วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ต.ค. 2554
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สมาพันธรัฐสวิส
Swiss Confederation
ที่ตั้ง สมาพันธรัฐสวิสหรือสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งอยู่กลางทวีปยุโรป ล้อมรอบด้วยเทือกเขาแอลป์ เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ทิศเหนือ ติดกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทิศตะวันออก ติดกับออสเตรีย และลิกเตนสไตน์ ทิศใต้ ติดกับอิตาลี ทิศตะวันตก ติดกับฝรั่งเศส
พื้นที่ 41,285 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงเบิร์น (Bern)
ประชากร 7.9 ล้านคน เป็นชาวสวิสเยอรมันร้อยละ 65 สวิสฝรั่งเศสร้อยละ 18 สวิสอิตาเลียนร้อยละ 10 โรมานช์ร้อยละ 1 อื่น ๆ ร้อยละ 6
ภูมิอากาศ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความ สูงของพื้นที่ ตั้งแต่ภูมิอากาศแบบแอลป์จนถึงแบบเมดิเตอร์เรเนียน ฤดูหนาว อากาศหนาว มีฝน และ หิมะ ฤดูร้อน อบอุ่น เย็นชื้น มีฝนบางครั้ง ทางตอนใต้จะมีฝนชุก
ภาษาราชการ ภาษาราชการมี 4 ภาษา คือ เยอรมัน (ร้อยละ 64) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 19)อิตาเลียน (ร้อยละ 8) โรมานช์ (ร้อยละ 1) อื่น ๆ ร้อยละ 8
ศาสนา ประชาชนร้อยละ 48 นับถือนิกายโรมันคาธอลิก ร้อยละ 44 นับถือนิกายโปรเตสแตนท์ ร้อยละ 8 นับถือศาสนาอื่นๆหรือมิได้นับถือศาสนา
ประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน คือ ดีดีเย บวร์คฮัลเทอร์
(Didier Burkhalter)
ดีดีเย บวร์คฮัลเทอร์ (Didier Burkhalter)
ประธานาธิบดี
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสมาพันธรัฐ (confederation) ประกอบด้วย มณฑล(Canton) 26 มณฑล ในจำนวนนี้ 3 มณฑลถูกแบ่งออกเป็นกึ่งมณฑล (half-canton) 6 แห่ง ซึ่งมีอำนาจบริหารภายในของแต่ละ มณฑล ส่วนอำนาจบริหารส่วนกลางจะอยู่ที่คณะมนตรีแห่งสมาพันธ์ (Federal Council) ซึ่งเทียบเท่ากับคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยสมาชิกที่เรียกว่ามนตรีแห่งสมาพันธ์ (Federal Councillor) 7 คน มีวาระในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และใน 7 คน จะผลัดกันเป็น ประธานาธิบดีคนละ 1 ปี
นับตั้งแต่ ค.ศ.1848 สวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มใช้ระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่มีลักษณะการรวมตัวของ Canton ต่าง ๆ อยู่ภายใต้รัฐบาลกลาง เรียกว่า สมาพันธรัฐ (Confederation) สวิตเซอร์แลนด์ประกอบด้วย 26 Canton แต่ละ Canton มีรัฐธรรมนูญและ Cantonal Government ของตนเองโดยมีอิสระจากการบริหารราชการของส่วนกลาง อำนาจนิติบัญญัติของสมาพันธ์ฯ อยู่ที่รัฐสภาแห่งสมาพันธ์ (Federal Assembly) ซึ่งประกอบด้วยสภาแห่งชาติ (National Council) และสภาแห่งรัฐ (Council of States) ทั้งสองสภามีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกัน
- National Council ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงมีจำนวน 200 คน แต่ละ Canton จะมีจำนวนผู้แทนของตนมากน้อยตามจำนวนประชากร (1:34,000) แต่อย่างน้อยที่สุด แต่ละ Canton จะมีผู้แทน 1 คน
- Council of States มีจำนวนสมาชิก 46 คน โดยแต่ละ Canton มีผู้แทน 2 คน
การดำเนินงานที่สำคัญของรัฐสภาแห่งสมาพันธ์ กระทำผ่าน Standing Committees ด้านต่าง ๆ อาทิ การคลัง การต่างประเทศ เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และการวิจัย การทหาร สุขภาพและสิ่งแวดล้อม การคมนาคม พลังงาน ฯลฯ
การบริหารราชการส่วนกลาง อำนาจบริหารจะอยู่ที่คณะรัฐมนตรีเรียกว่า the Federal Council ซึ่งมีสมาชิกเรียกว่า Federal Councilor (มนตรีแห่งสมาพันธ์) มีทั้งหมด 7 คน ทำหน้าที่ควบคุมบริหารงานในหน่วยงานระดับกระทรวง 7 แห่ง รัฐสภาแห่งสมาพันธ์เป็นผู้เลือกมนตรีแห่งสมาพันธ์ มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี และในจำนวนมนตรีแห่งสมาพันธ์ทั้ง 7 คน จะได้รับเลือกจากรัฐสภาแห่งสมาพันธ์ผลัดเปลี่ยนกันครั้งละหนึ่งคน เพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี โดยมีสถานะเป็น the first among equals ดังนั้น ประธานาธิบดีสวิสจึงไม่มีการเยือนต่างประเทศในฐานะ State Visit นับตั้งแต่ ค.ศ.1959 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้แก่ นางมิเชอลีน กาลมี เรย์ (Micheline Calmy-Rey) ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554
สวิตเซอร์แลนด์ได้ปกครองและบริหารโดยพรรคการเมืองหลัก 4 พรรค ได้แก่ พรรค Radical Democratic (RDP) พรรค Social Democratic Party (SDP) พรรค Christian Democratic People's Party (CDP) และพรรค Swiss Peoples Party (SVP) ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าแต่ละพรรคจะได้รับจัดสรรตำแหน่งมนตรีของสมา พันธ์พรรคละ 2 คน ยกเว้น Swiss Peoples Party ได้ 1 คน นอกจากนั้น ผู้จะดำรงตำแหน่งมนตรีแห่งสมาพันธ์จะมาจาก Canton เดียวกันเกิน 1 คนไม่ได้ และเป็นธรรมเนียมว่าจะต้องมีผู้แทนจาก 3 Canton หลัก ได้แก่ Zurich, Berne และ Vaud แห่งละ 1 คน
ลักษณะพิเศษของระบบประชาธิปไตยแบบสวิส คือ อำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติมิได้อยู่ที่สภาแต่อยู่ที่ประชาชนโดยตรง เพราะตามรัฐธรรมนูญประชาชนมีสิทธิในการออกเสียงประชามติ (referendum) และการริเริ่ม (initiative) กล่าวคือ กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภาแห่งสมาพันธ์แล้ว จะยังไม่มีผลบังคับใช้ เป็นกฎหมาย จะต้องรอให้ครบ 90 วันเสียก่อน ในระหว่างนั้นประชาชนจะมีสิทธิคัดค้านโดยจะต้องเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 50,000 คน เพื่อให้มีการจัด referendum ส่วนอำนาจในการริเริ่มของประชาชนจะสามารถใช้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนต้องเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 100,000 คน เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติ
ด้านอำนาจตุลาการ ศาลชั้นต้นและศาลชั้นกลางจะเป็นศาลของมณฑล โดยใช้กฎหมายสมาพันธ์ร่วมด้วย และประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้พิพากษาโดยตรง แม้แต่ผู้พิพากษาสมทบก็อาจเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่ได้รับเลือกจากคนในท้องถิ่น ส่วนศาลฎีกาแห่งสมาพันธ์ (Federal Supreme Court) มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ เพื่อเน้นการแบ่งแยกอำนาจจากรัฐบาลกลางที่กรุงเบิร์น ศาลฎีกาเป็นทั้งศาลแพ่งและศาลอาญา ประกอบด้วยผู้พิพากษาประมาณ 30 คน ที่ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาแห่งสมาพันธรัฐ
วันชาติ 1 สิงหาคม ของทุกปี
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 28 พฤษภาคม 2474 (ค.ศ. 1931) ครบ 80 ปี เมื่อปี 2554
หน่วยเงินตรา 1 ฟรังก์สวิส เท่ากับ 36.8 บาท (2 พฤษภาคม 2557)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 674.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ประชาชาติต่อหัว 84,293 ดอลลาร์สหรัฐ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ1.9
สินค้านำเข้าสำคัญ อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรกลและ เคมีภัณฑ์
สินค้าส่งออกสำคัญ อัญมณี นาฬิกาและส่วนประกอบ ส่วนประกอบอากาศยาน คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
1. ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิส
1.1 ความสัมพันธ์ทางการทูต
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิสมีพัฒนาการที่ราบรื่นและใกล้ชิดเป็นพิเศษมาตลอด สืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงศึกษาและเจริญพระชนม์ที่สมาพันธรัฐสวิส อีกทั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทรา
บรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยประทับที่สมาพันธรัฐสวิสเป็นเวลานาน นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนสมาพันธรัฐสวิสอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๐๓ ส่วนในปัจจุบัน พระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จฯ/เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิสในหลายโอกาส
เมื่อปี ๒๕๔๐ ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการเสด็จประพาสสมาพันธรัฐสวิสของพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น และกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิสได้ร่วมกันจัดทำบัตรโทรศัพท์และดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือ “ร้อยปีสยาม-สวิตเซอร์แลนด์”
(Siam-Swiss Centenary: The Growth of a Friendship) เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว
เมื่อปี ๒๕๔๙ ไทยและสมาพันธรัฐสวิสได้ฉลองครบรอบ ๗๕ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทยได้จัดงาน
เลี้ยงรับรองฉลองโอกาสดังกล่าว โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ร่วมงาน และ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย และการไปรษณีย์สมาพันธรัฐสวิส ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์บัตรภาพตราไปรษณียากรด้วย
นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ได้ดำเนินโครงการจัดสร้างศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ
ณ สวนสาธารณะเดอน็องตู (Denantou) เมืองโลซานน์ เพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และการครบรอบ ๗๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ซึ่งการจัดสร้างศาลาได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯทรงเป็นประธานพิธีเปิดและมอบศาลาไทยดังกล่าวให้แก่เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๒
ในโอกาสครบรอบ ๘๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สมาพันธรัฐสวิส เมื่อปี ๒๕๕๕ สถานเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าสวิสร่วมกันจัดงาน “สยามนิทรรศน์รัชมงคล” เพื่อแสดงนิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–สมาพันธรัฐสวิส ในวันที่
๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งผู้จัดงานได้กราบทูลเชิญพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารีเพื่อทรงเป็นประธานพิธีเปิดงาน รายได้จากการจัดกิจกรรมหักค่าใช้จ่ายจะทูลเกล้าฯ ถวาย
เพื่อไปสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดลต่อไป ส่วนฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์นเป็นผู้จัดกิจกรรมฉลองวาระดังกล่าว สมาพันธรัฐสวิสได้ให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูหมู่บ้าน ๓ แห่ง ที่จังหวัดพังงา ซึ่งประสบภัยสึนามิ เมื่อปี ๒๕๔๘ โดยเป็นการบูรณะโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งจัดหาเครื่องมือประกอบอาชีพให้แก่หมู่บ้านดังกล่าว และล่าสุด สมาพันธรัฐสวิส ได้บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในประเทศไทย จำนวน ๑ ล้านบาท ผ่านสภากาชาดไทย รวมถึงส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๔ คน มาบรรเทาปัญหาอุทกภัยในประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๒-๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ โดยรัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ปัจจุบัน มีนายเฉลิมพล ทันจิตต์ เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น มีเขตอาณาดูแลนครรัฐวาติกันและ
ราชรัฐลิกเตนสไตน์ (เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๕) โดยไทยได้จัดตั้งสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่นคร
ซูริกและเมืองบาเซล ในขณะที่ฝ่ายสวิส มีนางคริสทินเน่อ ชราเน่อ บูรเกเนอร์ (Christine Schraner Burgener) เป็นเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย (เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๒) และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภูเก็ต ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้เยือนสมาพันธรัฐสวิสอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ ๘ – ๑๐ กันยายน ๒๕๕๖
1.2 ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่าง ไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ และโดยที่
สวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจึงไม่มีท่าทีที่แข็ง กร้าวต่อการปฏิรูปการเมืองของไทยเมื่อเดือนกันยายน 2549 โดยสวิตเซอร์แลนด์มิได้กล่าวประณามหรือวิพากษ์วิจารณ์การปฏิรูปการเมืองของ ไทย เพียงแต่ได้แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น และแสดงความหวังว่า สิทธิมนุษยชนจะไม่ถูกละเมิด ตลอดจนข้อผูกพันระหว่างประเทศจะยังคงได้รับการเคารพปฏิบัติต่อไป และหวังว่าการเมืองไทยจะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว นอกจากนี้ ไทยและสวิตเซอร์แลนด์มีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีในกรอบความร่วมมือ ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น UNESCO UNIDO WHO FAO ILO กาชาดสากล รวมทั้งในด้านการกำจัดทุ่นระเบิด เครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Network) การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน
1.3 ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง
ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามสนธิสัญญาว่า ด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิด เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 และอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา และสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยฝ่ายไทยประสงค์จะให้ร่างพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ก่อนเริ่มเจรจา
สวิตเซอร์แลนด์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานมาประจำที่สถานเอกอัครราชทูต สวิสเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะในเรื่องปัญหายาเสพติด การลักลอบขนส่งและค้ามนุษย์ รวมทั้งความร่วมมือทางอาญา
1.4 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
1.4.1 การค้า
สมาพันธรัฐสวิสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 13 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ส่วนประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของสมาพันธรัฐสวิสในกลุ่มอาเซียนรอง จากสิงคโปร์ สมาพันธรัฐสวิสได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรแก่ไทยตั้งแต่ปี 2525 ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคที่ไทยส่งออกไปยังสมาพันธรัฐสวิสเกือบทั้งหมด รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น รองเท้า สิ่งทอ ได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรกรือถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำ ขณะเดียวกัน มีการจัดตั้ง หอการค้าสมาพันธรัฐสวิส-ไทย ขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2535 และสมาพันธรัฐสวิสจัดตั้งหอการค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นที่นครซูริก เมื่อปี 2537
การค้ารวม การค้าในปี 2556 มีมูลค่า 10,684 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2555
ร้อยละ 22 โดยไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า 7,706 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออก ในปี 2556 การส่งออกของไทยไปสมาพันธรัฐสวิสมีมูลค่า 1,488.9
ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (สมาพันธรัฐสวิสเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ 7 ของไทย รองจากสหรัฐฯ ฮ่องกง อิสราเอล ออสเตรเลีย เบลเยียม และสหราชอาณาจักร) นาฬิกาและส่วนประกอบ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และสิ่งทอ
การนำเข้า ในปี 2556 นำเข้า 9,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ แผงวงจรไฟฟ้า ธุรกรรมพิเศษ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์
1.4.2 การลงทุน
ชาวสวิสเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2409 และได้ก่อตั้งบริษัท Jucker, Sigg & Co. ขึ้นในปี 2425 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Berli Jucker ปัจจุบันมีบริษัทสวิสกว่า 150 บริษัท เข้ามาลงทุนในไทย โดยมีบริษัทชั้นนำหลายบริษัท อาทิ Diethelm Keller (ธุรกิจท่องเที่ยว) ETA (Swatch Group - ผลิตชิ้นส่วนนาฬิกา) Nestlé (อุตสาหกรรมอาหาร) Holcim (ปูนซีเมนต์นครหลวง) Roche และ Novartis (ยาและเวชภัณฑ์) ABB (ผลิตเครื่องจักรให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) เป็นต้น จนถึงปัจจุบัน สมาพันธรัฐสวิสลงทุนในไทยผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มากกว่า 150 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 1,430
ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนของสวิสในช่วง 3ไตรมาสแรกของปี 2556 มีมูลค่า 8,614 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI 6 โครงการ รวมมูลค่า 5,123 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะ เซรามิค ชิ้นส่วนนาฬิกา อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และการบริการ
1.5 การท่องเที่ยว
นับตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวสวิสที่เดินทางมาไทยมีอัตราการเติบโตในเกณฑ์ที่ดีมาโดยตลอด ยกเว้นในปี 2540 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสวิสเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ใช้เวลาพำนักอยู่ในระยะยาว และนำรายได้จำนวนมากเข้าประเทศไทย (ประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท) จำนวนนักท่องเที่ยวสวิสจัดอยู่ในอันดับที่ 8 ของจำนวนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศยุโรป และในแง่แหล่งท่องเที่ยวระยะไกลจากสมาพันธรัฐสวิส (long distance destination) ประเทศไทยได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ในปี 2556 มีนักท่องเที่ยวสวิสเดินทางมาไทยจำนวน 199,223 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 4 ทั้งนี้ การบินไทย มีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ กับนครซูริกทุกวัน และสายการบิน Swiss International Airlines มีเที่ยวบิน ซูริก-กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ จำนวน 6 เที่ยวบิน/สัปดาห์
ปรับปรุงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557
กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5142 Fax. 0 2643 5141 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **