แคนาดา
Canada
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ทางเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ และทางตะวันออกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทางตะวันตกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ทางเหนือติดกับมหาสมุทรอาร์คติก และทางใต้ติดกับประเทศสหรัฐอเมริกา
พื้นที่ 9,976,140 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
เมืองหลวง กรุงออตตาวา (Ottawa)
เมืองสำคัญ โทรอนโต(Toronto) มอนทรีออล(Montreal) แวนคูเวอร์ (Vancouver) ควิเบก ซิตี้ (Quebec City) แฮลิแฟ็กซ์ (Halifax) วินนิเป็ก (Winnipeg) เอ็ดมันตัน (Edmonton)
ภูมิอากาศ ภาคพื้นทวีป (มีหิมะในฤดูหนาว และอบอุ่นในฤดูร้อน)
ประชากร 34,083,000 ล้านคน (ปี 2553)
ภาษา อังกฤษและฝรั่งเศส
ศาสนา โรมันคาธอลิก (ร้อยละ 42.6) โปรแตสแตนท์ (ร้อยละ 23.3) อิสเทอร์นออโธดอกซ์ และยิว (ร้อยละ 18)
อิสลามและพุทธศาสนามีอัตราเพิ่มค่อนข้างรวดเร็ว เนื่องจากนโยบายการรับคนนอกประเทศมาตั้งถิ่นฐาน
หน่วยเงินตรา เหรียญแคนาดา (1 CAD ประมาณ 30.40 บาท) (22 กรกฎาคม 2553)
ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 1,600 พันล้านเหรียญแคนาดา (ประมาณการ 2553)
รายได้เฉลี่ยต่อหัว 41,967 เหรียญแคนาดา (ประมาณการ 2553)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 0.4 (ประมาณการ 2553)
วันชาติ 1 กรกฎาคม
ระบอบการเมือง ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy)
ระบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสมาพันธรัฐ (Confederation) แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 มณฑล (Province) และ 3 เขตปกครองพิเศษ (Territory) โดยแต่ละมณฑลมีมุขมนตรี (Premier) เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย
1. Alberta
2. British Columbia
3. Manitoba
4. New Brunswick
5. Newfoundland and Labrador
6. Northwest Territories
7. Nova Scotia
8. Nunavut
9. Ontario
10. Prince Edward Island
11. Quebec
12. Saskatchewan
13. Yukon Territory
ประมุข สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยมีนายเดวิด จอห์นสตัน (The Right Honourable David Johnston) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
นายกรัฐมนตรี นาย Stephen J. Harper (The Right Honourable Stephen J. Harper)
คณะรัฐมนตรีแคนาดาในปัจจุบัน
1.) นาย Robert Douglas Nicholson, Minister of Justice and Attorney General of Canada
2.) นาย Peter Gordon MacKay, Minister of National Defence
3.) นาย James Michael Flaherty, Minister of Finance
4.) นาย Tony Clement, President of the Treasury Board and Minister for the Federal Economic Development
5.) นาง Beverley J. Oda, Minister of International Cooperation
6.) นาย Denis Lebel, Minister of Transport, Infrastructure, and Communities and Minister of the Economic
7.) นาย John Baird, Minister of Foreign Affairs
8.) นาง Lisa Raitt, Minister of Labour
9.) นาง Leona Aglukkaq, Minister of Health and Minister of the Canadian Northern Economic Development Agency
10. นาย Ed Fast, Minister of International Trade
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองแคนาดาฝั่งตะวันออกในปี ค.ศ.1534 และได้เริ่มตั้งถิ่นฐานในปี ค.ศ.1604 ปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1713 อันเนื่องจากเหตุผลด้านการประมงและการค้าขนสัตว์ ซึ่งในที่สุดดินแดนแคนาดาตกเป็นของอังกฤษ ปี ค.ศ.1849 แคนาดาได้รับการยอมรับในสิทธิการปกครองตนเอง และต่อมาปี ค.ศ.1867 ได้มีการจัดตั้ง Dominion of Canada ในลักษณะของสมาพันธรัฐซึ่งประกอบด้วย Upper และ Lower Canada (มณฑล Ontario, Quebec, Nova Scotia และ New Brunswick ในปัจจุบัน) และต่อมาได้ขยายออกไปยังมณฑลภาคตะวันตกจนถึงมณฑล British Columbia ปี ค.ศ.1931 แคนาดาได้รับสถานะเป็นประเทศที่เท่าเทียมกับอังกฤษโดยมีกษัตริย์อังกฤษเป็นพระประมุข และต่อมาในปี ค.ศ.1949 มณฑล New Foundland and Labrador เข้าร่วมเป็นมณฑลที่สิบของแคนาดา
การเมืองการปกครอง
นโยบายทางการเมืองการปกครองของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
มีพรรคการเมืองหลักที่สำคัญ ได้แก่ พรรค Liberal แนวเสรีนิยมสายกลาง ซึ่งนายไมเคิล แกรนท์ อิกนาเทียฟ (Michael Grant Ignatieff) เป็นหัวหน้าพรรค และพรรค Conservative ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของพรรค Progressive Conservative และพรรค Canadian Alliance ซึ่งนายสตีเวน ฮาร์เปอร์ (Stephen J. Harper) เป็นหัวหน้าพรรค และปัจจุบันพรรค Conservative เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยนายฮาร์เปอร์เป็นนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบันนายฮาร์เปอร์หัวหน้าพรรค Conservative ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแคนาดาสมัยที่ 3 โดยพรรค Conservative จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 พรรค Conservative ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดจำนวน 167 ที่นั่ง จากทั้งหมด 308 ที่นั่ง พรรค New Democrat (NDP) ได้ 102 ที่นั่ง ส่วนพรรค Liberal ได้ 34 ที่นั่ง พรรค Bloc Québécois ได้ 1 ที่นั่ง และอีก 1 ที่นั่งเป็นผู้สมัครพรรค Green Party
รัฐบาล Conservative ภายใต้การนำของนายฮาร์เปอร์ ให้ความสำคัญในการลดอัตราภาษี การต่อสู้อาชญากรรมโดยเฉพาะปัญหาการลักลอบขนคนข้ามชาติ และนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจการค้า
นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
แคนาดามีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 11 ของโลก พึ่งพิงการค้ากับต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการค้าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศร้อยละ 45 สำหรับการส่งออก และร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้า โดยพึ่งพิงการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ เป็นหลัก และข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement - NAFTA) ช่วยเสริมมูลค่าการค้าแคนาดา-สหรัฐฯ ให้มากยิ่งขึ้น
ภาคธุรกิจบริการของแคนาดามีสัดส่วนร้อยละ 60 ของภาคเศรษฐกิจ โดยรวมแคนาดาเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมมาเสริมการประกอบธุรกิจธนาคาร ธนาคารชั้นนำของแคนาดา 6 แห่งเป็น 1 ใน 100 ธนาคารชั้นนำของโลก และมีสาขาในต่างประเทศรวมถึงธนาคาร Nova Scotia ซึ่งมีสาขาอยู่ในประเทศไทย
ภาคการลงทุนส่วนใหญ่เปิดรับจากต่างชาติในทุกกิจการยกเว้นประมง (เฉพาะชาวแคนาดาเท่านั้น) และการขนส่งทางอากาศ (ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 25) โดยนอกจากความได้เปรียบด้านคุณภาพแรงงานที่มีความรู้และมีอัตราการว่างงานต่ำมากแล้ว รัฐบาลแคนาดาชุดปัจจุบันให้สิทธิประโยชน์ต่อการลงทุนในกิจการวิจัยและพัฒนาเพื่อชักจูงการลงทุนจากต่างชาติ ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับเทคโนโลยีเพื่อรองรับกับความต้องการของต่างชาติ ทั้งนี้ สหรัฐฯ เข้าไปลงทุนในแคนาดาเป็นอันดับ 1 ในกิจการพลังงานและเหมืองแร่ อย่างไรก็ดี แคนาดาลงทุนในต่างประเทศมากกว่าที่ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นที่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเป็นหลัก
อนึ่ง รัฐบาลแคนาดาชุดปัจจุบันตระหนักถึงความสำคัญของการขยายความร่วมมือทางการค้ากับเอเชีย นายฮาร์เปอร์ได้ริเริ่มเรื่อง Canadas Asia Pacific Gateway and Corridor Initiative เพื่อปรับโครงสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างแคนาดากับเอเชีย โดยเน้นการเพิ่มมูลค่าการค้าโดยเฉพาะกับจีนและประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจของเอเชีย และเพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของแคนาดาเพื่อให้เป็นลู่ทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการนำเข้าและกระจายสินค้าจากเอเชียเข้าสู่พื้นที่ภาคพื้นทวีปของภูมิภาคอเมริกาเหนือ
ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ทำให้รายได้จากการส่งออกของแคนาดาลดลงอย่างมาก จึงทำให้รัฐบาลแคนาดาให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ โดยจัดทำแผนเศรษฐกิจ 4 ประการ ได้แก่ 1) การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบการเงิน 2) การสนับสนุนชุมชนและครอบครัว 3) การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างงานและเร่งรัดการลงทุน ซึ่งรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณจำนวน 7.8 พันล้านเหรียญแคนาดา เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยและให้สินเชื่อแก่ผู้ซื้อบ้านเป็นครั้งแรก และ 4) สร้างความยั่งยืนให้กับความเข้มแข็งด้านการคลังของประเทศ
สังคม
สังคมของแคนาดาเป็นสังคมที่มีส่วนผสมของชนชาติต่างๆ มากมาย โดยชนชาติที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากที่สุด ระหว่างปี ค.ศ. 1991-2000 คือคนจากเอเชีย (จีน อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อิหร่าน) ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 59.5 ของคนเข้าเมืองเพื่อตั้งถิ่นฐานในแคนาดา โดยในปี ค.ศ. 1962 รัฐสภาแคนาดาได้ออกกฎหมายคนเข้าเมืองตามข้อเสนอของพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้จนทุกวันนี้ สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวคือการยกเลิกการเลือกประติบัติ (ก่อนหน้านี้มีการออกกฎหมายปี ค.ศ. 1887 เพื่อกีดกันการเข้าเมืองของคนจีน และต่อมาปี ค.ศ. 1910 ได้ออกกฎหมายที่ใช้หลักการแหล่งกำเนิด แบ่งเป็น preferred ซึ่งคือ กลุ่มคนยุโรป และ non-preferred ได้แก่ กลุ่มที่ไม่ใช่ยุโรป) กล่าวคือ การเปิดรับคนเข้าเมืองจากทุกที่อย่างเป็นทางการทั่วไป และการใช้วิธีการคิดคะแนนประเมินน้ำหนัก (point system) ว่าสมควรรับผู้ใดเข้าไปตั้งถิ่นฐานในแคนาดา ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า แคนาดามองเรื่องการรับคนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอย่างเป็นการถาวร เพื่อเป็นฐานการเก็บภาษีให้แก่รัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑลของแคนาดา
ค่านิยมหลักของสังคมแคนาดาที่ฝังลึกในทุกคนคือการส่งเสริมและเคารพในสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สังคมแคนาดาจะสนใจอย่างยิ่งต่อพัฒนาการในประเทศที่มีระบอบการปกครองที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ปัจจุบันมีคนไทยในแคนาดาประมาณ 10,000 คน โดยเฉพาะนครแวนคูเวอร์ มณฑลบริติชโคลัมเบีย
นครโทรอนโต และกรุงออตตาวา มลฑลออนแทรีโอ (ประมาณ 3,550 คน) คนไทยส่วนใหญ่ประกอบกิจการ ร้านอาหารไทย (ประมาณ 225 ร้าน) มีวัดไทย 7 แห่ง และสมาคมไทย 5 แห่ง
นโยบายต่างประเทศ
รัฐบาลแคนาดาให้ความสำคัญสูงสุดกับการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ โดยคำนึงถึงการที่สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 และการที่สหรัฐฯ มีส่วนสำคัญในการป้องกันและป้องปรามปัญหาการก่อการร้ายที่อาจแทรกซึมเข้าสู่แคนาดาที่มีพรมแดนติดกับสหรัฐฯ ยาวถึง 9,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ แคนาดาเป็น 1 ใน 41 ประเทศที่ร่วมรบในอัฟกานิสถาน โดยมีกำลังทหาร 2,830 นาย อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีแคนาดาได้ประกาศเมื่อต้นปี 2553 ว่า กองกำลังทหารแคนาดาจะถอนออกจากอัฟกานิสถานอย่างแน่นอนในปลายปี 2554 โดยจะไม่มีทหารแคนาดาเหลืออยู่ในอัฟกานิสถานไม่ว่าจะเป็นในสถานะ non-combat หรือประจำการอยู่ในที่ที่ไม่มีการสู้รบอื่นใด แต่แคนาดาจะยังคงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการพัฒนา
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับแคนาดา
สถานะความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-แคนาดา
ความสัมพันธ์ด้านการเมืองและความมั่นคง
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-แคนาดาราบรื่น เป็นมิตร มีการส่งเสริมความร่วมมือทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีให้ดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อกัน นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2504 (จะครบ 50 ปี ในปี 2554) และเมื่อปี 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนแคนาดาอย่างเป็นทางการ
ความสัมพันธ์ไทย-แคนาดาหยุดชะงักลงชั่วคราวภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปี 2549 แต่กลับมาเป็นปกติภายหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
กระทรวงการต่างประเทศของแคนาดาได้กล่าวถึงความสำคัญที่รัฐบาลแคนาดาให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่กับรัฐบาลไทยในการรักษาและปกป้องสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นับตั้งแต่นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เยือนแคนาดาระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึง 5 ตุลาคม 2537 ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีไทยไปเยือนแคนาดา
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน
ปริมาณการค้าระหว่างประเทศรวมของไทยกับแคนาดามีมูลค่า 1,985.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นร้อยละ 0.74 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย แคนาดาเป็น ตลาดส่งออกอันดับที่ 26 ของไทย และไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 19 ของแคนาดา มีสัดส่วนแบ่งในตลาดร้อยละ 0.60 ไทยส่งออกไปแคนาดามีมูลค่า 1,311.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.82 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย และนำเข้าจากแคนาดามีมูลค่า 673.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.64 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของไทย
เมื่อ 12 มี.ค. 2553 ธนาคารธนชาติซึ่ง Bank of Nova Scotia ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 49 ได้ประกาศการควบกิจการกับธนาคารนครหลวงไทยด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นร้อยละ 48 การควบกิจการดังกล่าวถือว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับ Bank of Nova Scotia ในเอเชีย โดยธนาคารธนชาติจะกลายเป็นธนาคารใหญ่ลำดับ 5 ของไทย ซึ่งมี 660 สาขาและมีพนักงานถึง 18,000 คน ทั้งนี้ เป็นการสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่สนับสนุนการควบกิจการภายในประเทศ โดยการเข้าซื้อธนาคารนครหลวงไทยครั้งนี้ทำให้ Bank of Nova Scotia เคลื่อนย้ายทุนเข้ามาในไทย 650 ล้านดอลลาร์แคนาดา ซึ่งเป็นเงินทุนที่นอกเหนือจากการลงทุนจำนวน 550 ล้านดอลลาร์แคนาดาในธนาคารธนชาติก่อนหน้านี้
ปัจจุบันมีชาวแคนาดาเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 110,000 คนต่อปี และมีชาวแคนาดาอาศัยอยู่ในเมืองไทยประมาณ 5,000 คน ส่วนความสัมพันธ์ด้านการศึกษา วิจัย และแลกเปลี่ยนความรู้ สถาบันการศึกษาในแคนาดาได้มีข้อตกลงร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ความสัมพันธ์ทั่วไป
การทูต
ไทยและแคนาดาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมาเป็นเวลา 50 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2504 และเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา มีเขตอาณาครอบคลุมเกรนาดา ตรินิแดดและโตเบโก โดยเอกอัครราชทูตไทยคนปัจจุบันคือ นายอุดมผล นินนาท ซึ่งเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 รวมทั้งตั้งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแวนคูเวอร์ โดยมีนายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่เพื่อดูแลมณฑลด้านตะวันตกของแคนาดา สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย มีเขตอาณาครอบคลุมลาว กัมพูชา และพม่า โดยเอกอัครราชทูตแคนาดาคนปัจจุบันคือ นายรอน ฮอฟฟ์มันน์ (Ron Hoffmann) ซึ่งเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552 ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-แคนาดาจะครบรอบ 50 ปีในปี 2554
เศรษฐกิจ
ไทยกับแคนาดายังมีการค้าบริการระหว่างกันน้อยมาก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.19% ของมูลค่าการค้าบริการระหว่างประเทศทั้งหมดของแคนาดา โดย บริการสำคัญที่ไทยนำเข้าจากแคนาดา ได้แก่ บริการเพื่อการพาณิชย์ (เช่น บริการวิชาชีพ และค่าสิทธิ) และบริการที่ไทยส่งออกไปแคนาดา ได้แก่ การเดินทางท่องเที่ยว (โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุล โดยนักท่องเที่ยวแคนาดามาพำนักในไทยประมาณ 120,000 คน /ปี และจะใช้จ่ายคราวละประมาณ 49,000 บาท และจัดเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ)
การค้า
มูลค่าการค้าระหว่างไทย-แคนาดามีมูลค่ารวม 1,985.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกของแคนาดามาไทยมีมูลค่า 673.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมีมูลค่า 1,311.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกไทยไปแคนาดาที่มีมูลค่าสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2.อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 3.ข้าว 4.ยางพารา 5.กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง 6.เสื้อผ้าสำเร็จรูป 7.ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 8.เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ 9.เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 10.ผลิตภัณฑ์ยาง สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากแคนาดาที่มีมูลค่าสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 2.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ 3.ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 4.แผงวงจรไฟฟ้า 5. พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช 6.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
7.สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ 8.เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 9.เคมีภัณฑ์ 10.ถ่านหิน
การลงทุน
การลงทุนของแคนาดาในไทยมีไม่มากนัก ประเทศที่นักลงทุนแคนาดาสนใจเข้าไปลงทุนได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฮ่องกงตามลำดับ แคนาดาเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านชีวภาพและบริการด้านการแพทย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในการยกระดับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และเพิ่มความเข้มแข็งในการแข่งขันในตลาดโลกได้หากมีความร่วมมือในด้านการลงทุนมากขึ้น
เมื่อ 12 มี.ค. 2553 ธนาคารธนชาติซึ่ง Bank of Nova Scotia ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 49 ได้ประกาศการควบกิจการกับธนาคารนครหลวงไทยด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นร้อยละ 48 การควบกิจการดังกล่าวถือว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับ Bank of Nova Scotia ในเอเชีย โดยธนาคารธนชาติจะกลายเป็นธนาคารใหญ่ลำดับ 5 ของไทย ซึ่งมี 660 สาขาและมีพนักงานถึง 18,000 คน ทั้งนี้ เป็นการสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่สนับสนุนการควบกิจการภายในประเทศ โดยการเข้าซื้อธนาคารนครหลวงไทยครั้งนี้ทำให้ Bank of Nova Scotia เคลื่อนย้ายทุนเข้ามาในไทย 650 ล้านดอลลาร์แคนาดา ซึ่งเป็นเงินทุนที่นอกเหนือจากการลงทุนจำนวน 550 ล้านดอลลาร์แคนาดาในธนาคารธนชาติก่อนหน้านี้
บริษัท Canadoil ซึ่งผลิตท่อส่งน้ำมันและก๊าซ และได้จัดตั้งโรงงานที่ จ.ระยอง ตั้งแต่ปี 2543 จะลงทุนเพิ่มในประเทศไทย โดยโครงการของบริษัท Canadoil ที่จะตั้งโรงงานผลิตเหล็กที่ จ.ระยอง มีมูลค่า 21.99 พันล้านบาทและมีความสามารถในการผลิตเหล็ก 1.5 ล้านตันต่อปี ได้รับสิทธิพิเศษจาก BOI เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 การลงทุนของบริษัท Canadoil จะสร้างงานให้คนไทยราว 1,000 ตำแหน่ง และจะมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างช่วงการก่อสร้างโรงงานประมาณ 14.5 พันล้านบาท
กงสุลกิตติมศักดิ์
กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในแคนาดา
1. Mr. Louis P. Desmarais
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครมอนทรีออล (มณฑลควิเบก)
2. Mr.Richard C. Meech
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครโทรอนโต (มณฑลออนแทรีโอ)
3. Mr. John R. Lacey
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครแคลการี (มณฑลอัลเบอร์ตา)
4. Mr. Dennis L. Anderson
กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ นครเอ็ดมันตัน (มณฑลอัลเบอร์ตา)
5. Mr. Dennis G. Laliberte
รองกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ นครเอ็ดมันตัน (มณฑลอัลเบอร์ตา)
กงสุลกิตติมศักดิ์แคนาดาในไทย
นายนิตย์ วังวิวัฒน์ กงสุลกิตติมศักดิ์แคนาดาประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1994 นายนิตย์ฯ เป็นเจ้าของบริษัท Chiangmai Thai-Canadian Venture และเป็นประธานสมาคมผู้ผลิตชาแห่งประเทศไทย
ความตกลงเมืองพี่เมืองน้องกับแคนาดา (ที่ลงนามแล้ว)
- เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี-เมือง Courtenay 8 กรกฎาคม 2537
- เทศบาลนครเชียงใหม่-เมืองโอซาวา นครโทรอนโต 7 พฤศจิกายน 2540
ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
- ความตกลงด้านการพาณิชย์ (Exchange of Notes on Commerce) ลงนามเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2512
- ความตกลงประกันภัยการลงทุนต่างประเทศ (Exchange of Notes Constituting an Agreement Relating to Canadian Investment Insurance Agreement) ลงนามเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2526
- อนุสัญญาว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อน (Convention for the Avoidance of Double Taxation) ลงนามเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2528
- ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทยกับแคนาดา ลงนามเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2532
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-แคนาดา (Agreement of Economic Cooperation between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of Canada) ลงนามเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2531 โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจไทย-แคนาดา เมื่อเดือนมิถุนายน 2539
- ข้อตกลงทวิภาคีสิ่งทอเพื่อควบคุมปริมาณการส่งออกสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอไปแคนาดา
ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 ได้ถูกผนวกเข้ากับความตกลงว่าด้วยสิ่งทอและเสื้อผ้าภายใต้ WTO (Agreement on Textile and Clothing : ATC) และกำหนดยกเลิกโควตาภายใน 10 ปี
- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ลงนามเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2540
- ความตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมกันในเรื่องการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ และระบบควบคุม (Mutual Recognition Agreement on the Equivalence of Fish Inspection and Control System : MRA) ลงนามเมื่อวันที่ 9เมษายน 2540
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสิ่งแวดล้อมแคนาดา ลงนามเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2540
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ ลงนามเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2540
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วย CIDA Regional Project Southeast Asia Fund for Institutional and Legal Development ลงนามเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543
********************************
กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
29 พฤศจิกายน 2554
กองอเมริกาเหนือ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5000 ต่อ 13023 Fax. 0-2643-5124