สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน

สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,821 view


สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน
Republic of Sierra Leone

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับสาธารณรัฐกินี ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับประเทศไลบีเรีย ทิศตะวันตกและทิศใต้ติดมหาสมุทรแอตแลนติก

พื้นที่ 71,740 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงฟรีทาวน์ (Free Town)

ประชากร 5.56 ล้านคน (ปี 2551) ประกอบด้วยชนเผ่า Temne ร้อยละ 30 Mende ร้อยละ 30 Creole (Krio) ซึ่งอดีตเป็นทาสชาวจาเมกา ร้อยละ 10 นอกจากนี้ ยังมีชาวเลบานอน ปากีสถาน ยุโรป และชาวไลบีเรียที่อพยพมาช่วงสงคราม

ภูมิอากาศ อยู่ในเขตร้อนชื้น หน้าร้อนและมีฝนตกในช่วงเดือนพฤษภาคม ธันวาคม หน้าหนาวและแห้งในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน

ภาษาราชการ ภาษาอังกฤษ

ศาสนา อิสลามร้อยละ 60 ความเชื่อดั้งเดิมร้อยละ 30 คริสต์ร้อยละ 10

หน่วยเงินตรา Sierra Leone Leones (SLL) อัตราแลกเปลี่ยน 1 SLL ประมาณ 0.008 บาท หรือ 1 บาท เท่ากับ 125 SLL (ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2552)

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นาย Ernest Bai Koroma (ตั้งแต่ 17 กันยายน 2550)
ฝ่ายบริหาร อยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภา รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นาย Samuel Sumana และรัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันคือ นาง Zainab Hawa Bangura
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาจำนวน 124 ที่นั่ง โดยมาจากการเลือกตั้ง 112 ที่นั่ง และอีก 12 ที่นั่งเป็นของหัวหน้าเขตปกครอง ซึ่งมาจากการเลือกตั้งอีกคราวหนึ่ง และทั้งหมดมีวาระ 5 ปี
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลสูงสุด ศาลอุทธรณ์ และศาลสูง

 

 

การเมืองการปกครอง

1. การเมืองการปกครอง
1.1 ในอดีตอังกฤษได้จัดตั้งเมืองแห่งสันติภาพบนดินแดนเซียร์ราลีโอนเมื่อปี 2330 (ค.ศ.1787) เพื่อเป็นพื้นที่อพยพของอดีตทาสผิวดำและทหารผ่านศึกของอังกฤษจากสงครามประกาศอิสรภาพในสหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี 2350 (ค.ศ.1987) เซียร์ราลีโอนตกเป็นอาณานิคมและเป็นฐานทัพเรือของอังกฤษในการปราบปรามการค้าทาส ซึ่งทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในกรุง Freetown สืบเชื้อสายมาจากทาสที่ได้รับการปลดปล่อยก่อนที่จะถูกส่งไปยังสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาจากไนจีเรียและแองโกลา

1.2 เซียร์ราลีโอนได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 27 เมษายน 2504 (ค.ศ.1961) ต่อมาได้เริ่มปกครองในระบอบสาธารณรัฐตั้งแต่ 19 เมษายน 2514 (ค.ศ.1971) โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและผู้นำรัฐบาลด้วย และจากนั้นจนปัจจุบัน เซียร์ราลีโอนมีการเลือกตั้งทั่วไป 6 ครั้ง และการปฏิวัติโดยทหารอีก 5 ครั้ง โดยสาเหตุของความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเพราะการแก่งแย่งผลประโยชน์จากเหมืองเพชรมากกว่าจากความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์ (ethnic rivalry)

1.3 ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Siaka Stevens ระหว่างปี 2511-2528 (ค.ศ.1968-1985) การปกครองเป็นแบบพรรคการเมืองเดียว โดยรัฐบาลได้แสวงหาประโยชน์จากการทำเหมืองเพชรที่มีอยู่มาก อย่างไรก็ดี ปัญหาการคอรัปชั่น การแสวงหาประโยชน์ และการบังคับใช้แรงงานในเหมืองเพชร ได้ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองในเซียร์ราลีโอนเมื่อมีนาคม 2534 (ค.ศ.1991) กลุ่มเยาวชนหัวรุนแรงและผู้ถูกบังคับใช้แรงงานในเหมืองเพชร ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มกบฏ RUF (Revolutionary United Front) โดยได้รับการสนับสนุนจากนาย Charles Taylor ประธานาธิบดีไลบีเรียในขณะนั้น (ปัจจุบัน นาย Charles Taylor ต้องขึ้นศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ICC) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในคดีให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏดังกล่าวด้วย)

1.4 กลุ่ม RUF ได้ทำการสู้รบต่อต้านรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายทหาร (Armed Forces Revolutionary Council – AFRC) และฝ่ายรัฐบาลพลเรือน (Sierra Leone People’s Party - SLPP) ซึ่งจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธจนเกิดเป็นการสู้รบสามเส้ายืดเยื้อยาวนาน มีผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 คน นานาชาติได้พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสงครามกลางเมือง โดยในปี 2541 กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West African States: ECOWAS) ได้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ Economic of West African States Cease-fire Monitoring Group (ECOMOG) นำโดยกองกำลังไนจีเรียไปยังเซียร์ราลีโอนเพื่อปฏิบัติการรักษาสันติภาพแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 2542 สหประชาชาติได้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ United Nation Mission in Sierra Leone (UNAMSIL) เข้าปฏิบัติการรักษาสันติภาพจนส่งผลให้สงครามกลางเมืองยุติลงในปี 2544 (ค.ศ.2001) มีผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 คน และมีผู้พลัดถิ่นอีกหลายแสนคน ต่อมามีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2545 (ค.ศ.2002) โดยนาย Ahmad Tejan Kabbah ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงปี 2539-2540 (ค.ศ.1996-1997) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงกว่าร้อยละ 70 เอาชนะคู่แข่งคือนาย Ernest Bai Koroma ซึ่งได้คะแนนเพียงร้อยละ 19

1.5 ปัจจุบัน แม้ว่าเซียร์ราลีโอนจะพ้นจากภาวะสงครามกลางเมือง แต่สหประชาชาติยังคงจัดตั้งหน่วยงาน United Nations Integrated Office in Sierra Leone (UNIOSIL) เพื่อปฏิบัติหน้าที่การบูรณาการด้านต่างๆ ในเซียร์ราลีโอน รวมทั้งจัดตั้งศาลพิเศษสำหรับเซียร์ราลีโอน เพื่อควบคุมการส่งออกเพชรจากเซียร์ราลีโอน (Kimberly Process) และเพื่อป้องกันการส่งออกเพชรผิดกฎหมายและนำเงินมาสนับสนุนสงคราม

1.6 ในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 พรรค All People’s Congress (APC) ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 53 และนาย Ernest Bai Koroma ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค APC ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ด้วยคะแนนเสียงกว่าร้อยละ 55 ทั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายการปฏิรูปอย่างเต็มรูปแบบของพรรค APC อาทิ การพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐบาล การปราบปรามคอรัปชั่น การรื้อฟื้นคณะกรรมการปราบปรามคอรัปชั่น รวมถึงการการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจโดยสันติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังยุคอาณานิคมของเซียร์ราลีโอน

1.7 ในระหว่างการประชุม UNGA’64 ประธานาธิบดี Koroma ได้กล่าวถึงแนวนโยบายของรัฐบาลเซียร์ราลีโอนที่ให้ความสำคัญด้านการเกษตร พลังงาน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการปฏิรูปการศึกษาและสาธารณสุข และได้เน้นย้ำท่าทีที่เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามคอรัปชั่น ล่าสุด ประธานาธิบดี Koroma ได้ปลด ดร. Sheku Tijan Koroma ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขเซียร์ราลีโอนในความผิดคอรัปชั่น นับเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ถูกลงโทษจากการปราบปรามคอรัปชั่นอีกด้วย

2. เศรษฐกิจ
2.1 เซียร์ราลีโอนมีแหล่งแร่ธาตุและทรัพยากรทางบกและทางทะเลอุดมสมบูรณ์ แร่ธาตุที่สำคัญคือเพชรและบ๊อกไซต์ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร นอกจากนี้ ปัญหาสังคมและสงครามทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจชะงักงัน ส่งผลให้ปัจจุบัน UNDP จัดให้ เซียร์ราลีโอนอยู่ในอันดับที่ 180 จาก 182 ประเทศที่มีดัชนีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สูงสุด อยู่เหนืออัฟกานิสถานและไนเจอร์ ตามลำดับ

2.2 ประชากรของเซียร์ราลีโอน จำนวน 2 ใน 3 อยู่ในภาคเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตร คิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 46.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สำหรับภาคอุตสาหกรรมและการบริการ มีสัดส่วนร้อยละ 24.4 และ 29.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองที่แพร่กระจายไปสู่พื้นที่บริเวณภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ โกโก้ และปาล์ม และบริเวณภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว อย่างไรก็ดี การทำเหมืองเพชรยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลักของเศรษฐกิจเซียร์ราลีโอน

2.3 ในปี 2545 เซียร์ราลีโอนผลักดันยุทธศาสตร์การฟื้นฟูแห่งชาติ (The National Recovery Strategy - NRS) และได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากต่างชาติจำนวนมาก โดยมีจุดประสงค์เพื่อวางกรอบนโยบายเศรษฐกิจหลังสงครามกลางเมือง แผนดังกล่าวเน้น 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การปฏิรูปการบริหารตั้งแต่ข้าราชการรัฐบาล ตำรวจ และศาลยุติธรรม 2. การปรับปรุงโครงสร้างสังคมตั้งแต่การตั้งรกรากใหม่ของประชากร และปรับปรุงการบริการขั้นพื้นฐาน อาทิ สาธารณสุข การศึกษา สาธารณูปโภค 3. การสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะการก่อตั้งศาลพิเศษเพื่อเซียร์ราลีโอน 4.การฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสาขาเกษตรกรรม เหมืองแร่ และปรับปรุงสาธารณูปโภค

2.4 ปัจจุบันเซียร์ราลีโอนมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เซียร์ราลีโอนยังประสบปัญหาการว่างงานในอัตราสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและทหารเก่า รวมทั้งภาครัฐมีการปฏิรูประบบราชการและรัฐวิสาหกิจที่ล่าช้า

3. นโยบายต่างประเทศ
3.1 เซียร์ราลีโอนมีนโยบายต่างประเทศสายกลาง ที่ในทางปฏิบัติเอนเอียงมาทางโลกตะวันตก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีสัมพันธภาพที่ดีกับรัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ และประเทศในยุโรปตะวันออกด้วย ทั้งนี้ เซียร์ราลีโอนจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากนานาประเทศอย่างสม่ำเสมอ จึงพยายามสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับหลายฝ่าย

3.2 ในระดับภูมิภาค เซียร์ราลีโอนเป็นสมาชิกที่แข็งขันของสหภาพแอฟริกา (AU) และมีสัมพันธภาพที่ดีกับไนจีเรียและคองโก แม้ว่าจะมีความตึงเครียดกับไลบีเรียอยู่บ้างเนื่องจากเคยมีปัญหากันในอดีต แต่การเข้าร่วมเป็นสมาชิก Mano River Union ก่อตั้งเมื่อปี 2516 (ค.ศ.1973) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ (Anglophone) ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ประกอบไปด้วย เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย และกินี มีส่วนทำให้เซียร์ราลีโอนและไลบีเรียสามารถประคับประคองความสัมพันธ์ไปได้ นอกจากนี้ เซียร์ราลีโอนยังเป็นสมาชิกในองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ (UN) รวมทั้ง ACP, African Development Bank, African States Associated with the EU (Lome Convention), Arab Bank for Economic Development in Africa, Commonwealth, Economic Commission for Africa, ECOWAS, IAEA, IDA, IFAD, IFC, ILO, IMF, Islamic Conference, Islamic Development Bank, , NAM, OIC, UNICEF, WHO, World Bank และ WTO

 

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลเสรษฐกิจโดยรวม

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 2.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2551)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 172 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.5

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ไทยและเซียร์ราลีโอนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2526 โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ มีเขตอาณาครอบคลุมเซียร์ราลีโอน ในขณะที่ฝ่ายเซียร์ราลีโอนได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน ประจำกรุงปักกิ่ง มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตคนปัจจุบันคือ H.E. Alhaji Dr. Abul Karim Koroma ถิ่นพำนัก ณ กรุงปักกิ่ง

1.2 เศรษฐกิจ
1.2.1 การค้า
ความสัมพันธ์ไทย-เซียร์ราลีโอน ค่อนข้างห่างเหินอันเนื่องมาจากสภาวะสงครามกลางเมืองของเซียร์ราลีโอน อย่างไรก็ตาม ไทยได้ให้การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในเซียร์ราลีโอน โดยส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติ (UNAMSIL) และได้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของศาลพิเศษสำหรับเซียร์ราลีโอน จำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ
นับแต่ปี 2548 ซึ่งรัฐบาลไทยกำหนดให้เป็นปีแอฟริกา ได้มีการพบปะระหว่างผู้นำระดับสูงของไทยและเซียร์ราลีโอน ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ คือ ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนาย Momodu Koroma รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเซียร์ราลีโอน ระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2548 และ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับนาย Momodu Koroma รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างงาน Festival d’Assilah ที่เมือง Assilah ประเทศโมร็อกโก เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2548 ซึ่งฝ่ายเซียร์ราลีโอนได้แสดงความประสงค์ที่จะกระชับความสัมพันธ์กับไทย และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จากไทยในการพัฒนาประเทศ
สำหรับความสัมพันธ์ด้านการค้า มูลค่าการค้าระหว่างกันมีไม่มากนัก ในปี 2551 มีมูลค่า 40.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 39.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าเป็นเงิน 38.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปเซียร์ราลีโอนได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป วงจรไฟฟ้า และไม่ปรากฎสินค้านำเข้าจากเซียร์ราลีโอน

1.2.2 การลงทุน
ยังไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน

1.2.3 การท่องเที่ยว
ปี 2551 มีนักท่องเที่ยวชาวเซียร์ราลีโอนเดินทางมาไทยจำนวน 152 คน

2. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ไม่มีการจัดทำความตกลงระหว่างทั้งสองฝ่าย

3. การเยือนที่สำคัญ
ไม่มีการเยือนระหว่างกัน

********************************

พฤศจิกายน 2552


กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-50 ต่อ 2038 E-mail : [email protected]