สาธารณรัฐมาลี

สาธารณรัฐมาลี

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 21,067 view


สาธารณรัฐมาลี
Republic of Mali

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง มาลีตั้ง อยู่ในภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดกับประเทศแอลจีเรีย ทิศตะวันออกติดกับประเทศไนเจอร์ ทิศตะวันตกติดกับประเทศเซเนกัลและมอริเตเนีย ทิศใต้ติดกับประเทศบูร์กินาฟาโซ โกตดิวัวร์ และกีนี

พื้นที่ 1, 240,190 ตร.กม. (ใหญ่กว่าไทยประมาณ 2.4 เท่า)

เมืองหลวง กรุงบามาโก (Bamako)

ประชากร 13.98 ล้านคน (2553)

ภูมิอากาศ เขตร้อนและแห้ง หน้าร้อนอยู่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน หน้าฝนอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน หน้าหนาวอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

ภาษาราชการ ฝรั่งเศส

ศาสนา อิสลาม 90% ความเชื่อดั้งเดิม 9% คริสต์ 1%

วันชาติ 22 กันยายน

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตย แบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี สามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ปัจจุบันนาย Amadou Toumani Toure ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2545 (ได้รับการเลือกตั้งซ้ำในวันที่ 29 เมษายน 2550)

ฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันนาย Modibo Sibide ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ 28 กันยายน 2550 รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันคือ นาย Moctar Ouane
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาจำนวน 147 ที่นั่ง ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 5 ปี เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลสูงสุดเพียงศาลเดียว

การเมืองการปกครอง

มาลีถูกฝรั่งเศสปกครองจนกระทั่งปี 2502 (ค.ศ.1959) และต่อมาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2503 (ค.ศ.1960) ภายหลังได้รับเอกราช มาลีถูกปกครองภายใต้การนำของทหารและการบริหารแบบพรรคเดียวมายาวนาน จนกระทั่งปี 2535 (ค.ศ.1992) การเมืองแบบหลายพรรคได้ปรากฏเด่นชัดขึ้น เนื่องจากมีพรรคการเมืองใหม่อีกสองพรรค แยกตัวออกจากพรรค Alliance pour la democratie au Mali (Adema) ได้แก่ พรรค Rassemblement pour le Mali (RPM) นำโดยนาย Ibrahim Boubacar Keita และพรรค Union pour la Republique et al democratie (URD) ซึ่งนำโดยนาย Soumaila Cisse อย่างไรก็ดี พรรค Adema ยังคงเป็นพรรคการเมืองหลักในมาลี ชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของประธานาธิบดี Toure แสดงให้เห็นถึงความผูกขาดทางการเมืองของพรรค Adema รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองของมาลีด้วย

ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2550 พรรคการเมืองสำคัญจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนประธานาธิบดี Toure นำโดยพรรค Adema ได้ตัดสินใจรวมตัวกัน เรียกว่า Alliance pour la democratie et al progres (ADP) และลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว จนได้รับชัยชนะและมีเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประธานาธิบดี Toure ได้ตอบแทนผู้ให้การสนับสนุนด้วยการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจากบุคคลในกลุ่ม ADP

สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกบฏ Tuareg และรัฐบาลมาลี ในบริเวณพื้นที่ตอนเหนือ แม้ได้มีการลงนามในข้อตกลงยุติความรุนแรงเมื่อปี 2535 (ค.ศ.1992) แต่ต่อมาในปี 2549 (ค.ศ.2006) Lieutenant-Colonel Alhassane Ag Fagaga ซึ่งเคยมีตำแหน่งเป็นผู้นำอาวุโสของกลุ่มกบฏ Tuareg เดิม ได้แยกตัวออกไปก่อตั้งกลุ่มกบฏ Tuareg ใหม่ เพื่อต่อต้านแนวทางการดำเนินการตามข้อตกลงเมื่อปี 2535 และร้องขอให้ย้ายกำลังทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่ตอนเหนือ จนกระทั่งมีการลงนามข้อตกลงใหม่ในปี 2551 (ค.ศ.2008) แต่มีอายุเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากรัฐบาลมาลีปฏิเสธที่จะย้ายกำลังทหารออกจากพื้นที่ตอนเหนือตามที่ กลุ่มกบฏร้องขอ เพราะมีหลักฐานปรากฏว่ามีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม al-Qaida ใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อก่อตั้งฐานการลำเลียงและฝึกซ้อม

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2555 นายยอนกุนดา ตราออเร (Dioncounda Traore) ประธานรัฐสภา ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการของมาลี ภายหลังจากที่นายอะมาดู ตูมานี ตูเร ประธานาธิบดีคนเก่าที่ถูกกระทำรัฐประหารโดยกลุ่ม The National Committee for the Return of Democracy and the Restoration of State (CNRDR) ซึ่งอ้างว่าไม่พอใจกับการจัดการปัญหากบฏ The National Movement for the Liberation of Azawad (NMLA) ที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ได้ยื่นหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการต่อคณะผู้เจรจาจากประชาคมเศรษฐกิจแห่ง รัฐแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West African States – ECOWAS) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2555

เศรษฐกิจ
ท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่ โดยเฉพาะทองคำ เกษตรกรรมยังคงเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจมาลี ผลิตภัณฑ์จากภาคเกษตรกรรมคิดเป็นร้อยละ 35 โดยประมาณ (ข้อมูลปี 2551) ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) พืชผลหลักทางเกษตร ได้แก่ ข้าวและฝ้าย ซึ่งมาลีในอดีตสามารถผลิตได้เป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคแอฟริกา แต่ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ จนทำให้ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกาศใช้ข้อบังคับการเหมืองแร่ฉบับใหม่เมื่อปี 2542 (ค.ศ.1999) ส่งผลให้มาลีนับเป็นประเทศผู้ผลิตทองคำได้มากเป็นอันดับสามในภูมิภาคแอฟริกา ใต้ซาฮารา (Sub-Saharan Africa) ต่อจากประเทศแอฟริกาใต้และกานา ตามลำดับ

ภาคอุตสาหกรรมยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก คิดเป็นร้อยละ 20 ของ GDP โดยประมาณ (ข้อมูลปี 2551) ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมทอฝ้าย ซึ่งรัฐบาลมาลีเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ บริษัทอุตสาหกรรมอื่นจำนวนกว่า ร้อยละ 70 ตั้งอยู่ในกรุงบามาโกเป็นหลัก เนื่องจากมีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุด อย่างไรก็ดี ภาคการบริการมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ในปี 2551 มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของ GDP โดยมากเป็นการบริการจำพวก การพาณิชย์ (commerce) และการค้าแผงลอย (street business)

เนื่องจากมาลีขาดดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาฝ้ายในตลาดโลกมีราคาค่อนข้างต่ำ และถูกกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ที่มีการให้เงินชดเชย (subsidies) แก่ผู้ปลูกฝ้ายในสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจมาลีต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศผู้ให้ต่างๆ และรายได้ที่ถูกส่งกลับเข้ามา (remittances) ของแรงงานมาลีในต่างประเทศ

สหภาพยุโรปได้ตั้งศูนย์การจัดหางาน (Immigration Centre) ที่กรุงบามาโก ประเทศมาลี ซึ่งนับได้ว่าเป็น immigration center แห่งแรกที่ตั้งอยู่นอกยุโรป โดยจุดประสงค์หลักของการตั้งศูนย์นี้ก็เพื่อช่วยเหลือด้านการจัดหางานอย่าง ถูกกฎหมายในยุโรปและลดจำนวนแรงงานแอฟริกาที่หลบหนีเข้ามาในยุโรปอย่างผิด กฎหมาย ทั้งนี้ มาลีถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางสำคัญของเส้นทางสำหรับการอพยพไปยังยุโรป

แม้ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นในหลายปีหลัง ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ได้มาตรฐานยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโต ของเศรษฐกิจ มาลีมีระบบรางรถไฟหลักเพียงสายเดียว ที่เชื่อมต่อระหว่างกรุง Bamako เมือง Kayes (ติดกับชายแดนเซเนกัล) และต่อเนื่องไปยังกรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล สภาพถนนยังไม่ดีนักเนื่องจากขาดงบประมาณบำรุงรักษามานาน มาลีมีท่าอากาศยานสากลสองแห่ง (ที่กรุง Bamako และเมือง Mopti) การขนส่งทางน้ำตามแม่น้ำไนเจอร์สามารถทำได้ระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงธันวาคม ในปีที่มีระดับน้ำฝนปกติ นอกจากนี้ การผลิตพลังงานไฟฟ้ายังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ รัฐบาลมาลีได้ให้การรับรองนโยบายพลังงานใหม่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการพึ่งพาการใช้ถ่านไม้และถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้า และขยายการครอบคลุมจำนวนประชากรผู้ใช้ไฟฟ้า รัฐบาลมาลีมีแผนสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำหลายแห่งเพื่อตอบสนองนโน บายดังกล่าวด้วย

นโยบายต่างประเทศ
มาลีดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ในทางปฏิบัติมีความใกล้ชิดกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเก่า มาลีได้รับการยกย่องจากสหรัฐฯ ว่าเป็นประเทศแบบอย่างของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในทวีปแอฟริกา โดยมาลีถือเป็นประเทศแรกในทวีปแอฟริกาที่มีส่วนร่วมในโครงการกองกำลังนานา ชาติของภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งสหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ

ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ราบรื่นนัก มีปัญหาบ่อยครั้งกับประเทศมอริเตเนีย เนื่องจากมาลีถูกกล่าวโจมตีว่าชาว Moor เลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำ และต่างมีนโยบายการปกครองที่ขัดแย้งกัน แต่ภายหลังจากที่มอริเตเนียมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ความสัมพันธ์กับมาลีจึงมีภาวะที่ดีขึ้น แอลจีเรียให้ความสำคัญกับมาลีในฐานะมิตรประเทศที่สนับสนุนการต่อต้านกิจกรรม ของมุสลิมหัวรุนแรงในซาฮารา นอกจากนี้ แอลจีเรียยังมีบทบาทสำคัญในการเจรจาระหว่างรัฐบาลมาลีกับกลุ่มกบฏ Tuareg ในอดีตด้วย ความสัมพันธ์กับบูร์กินาฟาโซและโกตดิวัวร์ยังคงมีความตึงเครียดเป็นระยะ

อย่างไรก็ดี มาลีมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการสู้รบใน ไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน ยุติการใช้กำลังและแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาโดยสันติวิธี สำหรับปัญหาซาฮาราตะวันตก (Western Sahara Conflict) มาลีเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี โดยยึดถือตามมติขององค์การระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด สำหรับปัญหาในตะวันออกกลาง มาลีสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ให้มีการจัดตั้งรัฐอิสระ

เนื่องจากมาลีมิได้เป็นประเทศที่มีอิทธิพลมากนัก จึงจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรในระดับภูมิภาคเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ภาคีที่สำคัญที่มาลีเข้าร่วมคือ Union economique et monetaire oust-africaine (UEMOA) บทบาทของมาลีเป็นที่ยอมรับในภูมิภาค จนทำให้อดีตประธานาธิบดี นาย Alpha Oumar Konare ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธาน African Union Commission วาระ 2003-2008 นอกจากนี้ ทหารของมาลียังมีส่วนร่วมกับภารกิจรักษาสันติภาพในแองโกลา เฮติ ไลบีเรีย รวันดา และเซียร์ราลีโอน

นาย Michel Sidebe อดีตรองผอ.UNAIDS (ชาวมาลี) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ (Executive Director) ของ UNAIDS เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 นอกจากนี้ มาลีได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee: WHC) วาระปี ค.ศ. 2009-2013 ในระหว่างการประชุมที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 ณ กรุงปารีส

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทั่วไป

การทูต
ประเทศไทยและสาธารณรัฐมาลีได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ วันที่ 15 กันยายน 2524 (ค.ศ. 1981) โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ มีเขตอาณาครอบคลุมมาลี ส่วนมาลีมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตมาลีประจำประเทศญี่ปุ่นมีเขตอาณาดูแล ประเทศไทย

เศรษฐกิจ
การค้า

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาลีเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาทางการเมืองต่อกัน โดยหลักจะเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าระหว่างไทยกับมาลีมีมูลค่าไม่มากนัก ส่วนใหญ่ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า เนื่องจากไทยนำเข้าฝ้ายดิบและเส้นใยฝ้ายจากมาลีเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 4 และเป็นตลาดสินค้าส่งออกอันดับ 2 ของมาลี มีผู้ประกอบการไทยเปิดร้านอาหารไทยในมาลีแล้ว 1 ร้าน และมีชุมชนมาลีในไทยประมาณ 200 คน โดยส่วนหนึ่งเป็นพ่อค้าชาวมาลีที่เดินทางมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในไทยปีละ 300-400 คน 16.11 ล้าน USD (ไทยส่งออก 2.70 ล้าน USD ไทยนำเข้า 13.41 ล้าน USD ไทยขาดดุลการค้า -10.70 ล้าน USD)

ในปี 2553 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 16.11 ล้าน USD โดยไทยส่งออก 2.70 ล้าน USD ไทยนำเข้า 13.41 ล้าน USD ซึ่งไทยขาดดุลการค้า -10.70 ล้าน USD สินค้าที่ไทยส่งออกไปมาลี ได้แก่ หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ ข้าว เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ตาข่ายจับปลา กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากมาลี ได้แก่ 1. ด้ายและเส้นใย 2.ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์  3.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ  4.เครื่องอัญมณี เพชรพลอย เงินแท่งและทองคำ เป็นต้น

การลงทุน

ยังไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน

การท่องเที่ยว

ในปี 2552 มีนักท่องเที่ยวชาวมาลีเดินทางมาไทย จำนวน 1,039 คน

ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยจัดให้มาลีเป็นประเทศภายใต้โครงการ Thai Aid ซึ่งเป็นการให้ทุนการฝึกอบรมแก่ประเทศกำลังพัฒนาภายใต้ความร่วมมือในกรอบ ใต้-ใต้ (South-South Cooperation) ในสาขาที่ไทยมีความชำนาญ อาทิ การเกษตร การศึกษา และการสาธารณสุข ซึ่งมาลีส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ในลักษณะ Group Training ตามโครงการ Thai Aid อยู่เป็นประจำและเคยขอความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การเกษตรจากไทย นอกจากนี้ ไทยเคยบริจาคข้าวให้มาลีจำนวน 100 ตัน เมื่อปี 2527 เนื่องจากเกิดภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงในมาลี ขณะนี้ไทยกำลังพิจารณาเรื่องการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่มาลีในด้านเทคนิคการ ปลูกข้าวไทย

ในปี 2549 ไทยเชิญให้มาลีส่งผู้แทนเข้าร่วมการศึกษาดูงานโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เรื่อง ทางเลือกใหม่: เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2549 โดยฝ่ายมาลีมอบหมายให้เอกอัครราชทูตมาลีประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงโตเกียว เป็นผู้แทนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ไทยให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการเผยแพร่เทคโนโลยีด้านการผลิตยารักษาโรคมาลาเรียและโรคเอดส์แก่ ประเทศในแอฟริกา ในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม ปี 2549 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ ได้นำผู้เชี่ยวชาญไปประเทศบูร์กินาฟาโซ แกมเบีย เซเนกัล กาบอง และมาลี เพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีด้านการผลิตยารักษาโรคมาลาเรีย ผลจากโครงการดังกล่าวทำให้มาลีเป็นประเทศแรกใน แอฟริกาตะวันตกที่ประสบความสำเร็จในการผลิตยารักษาโรคมาลาเรีย (artesunate) ชนิดเม็ด โดยฝ่ายไทยและมาลีเห็นพ้องที่จะตั้งชื่อยาเม็ดรักษาโรคมาลาเรียว่า THAMASUNATE TABLETS ย่อมาจาก Thai + Mali + Artesunate Tablets เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและมาลีในการแก้ปัญหาโรค มาลาเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของชาวมาลี

ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย
ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว
- ไทยและมาลีได้ลงนามในสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 ระหว่างการประชุม Francophonie Summit ที่กรุงวากาดูกู ประเทศบูร์กินาฟาโซ
ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา
- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
- ความตกลงยกเว้นภาษีซ้อน
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข

การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
รัฐบาล

- วันที่ 27-29 พฤษภาคม 2547 นายสรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเข้าร่วมประชุมเครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Network: HSN) ครั้งที่ 6 ที่กรุงบามาโก สาธารณรัฐมาลี และได้เข้าเยี่ยมคารวะนาย Amadou Toumani Toure (อามาดู ทูมานิ ทูเร) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐมาลี

ฝ่ายมาลี
รัฐบาล

- วันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2540 นาย Modibo Sidibe รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนประเทศไทย ในฐานะผู้แทนพิเศษของนาย Alpha Oumar Konare ประธานาธิบดี
- วันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 นาย Oumar Alpha Konare ประธานาธิบดีแวะผ่านประเทศไทย พร้อมภริยา เพื่อไปประชุมกลุ่มประเทศ Francophone ที่เวียดนาม
- วันที่ 15-28 ตุลาคม 2541 นาง Fatou Haidara รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม การค้า และหัตถกรรม นำคณะผู้แทนการค้ามาลีมาเยือนประเทศไทย
- วันที่ 8-11 ตุลาคม 2543 นาง Traore Fatoumata Nafo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยือนไทย
- วันที่ 15-19 กันยายน 2546 นาย Lassana Traore รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะเดินทางเข้าประชุมรัฐภาคี อนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 5 ที่ประเทศไทย

 

************************

มิถุนายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ