สาธารณรัฐยูกันดา

สาธารณรัฐยูกันดา

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,962 view


สาธารณรัฐยูกันดา
Republic of Uganda

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งตะวันออกของทวีปแอฟริกา บริเวณเส้นศูนย์สูตร ไม่มีทางออกทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง
ทิศเหนือ ติดกับซูดาน
ทิศ ใต้ ติดกับรวันดาและแทนซาเนีย
ทิศตะวันออก ติดกับเคนยา
ทิศตะวันตก ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (เดิมคือ ซาอีร์)

พื้นที่ 197,000 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงกัมปาลา (Kampala)

ภูมิ อากาศ ร้อนชื้น ฝนตกตลอดปี ยกเว้นฤดูแล้ง 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ และเดือนมิถุนายน - สิงหาคม ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างแห้งแล้ง

ประชากร 36.1 ล้านคน  (2555)

ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และมีภาษาท้องถิ่น ได้แก่ Luganda, Kiswahili, Luo, Lunyoro - Lutoro Bantu และ Arabic

ศาสนา โปรเตสแตนท์ 42% โรมันคาทอลิก 41.9% อิสลาม 12.1% อื่นๆ 3.1% ไม่มีศาสนา 0.9%  

หน่วยเงินตรา ชิลลิงยูกันดา  (UGX) (1 บาท= 81.21 UGX )(สถานะ ณ วันที่ 26 เม.ย.55)

ระบอบ การปกครอง แบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล

ประวัติ ศาสตร์โดยสังเขป
แต่เดิมดินแดนทางตอนใต้ของยูกันดาในปัจจุบันมีชื่อว่า ราชอาณาจักร บูกันดา (Buganda Kingdom) ปกครองโดยระบบกษัตริย์ และในปี 2437 ได้ตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกับกับเคนยา ยูกันดาได้รับเอกราชในปี 2505 โดยมีกษัตริย์ Edward Muteesa II แห่งเผ่าบูกันดาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและแต่งตั้งให้นาย Milton Obote เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังจากได้รับเอกราช ยูกันดาต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าต่างๆ กว่า 30 เผ่า โดยความความขัดแย้งที่สำคัญเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเหนือ (เชื้อสาย Nilotic) และฝ่ายใต้ (เชื้อสาย Bantu)

ในปี 2509 นาย Obote ได้ยึดอำนาจการปกครองจากกษัตริย์ Edward Muteesa II โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตที่ต้องการคานอิทธิพลของจีนที่แพร่ขยาย เข้าไปในแอฟริกาโดยเฉพาะในแทนซาเนีย หลังจากยึดอำนาจ นาย Obote ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การยึดอำนาจครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคปฏิวัติและการต่อต้านการ ปฏิวัติในยูกันดา

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2515 พลตรี Idi Amin ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ทำรัฐประหารและยึดอำนาจรัฐบาลของนาย Obote พลตรี Amin ปกครองประเทศในระบอบเผด็จการ การปกครองดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวยูกันดาเป็นอย่าง มาก เนื่องจากในสมัยนั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง มีการยึดทรัพย์สินจากบริษัทเอกชนเป็นของรัฐประมาณ 3,500 บริษัท มูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนขับไล่ชาวเอเชียซึ่งเป็นเจ้าของกิจการประมาณ 75,000 คน ออกนอกประเทศ ส่งผลให้คนงานซึ่งทำงานในสาขาพาณิชย์ และอุตสาหกรรมว่างงานจำนวนมาก เป็นเหตุให้เศรษฐกิจของยูกันดาเริ่มตกต่ำ ทั้งที่แต่เดิมเคยเป็นประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางของ แอฟริกาตะวันออก

ปี 2522 กลุ่มต่อต้านรัฐบาล Uganda National Liberation Front (UNLF) ภายใต้การนำของ พลเอก Tito Okello และความช่วยเหลือจากกองทหารแทนซาเนียสามารถโค่นล้มอำนาจประธานาธิบดี Amin ได้สำเร็จ และแต่งตั้งให้นาย Obote กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างเผ่าต่างๆ ยังคงอยู่

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2528 พลเอก Okello ได้ก่อการรัฐประหารโค่นล้มนาย Obote และขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนไม่พอใจและหันไปสนับสนุนขบวนการต่อต้านแห่งชาติ (National Resistance Movement : NRM) ซึ่งมีนาย Yoweri Museveni เป็นผู้นำ

ในปี 2529 นาย Yoweri Museveni และกลุ่ม NRM โค่นล้มรัฐบาล พลเอก Okello และขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

เดือนพฤษภาคม 2539 รัฐบาลได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นครั้งแรก โดยสมาชิกของกลุ่ม NRM ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนที่นั่ง 276 ที่นั่ง ส่งผลให้ NRM มีเสียงข้างมาก และการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 รัฐบาลยูกันดาได้รัดการเลือกตั้งแบบหลายพรรคเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยนาย Museveni ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 59.26 และมีวาระในการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี

การเมืองการปกครอง

ยูกันดาปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เป็นประมุขแห่งรัฐ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Yoweri Museveni มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

ฝ่ายบริหารมีนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี

ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสภาเดียว คือ National Assembly มีสมาชิกทั้งหมด 388 คน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 3 ส่วน ได้แก่ (1) สมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน 350 คน (2) สมาชิกที่ได้รับการสรรหาจากกลุ่มบุคคลต่าง ๆ อาทิ กองทัพ เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน และคนพิการ 25 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และ (3) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้สิทธิเป็นสมาชิกรัฐสภาโดยตำแหน่ง 13 คน

ยูกันดาแบ่งการปกครองออกเป็น 4 ภูมิภาค ได้แก่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก และประกอบด้วย 112 เขตการปกครอง

นโยบายรัฐบาล ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อปี 2529 (ค.ศ. 1986) นาย Museveni ได้ปฏิรูปการเมือง โดยพยายามส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจตามแบบตะวันตก เน้นการเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และลดอัตราเงินเฟ้อ ทำให้นาย Museveni ได้รับความนิยมและนับถือจากประชาชนอย่างสูงในฐานะที่นำสันติภาพและความเจริญไปสู่ประเทศ  

ล่าสุด ในการเลือกตั้งปี 2554 (ค.ศ. 2011) นาย Museveni ได้รับชัยชนะอีกครั้งเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดียูกันดาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 นาย Museveni ประกาศเป้าหมายที่จะเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของยูกันดาให้เป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลางในปี 2559 (ค.ศ. 2016) โดยจะเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และพัฒนาระบบการศึกษาและสาธารณสุข

อย่างไรก็ดี นาย Museveni ถูกองค์กรสิทธิมุนษยชนแห่งสหประชาชาติ ชาติตะวันตก และฝ่ายค้านซึ่งนำโดย นพ. Kizza Besigye อดีตแพทย์ประจำตัวนาย Museveni ซึ่งผันตัวมาเป็นคู่แข่งทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลใช้อำนาจคุกคามประชาชน โดยหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด นพ. Besigye ได้ปลุกระดมให้ประชาชนประท้วง โดยการเดินขบวนบนท้องถนน เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แต่กลับถูกรัฐบาลยูกันดาปราบปรามอย่างเด็ดขาด เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าความเป็นผู้นำของนาย Museveni เริ่มถูกท้าทาย เพราะอยู่ในตำแหน่งนานถึง 25 ปี

เศรษฐกิจและสังคม

รัฐบาลยูกันดามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจในยูกันดา ซึ่งได้ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ โดยภาคเกษตรกรรมถูกปรับลดระดับความสำคัญลง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการทวีความสำคัญขึ้น โดยปัจจุบัน ภาคบริการได้รับความสำคัญมากที่สุด  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยเกิดจากการเติบโตของภาคโทรคมนาคม โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ และการบริการเพื่อการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ยูกันดายังคงประสบปัญหาในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในประเทศ เนื่องจากขาดแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ โดยมีสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา

รัฐบาลยูกันดาได้ใช้นโยบาย “Prosperity for All” ซึ่งเน้นสร้างเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มชนชั้นกลางเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการปฏิรูปการศึกษา การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนโอกาสทางธุรกิจและหุ้นส่วนกับต่างชาติ โดยได้จัดตั้ง Private Sector Foundation Uganda (PSFU) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 20-40 ปี เพื่อเป็นจุดประสานงานกลางในการติดต่อกับภาคเอกชนของประเทศต่าง ๆ และสร้างพลวัตทางเศรษฐกิจ ทดแทนนักธุรกิจรุ่นปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุ 40-60 ปี

ยูกันดาและประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (Common Market for Eastern and Southern African States - COMESA) และเป็นสมาชิกก่อตั้งประชาคมแอฟริกาตะวันออก (East African Community - EAC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการพัฒนา โดยในปัจจุบัน    EAC ได้เป็นตลาดร่วม (Common Market) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 (ค.ศ. 2010)

สาขาที่ยูกันดามีศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการลงทุน ได้แก่ ภาคการเกษตร อาทิ  มันสำปะหลัง ข้าว ผลิตภัณฑ์และเครื่องจักรทางการเกษตร เนื่องจากชาวยูกันดานิยมบริโภคและมีศักยภาพในการปลูกมันสำปะหลัง แต่ปัจจุบัน ยูกันดานำเข้าแป้งมันสำปะหลังจากต่างประเทศทั้งสิ้น และภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากยูกันดามีภูมิประเทศที่สวยงามและค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ และมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติเพื่อพัฒนาด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว

ถึงแม้ว่านโยบายการปฏิรูปของประธานาธิบดี Museveni จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ผู้บริจาคระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนการเงินโลก (International Monetary Fund – IMF) ก็ยังไม่มั่นใจในการปราบปรามการทุจริตภายในรัฐบาล นอกจากนี้ ความไม่พอใจอย่างเงียบๆ ของประชาชนยูกันดาต่อกลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายเอเชียใต้ก็ยังคุกรุ่นอยู่ ดังจะเห็นได้จากการปะทะกันระหว่างการประท้วงทางการเมืองเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ ยูกันดาเป็นประเทศที่มีปัญหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของต่างชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ระบบเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจของยูกันดาอ่อนแอ

นโยบายต่างประเทศ

ความสัมพันธ์กับชาติแอฟริกา

เคนยาและแทนซาเนีย – ยูกันดามีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันดีกับเคนยาและแทนซาเนีย เนื่องจากทั้งสามประเทศอยู่ภายใต้อาณานิคมของสหราชอาณาจักร และยังคงรักษาสัมพันธภาพอันดีหลังจากได้รับเอกราช ความสัมพันธ์อันยาวนานส่งผลให้ทั้ง 3 ประเทศ มีนโยบายกระชับความร่วมมือระหว่างกัน นำไปสู่การจัดตั้ง EAC เมื่อปี 2543 (ค.ศ. 2000)  

รวันดา – ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างยูกันดาและรวันดาไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากทั้งสองประเทศมีข้อพิพาทอันเกิดจากการแทรกแซงการเมืองภายในของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จนทำให้เกิดการปะทะกับระหว่างสองประเทศในปี 2542 (ค.ศ.1999)  และ 2543 (ค.ศ. 2000) อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ระหว่างสองประเทศเริ่มคลี่คลายลงเพราะปัจจุบันชาวรวันดาเชื้อสาย Tutsi เริ่มมีความเกี่ยวพันและเชื่อมโยงกับชาวยูกันดาเชื้อสาย Banyarwanda ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูกันดามากขึ้น และผู้อพยพชาวรวันดาเชื้อสาย Tutsi ที่อาศัยในยูกันดาหลายคนเริ่มเข้าเป็นสมาชิกของ National Resistance Army ซึ่งอยู่ภายใต้การบัญชาการของประธานาธิบดี Museveni นอกจากนี้ ยูกันดายังเป็นผู้สนับสนุนให้รวันดาเข้าเป็นสมาชิก EAC ด้วย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม หากปัญหาภายในประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกยังไม่คลี่คลาย ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศยังมีโอกาสกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง

สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก – ยูกันดาพยายามพัฒนาและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับ สป.คองโกตั้งแต่ยูกันดาถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ในปี 2544 (ค.ศ. 2001) และเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2546 (ค.ศ. 2003) อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ยังคงคลุมเครือ เนื่องจาก สป.คองโกยังเชื่อว่ายูกันดาเป็นผู้จัดหาอาวุธให้แก่กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ใน สป.คองโกเพื่อต่อต้านกลุ่ม Lord’s Resistance Army (LRA) ความขัดแย้งระหว่างยูกันดาและ LRA นี้ สืบเนื่องมาจากการที่  LRA ได้ทำสงครามกลางเมืองกับกองกำลังของยูกันดา (Uganda People’s Defense Forces – UPDF) และกลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายมายาวนานกว่า 20 ปี อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองรัฐบาลยังอยู่ในเกณฑ์ดี และทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมมือกันต่อต้านกลุ่มกบฏและได้ทำปฏิญญา  ว่าด้วยการสำรวจน้ำมันบริเวณชายแดนร่วมกัน

ซูดาน – เดิมความสัมพันธ์ระหว่างยูกันดาและซูดานมีความตึงเครียด เนื่องจากยูกันดาสนับสนุนกลุ่ม Sudan People’s Liberation Army (SPLA) ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนในซูดาน ในขณะที่ซูดานสนับสนุน LRA ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ต่อมา ในปี 2546 (ค.ศ. 2003) ทั้งสองฝ่ายทำการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน เนื่องจากยูกันดาและซูดานมีพรมแดนเชื่อมต่อกันมากกว่า 400 กิโลเมตร และประชาชนมีการเดินทางข้ามพรมแดนเป็นประจำ โดยรัฐบาลซูดานได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือในการต่อต้าน LRA ในขณะเดียวกันรัฐบาลยูกันดาจะผลักดันให้กลุ่ม SPLA ถอยร่นกลับเข้าไปในซูดาน อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศมีทีท่าว่าจะซับซ้อนยิ่งขึ้นหลังจากกลุ่ม SPLA ได้แปรสภาพเป็นรัฐบาลซูดานใต้ (Government of Southern Sudan – GOSS) ตามข้อตกลง Comprehensive Peace Agreement (CPA) ในปี 2548 (ค.ศ. 2005)  เนื่องจากรัฐบาลซูดานใต้พยายามทำหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่าง LRA และยูกันดา รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเพื่อต่อต้าน LRA ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างซูดานและยูกันดายังไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากขึ้นอยู่กับขั้วอำนาจของผู้นำทางการเมืองของรัฐบาลซูดานที่จะนำไปสู่การกำหนดท่าทีของทั้งสองฝ่ายต่อไป

ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก

แม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลนาย Museveni ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามฝ่ายค้าน แต่รัฐบาลชาติตะวันตกยังเกรงใจนาย Mueseveni เนื่องจากนาย Museveni มีผลงานโดดเด่นในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคหลายประการ อาทิ การลดอัตราการติดเชื้อ HIV ในยูกันดา และการส่งทหารไปช่วยรักษาสันติภาพในโซมาเลีย

ความสัมพันธ์กับชาติเอเชีย

ยูกันดาได้ดำเนินนโยบาย Look East Policy เช่นเดียวกับประเทศแอฟริกาส่วนใหญ่ โดยจากเดิมที่ขยายความสัมพันธ์กับจีน อินเดีย และเกาหลีใต้เป็นหลัก ได้เริ่มสนใจสินค้าและวิทยาการจากเวียดนาม มาเลเซีย และไทยมากขึ้น ในขณะนี้ มาเลเซียได้เริ่มเข้ามาตั้งโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมของยูกันดาแล้ว

บทบาทของยูกันดาในภูมิภาคแอฟริกา 

ยูกันดาเป็นประเทศแอฟริกาไม่กี่ประเทศประสบความสำเร็จในลดอัตราผู้ติดเชื้อเอดส์ใหม่ จนได้รับคำชมเชยจากสหประชาชาติในนโยบายการป้องกันโรคเอดส์เช่นเดียวกับไทย โดยอัตราผู้ติดเชื้อเอดส์ในยูกันดาลดลงจากร้อยละ 20 ในปี 2538 (ค.ศ. 1995) เหลือร้อยละ 6.4 ในปี 2548 (ค.ศ. 2005) ด้วยนโยบายส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย และพยายามรณรงค์ไม่ให้ประชาชนมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส

ยูกันดาให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของแอฟริกาหลังจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นอย่างมาก โดยกระตุ้นให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในแอฟริกา เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้จากประเทศร่ำรวยไปสู่ประเทศที่ยากจน ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมภายในประชาคมโลก และจะทำให้ประชากรในประเทศยากจนสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง

ยูกันดามีส่วนในการสร้างเสริมสันติภาพในภูมิภาคแอฟริกา โดยส่งกองกำลังทหารไปช่วยรัฐบาลโซมาเลียรักษาสันติภาพในภารกิจของสหภาพแอฟริกาในโซมาเลีย (African Union Mission in Somalia - AMISOM) ร่วมกับบุรุนดี อย่างไรก็ดี การที่ยูกันดาเข้าไปมีส่วนร่วมในโซมาเลียส่งผลให้ยูกันดาตกเป็นเป้าหมายการก่อการร้ายจากกลุ่ม al-Shabaab ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลโซมาเลีย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 (ค.ศ. 2010) เกิดเหตุระเบิดในร้านอาหารกลางกรุงกัมปาลาในช่วงที่ประชาชนออกมาชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกช่วงฟุตบอลโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 74 คน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐยูกันดา

ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและยูกันดาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2528 (ค.ศ. 1985) โดยฝ่ายไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ดูแลยูกันดา และแต่งตั้งนาย James Mulwana เป็นกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำยูกันดา ส่วนฝ่ายยูกันดาได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตยูกันดาประจำสาธารณรัฐอินเดีย มีเขตอาณาครอบคลุมไทย ขณะนี้ ฝ่ายยูกันดาอยู่ระหว่างการสรรหากงสุลกิตติมศักดิ์ยูกันดาประจำไทย แทนที่นายทวี บุตรสุนทร ซึ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายน 2554 (ค.ศ.2011) ที่ผ่านมาไทยและยูกันดามีความสัมพันธ์ราบรื่น โดยยูกันดาชื่นชมไทยในฐานะเป็นแบบอย่างการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

การค้าระหว่างไทยกับยูกันดายังมีมูลค่าไม่มากแต่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ปี 2554 (ค.ศ. 2011) มูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 19.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยเป็นฝ่ายส่งออก 17.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 2.17ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า 15.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ น้ำตาลทราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ สินค้านำเข้าที่สำคัญจากยูกันดา ได้แก่ ด้ายและเส้นใย สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ชา กาแฟ และเครื่องเทศ

ภาครัฐได้จัดคณะไปสำรวจโอกาสการลงทุนในยูกันดาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) กรมส่งเสริมการส่งออกนำคณะนักธุรกิจเยือนยูกันดา เยเมน ซูดาน และเอธิโอเปีย ระหว่างวันที่  5-17 กรกฏาคม 2553 (ค.ศ. 2010) (2) BOI นำคณะนักธุรกิจเยือนเคนยาและยูกันดาเพื่อสำรวจโอกาสการลงทุน วันที่ 25-29 เมษายน 2554 (ค.ศ. 2011) (3) อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกานำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเยือนยูกันดา ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2554 (ค.ศ. 2011) จากการเยือนข้างต้น ฝ่ายไทยเห็นว่า ยูกันดามีศักยภาพด้านการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรม การแปรรูผลิตภัณฑ์เกษตร และการท่องเที่ยว เนื่องจากมีภูมิประเทศที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี ยังไม่ค่อยมีนักลงทุนไทยสนใจลงทุนในยูกันดามากนัก เนื่องจากการที่ยูกันดาไม่มีทางออกทะเลทำให้ค่าขนส่งสินค้าค่อนข้างสูง

ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยมีนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับยูกันดาในลักษณะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation) โดย สพร. ได้เวียนทุนฝึกอบรม (Annual International Training Course - AITC) ให้ยูกันดาพิจารณาส่งบุคลากรเข้าร่วมเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ หน่วยงานราชการของยูกันดาสนใจมาศึกษาดูงานด้านต่างๆ ในประเทศไทย อาทิ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากรป่าไม้ และการจัดการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

ชาวยูกันดาที่มีฐานะดีนิยมส่งบุตรหลานมาศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในหลักสูตรนานาชาติที่ประเทศไทยมากขึ้น

ร่างความตกลงทวิภาคี ไทย-ยูกันดาที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ - ไทยและยูกันดาได้เจรจาความตกลงระหว่างกัน และลงนามย่อรับรองร่างความตกลงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 (ค.ศ. 1996) และคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการทำความตกลงฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2540 (ค.ศ. 1997) ในชั้นแรก คาดว่าจะมีการลงนามในช่วงปี 2541 (ค.ศ. 1998) ซึ่งเคยมีการกำหนดการเยือนในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ยังมิได้มีการลงนามในความตกลงฯ ดังกล่าว จวบจนปัจจุบัน

การเยือนของผู้นำระดับสูง

ฝ่ายไทย

(1) นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนยูกันดาเพื่อส่งเสริมและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและยูกันดาร่วมทั้งเป็นประธานเปิดศูนย์กระจายสินค้าไทย (Thai Distribution Center) ณ กรุงกัมปาลา ระหว่างวันที่ 23 - 24 มิถุนายน 2548  (ค.ศ. 2005)

(2) นายโฆษิต ฉัตรไพบูรณ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนาย Yoweri Museveni เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2554 (ค.ศ. 2011) ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย

(3) นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกานำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเยือนยูกันดาระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2554 (ค.ศ. 2011) เพื่อแสวงหาลู่ทางการค้าและการลงทุน

(4) พลเอกธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภานำคณะผู้แทนรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 126 ที่ยูกันดา ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน 2555 (ค.ศ. 2012)

ฝ่ายยูกันดา

ระดับพระราชวงศ์

 (1) สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบูกันดา (Kabaka Ronald Muwenda Mutebi ll) เสด็จฯ เยือนไทย โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบูกันดาในวันที่ 30 สิงหาคม 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ได้ทอดพระเนตรศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร รวมทั้งโครงการหลวงห้วยฮ่องไคร้และดอยอินทนนท์ ระหว่างเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม – 3 กันยายน 2548 (ค.ศ. 2005)

ระดับรัฐบาล

ประธานาธิบดี

- เมื่อวันที่ 25 - 28 กันยายน 2546 (ค.ศ. 2003) นาย Yoweri Museveni ประธานาธิบดียูกันดา เยือนไทยก่อนเดินทางเข้าร่วมประชุม Tokyo International Conference on African Development (TICAD) ครั้งที่ 3  ณ ประเทศญี่ปุ่น และได้มีโอกาสพบหารือนายกรัฐมนตรี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในระดับผู้นำระหว่างสองประเทศ  และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ  นอกจากนี้ยังได้พบปะผู้แทนภาคเอกชนไทย อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (the Joint-Standing Committee on Trade, Industries and Banking) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในยูกันดาในด้านต่าง ๆ ภาคเอกชนยูกันดาที่ร่วมอยู่ในคณะฯ อีก 60 คน ยังได้พบเจรจากับภาคเอกชนของไทยซึ่งมุ่งเน้นความร่วมมือด้านการค้าและ การลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ

- เมื่อวันที่ 11 - 13 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ. 2004) นาย Yoweri Museveni เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยโรคเอดส์  ครั้งที่ 15 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งไทยและยูกันดาเป็นสองประเทศที่ได้รับคำชมเชยจากสหประชาชาติในความสำเร็จด้านการป้องกันและบำบัดโรคเอดส์

รองประธานาธิบดี

- เมื่อวันที่ 15 - 20 กันยายน 2549 (ค.ศ. 2006) Professor Gilbert Balibaseka Bukenya  รองประธานาธิบดียูกันดา นำคณะเยือนประเทศไทย

รัฐมนตรี

- เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2536 (ค.ศ. 1993) นาย Ally M. Kirunda – Kivejinja รัฐมนตรีประจำสำนักประธานาธิบดีกิจการต่างประเทศเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อมอบสาส์นจากประธานาธิบดียูกันดาและขอเสียงสนับสนุนให้แก่ผู้แทนยูกันดาซึ่งสมัครเป็นรองผู้อำนวยการ International Organization for Migration (IOM)

- เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2537 (ค.ศ. 1994) นาย Richard H. Kaijuka รัฐมนตรีการค้า และอุตสาหกรรมยูกันดา และนาย James Mulwana กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำยูกันดา เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

- เมื่อวันที่ 11 - 20 กุมภาพันธ์ 2543 (ค.ศ. 2000) นาย Moses Ali  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยว การค้าและอุตสาหกรรมยูกันดา เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ครั้งที่ 10 

- เมื่อวันที่ 11 - 15 สิงหาคม 2545 (ค.ศ. 2002) นาย Gerald Sendaula รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การวางแผน และการพัฒนาเศรษฐกิจยูกันดาและคณะเยือนไทยเพื่อชักชวนนักธุรกิจไทยไปลงทุนในยูกันดา

- เมื่อวันที่ 8 - 22 ธันวาคม 2547 (ค.ศ. 2004) นาย Omwony Ojwok รัฐมนตรีแห่งรัฐดูแลเรื่องเศรษฐกิจ (Minister of State in Charge of Economic Monitoring) และคณะเดินทางมาประเทศไทย เพื่อศึกษาดูงานด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเกษตร รวมทั้งความร่วมมือทางวิชาการและบทบาทของภาครัฐในกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย 

- เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2548 (ค.ศ. 2005) นาย Ezra Suruma รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วางแผน และการพัฒนาเศรษฐกิจเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ) ได้เข้าพบผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) และเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายวราเทพ รัตนากร) ในวันเดียวกันด้วย

- เมื่อวันที่ 20 - 25 เมษายน 2549 (ค.ศ. 2006) นาย Khiddu Makubuya รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอัยการสูงสุดเป็นผู้แทนรองประธานาธิบดียูกันดา เพื่อศึกษาดูงาน    ด้านการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์

 

*************************

มิถุนายน 2555


กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ