารวมลดลงจากปี 2550 ซึ่งมีมูลค่า 4.7 แสนดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 3.3 แสนดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า1.4 แสนดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 1.9 แสนดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยไปเซาตูเมและปรินซิปี ได้แก่ ข้าว เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

2.ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ยังไม่มีการทำความตกลงใดๆ ระหว่างกัน

3.การเยือนที่สำคัญ
ไม่ปรากฏข้อมูลการเยือนระหว่างไทยกับเซาตูเมและปรินซิปี


****************************

พฤศจิกายน 2552



กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ