สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2552

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 18,516 view


สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ
People’s Republic of Bangladesh

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ทิศเหนือ ตะวันตก และตะวันออกตอนบนติดกับอินเดีย (มีแนวชายแดนยาวติดต่อกันประมาณ 4,053 กิโลเมตร) ทิศตะวันออกตอนล่างติดกับพม่า (มีแนวชายแดนยาว 193 กิโลเมตร) และทิศใต้ติดกับอ่าวเบงกอล

พื้นที่ 147,570 ตร.กม. (28% ของไทย)

เมือง หลวง กรุงธากา (Dhaka)

เมืองสำคัญต่างๆ เมืองจิตตะกอง (Chittagong) เป็นเมืองใหญ่อันดับสองและเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ เป็นเมืองธุรกิจและมีสนามบินนานาชาติ

ภูมิอากาศ ร้อนชื้น พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นที่ราบลุ่ม ในฤดูมรสุมมักเกิดอุทกภัย

ประชากร 166.7 ล้านคน (2554) ประกอบด้วยเชื้อชาติเบงกาลี (Bengalee) ร้อยละ 98 ที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ

ภาษา ภาษาบังกลา (Bangla) เป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษใช้สื่อสารในหมู่ผู้มีการศึกษาดี และมีภาษาท้องถิ่นของชนกลุ่มน้อย

ศาสนา ประชากร ร้อยละ 88 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 10 นับถือศาสนาฮินดู ร้อยละ 0.6 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 0.3 นับถือศาสนาคริสต์ และประชากรที่เหลือนับถือศาสนาอื่น ๆ

วัน สำคัญ 26 มีนาคม 2514 (ค.ศ. 1871) เป็นวันที่ปากีสถานตะวันออกประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากปากีสถานตะวันตก และใช้ชื่อว่าบังกลาเทศ
 

การเมือง เศรษฐกิจและนโยบายสำคัญของบังกลาเทศ

การเมือง

พรรค AL (Awami League) ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2551 (2008)นาง Sheikh Hasina หัวหน้าพรรค AL เข้ารับตำแหน่ง นรม เป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2552 (2009) สมัยแรกระหว่างปี 2539 – 2544 (1996 – 2001) โดยเป็นรัฐบาลผสมประกอบด้วยพรรคการเมืองอื่นอีก 3 พรรคคือ พรรค Jatiya พรรค Jatiya Samajtantrik Dal (JSD) และพรรค Workers’ Party  

ครม ชุดนี้ มีจำนวน 32 คน ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ของพรรค AL และมีสตรีถึง 5 คน รวมทั้ง นรม และ รมว กต นับเป็น ครม ที่มีขนาดเล็กและมีจำนวนสตรีมากที่สุด

รัฐบาลของนาง Hasina ให้คำมั่นว่า จะนำประเทศกลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยและอยู่ภายใต้กฎระเบียบของกฎหมายและการแก้ไขปัญหา ศก ตกต่ำและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของ ปชช ให้ดีขึ้น หลังจากประเทศตกอยู่ภายในสภาวการณ์ไม่แน่นอนภายใต้ระบบทหารมาราว 2 ปี ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2552 (2009) นาย Zillur Rahman ได้ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่ง ปธน คนที่ 19 ของบังกลาเทศ ซึ่ง รธน บังกลาเทศกำหนดให้ ปธน มาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภาและมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองค่อนข้างสงบแม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านบ้าง อย่างไรก็ดีรัฐบาลบังกลาเทศภายใต้การนำของพรรค AL สามารถบริหารประเทศได้ โดยยังได้รับการสนับสนุนจาก ปชช ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีจากฝ่ายค้านมากนัก

ที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาลได้รับความเชื่อถือว่ามีความโปร่งใสทำให้ได้รับความนิยมจาก ปชช เพิ่มขึ้น และยังให้ความสำคัญกับเรื่องที่เป็นข้อห่วงกังวลและมีผลประโยชน์ต่อ ปชช อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นต้น ดังนั้น ถึงแม้จะมีอุปสรรคแต่รัฐบาลบังกลาเทศชุดปัจจุบันยังสามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยดี

เศรษฐกิจ

รัฐบาลบังกลาเทศมีนโยบายมุ่งเน้นเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (economic freedom) โดยใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจ (economic diplomacy) สนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติในลักษณะ joint venture รวมทั้งเรียก

ความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนทั้งภายในและ ตปท กระตุ้นการส่งออกโดยเฉพาะสิ่งทอไป ตปท (บังกลาเทศมีสินค้าส่งออกไม่หลากหลาย ร้อยละ 76 เป็นสินค้าสิ่งทอและปอ) ส่งเสริมให้แรงงานไปทำงานใน ตปท

ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด รองลงมา คือ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร อุตสาหกรรมที่นักลงทุน ตปท ให้ความสนใจ อาทิ การสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติ (โดยเฉพาะในอ่าวเบงกอล) ระบบสาธารณูปโภค ธุรกิจการก่อสร้าง ประมง (แต่ปัจจุบันรัฐบาลบังกลาเทศยังไม่มีนโยบายที่จะอนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปจับปลาในน่านน้ำบังกลาเทศ) การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม อาทิ เสื้อผ้า เครื่องหนัง อุตสาหกรรมเบา ด้านบริการต่าง ๆ และการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคขั้นพื้นฐาน

อุปสรรคหลักที่ขัดขวางการลงทุนในบังกลาเทศ ได้แก่ ภัยธรรมชาติ อาทิ พายุไซโคลนและอุทกภัย การขาดแคลนระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การฉ้อราษฎร์บังหลวง การโอนรายได้กลับประเทศ และการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการเดินขบวนประท้วงของพรรคฝ่ายค้านที่มีอยู่เป็นประจำ

ภาพรวมนโยบายต่างประเทศ

บังกลาเทศพยายามลดอิทธิพลของอินเดีย โดยดำเนินมุ่งตะวันออก (Look East) เพื่อกระชับ คสพ ที่ใกล้ชิดกับจีนและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อ ศก บังกลาเทศในด้านพลังงาน การส่งออกแรงงาน และความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประเทศ

บังกลาเทศให้ความสำคัญกับความร่วมมือกรอบภูมิภาค เช่น SAARC ARF และ BIMSTEC โดยในกรอบ BIMSTEC บังกลาเทศเป็นประเทศนำในสาขาการค้าและการลงทุน และเป็นผู้เสนอความร่วมมือด้านการลดความยากจนล่าสุดได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการ BIMSTEC 

บังกลาเทศยังให้ความสำคัญกับ UN ให้การสนับสนุนภารกิจการรักษาสันติภาพเป็นอันดับสองรองจากปากีสถาน โดยมีทหารบังกลาเทศ จำนวน 9,455 นาย ปฏิบัติหน้าที่ใน 15 ภารกิจทั่วโลก (ร้อยละ 10.4 ของ
กองกำลังรักษาสันติภาพทั้งหมด) ซึ่งช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีรวมทั้งสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย

บังกลาเทศมีบทบาทแข็งขันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่ส่งผลกระทบในระดับโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งบังกลาเทศได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนและอุทกภัย ซึ่งเป็นผลจากภาวะโลกร้อน ปัญหาความยากจน รวมถึงการเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) 

บังกลาเทศเป็นประเทศที่สนับสนุนไทยด้วยดีในเวที OIC และไทยยังได้รับความร่วมมือจากบังกลาเทศเป็นอย่างดีในการแก้ไขปัญหาโรฮิงญา

ปัจจุบันบังกลาเทศเป็นสมาชิก Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation (BIMSTEC), Organization of the Islamic Conference (OIC), Asia Cooperation Dialogue (ACD), South Asia Association for Regional Cooperation (SAARC), Non-Aligned Movement (NAM), ASEAN Regional Forum (ARF) รวมทั้งได้ลงนามเป็นภาคีในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Treaty of Amity and Cooperation (TAC) ในระหว่างการประชุม ARF ที่กรุงมะนิลา เมื่อ ส.ค. 2550 (2007)

สรุปสถานะความสัมพันธ์ไทย - บังกลาเทศ

ภาพรวมความสัมพันธ์

ไทยกับบังกลาเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2515 (1972) และมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกัน ไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่บังกลาเทศตลอดมา

ไทยประสงค์จะให้บังกลาเทศเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในโลกมุสลิมและเป็นพันธมิตรที่ดีต่อไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยเฉพาะใน OIC UN ACD และ ARF นอกจากนี้ บังกลาเทศยังให้การสนับสนุนไทยเป็นอย่างดีในการดำเนินกิจกรรมของ BIMSTEC ซึ่งทั้งไทยและบังกลาเทศต่างเป็นผู้ก่อตั้ง BIMSTEC เมื่อปี 2540 (1997) อนึ่ง บังกลาเทศยังมีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries – LDC) อีกด้วย

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2554 นาง Sheikh Hasina นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยในเหตุการณ์อุกภัยครั้งใหญ่ของไทย ผ่านออท. ณ กรุงธากา ในนามรัฐบาลบังกลาเทศจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจในฐานะมิตรประเทศที่ใกล้ชิดของไทย ซึ่งเงินดังกล่าวดำเนินรัฐบาลบังกลาเทสได้โอนเข้าบัญชีกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สํานักนายกรัฐมนตรีแล้ว

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ปริมาณการค้าไทย – บังกลาเทศยังอยู่ในระดับต่ำ แต่บังกลาเทศเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการค้า การลงทุน สินค้าและบริการจากไทย (บังกลาเทศมีผู้มีฐานะดีราวร้อยละ 10 จากจำนวนประชากร 166.7 ล้านคน ในปี 2554 (2011) มีชาวบังกลาเทศเดินทางมา ปทท จำนวน 69,097 คน ปัจจุบัน สินค้าไทยประเภทเครื่องอุปโภคบริโภคได้รับความนิยมในบังกลาเทศเนื่องจากมีคุณภาพดีราคาเหมาะสม

สถิติการค้าไทย-บังกลาเทศ มีมูลค่าการค้ารวม 1,257.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ.2011) ไทยส่งออก 1215.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้า 42.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 1,173.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบัน สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยได้รับความนิยมในบังกลาเทศ เพราะถือเป็นสินค้ามีคุณภาพ ปัจจุบันนักธุรกิจไทยและบังกลาเทศได้ให้ความสนใจที่จะทำธุรกิจร่วมกันมากขึ้น เพราะบังกลาเทศมีค่าแรงต่ำและได้รับสิทธิพิเศษทางการค้ายกเว้นภาษีหรือโควตาจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ  ดังนั้น  นักลงทุนไทยจึงสามารถใช้บังกลาเทศเป็นฐานผลิตส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ได้ ไทยต้องการขยายการค้าในด้าน สิ่งทอ ยา การเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร เครื่องหนัง การก่อสร้าง และพลาสติก  รวมทั้งลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และขยายตลาดนักท่องเที่ยว 

บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลโครงการ Dhaka Elevated Expressway PPP Project ณ กรุงธากา (ลงนาม คตล เมื่อ 19 ม.ค. 2554/2011) เพื่อก่อสร้างทางพิเศษยกระดับขนาด 4 ช่องทางจราจร ซึ่งถือเป็นโครงการก่อสร้างใหญ่ที่สุดของรัฐบาลบังกลาเทศชุดปัจจุบัน วงเงินประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างภาคเอกชนไทยกับรัฐบาลบังกลาเทศ

ความสัมพันธ์ทางสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม

นับตั้งแต่ปี 2547 (2004) สอท ณ กรุงธากา ได้จัดเทศกาลอาหารและวัฒนธรรมไทย เป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมอาหาร วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทยในบังกลาเทศ ซึ่งได้ช่วยส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศด้วย และไทยมีเป้าหมายในการเชิญชวนนักท่องเที่ยวบังกลาเทศที่มีรายได้สูงมารักษาตัวและท่องเที่ยวในไทย สถานพยาบาลซึ่งได้รับการยอมรับจากชาวบังกลาเทศ อาทิ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลพญาไท เป็นต้น

ปัจจุบันนักเรียน/นักศึกษาบังกลาเทศมีความสนใจเดินทางมาศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติในไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี

โครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนบังกลาเทศเมื่อ 11 – 14 ธ.ค. 2554 (2011) และ 15 – 19 ก.พ. 2553 (2010) เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเยาวชนในสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ โดยโครงการฯ มีเป้าหมายสำคัญในการปรับปรุงระบบสุขาภิบาลและส่งเสริมโภชนาการในเด็กนักเรียน ปัจจุบันโครงการฯ ระยะแรกได้เริ่มดำเนินการแล้วในโรงเรียนประถมศึกษาตัวอย่าง 2 แห่งซึ่งตั้งอยู่เขตกรุงธากาและ Gazipur

โครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงภายใต้พระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างไทย-บังกลาเทศ เพื่อการถ่ายทอดและให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกระทรวงเกษตรบังกลาเทศได้อนุมัติจัดสรรพื้นที่ในศูนย์พัฒนาพืชสวนของบริษัทพัฒนาเกษตรกรรมบังกลาเทศ ณ เขตคาชิมปูระ (Kashimpur) เมืองกาจิปูระ (Gazipur) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ/ดูแลของกระทรวงเกษตรบังกลาเทศให้เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแห่งแรก

ความร่วมมือทางวิชาการ

สพร ได้ให้ความร่วมมือทางวิชาการในสาขาเพื่อการพัฒนาแก่บังกลาเทศมาตั้งแต่ปี 2536 (1993) โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรูปของการให้ทุนฝึกอบรมภายใต้กรอบ ครม. ต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรการฝึกอบรมนานาชาติประจำปี ความร่วมมือภายใต้โครงการฝึกอบรมประเทศที่สาม และความร่วมมือแบบไตรภาคี โดยในปี 2010 สพ.ร ได้อนุมัติทุนให้แก่บังกลาเทศจำนวน 28 ทุน

สอท. ณ กรุงธากา ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาประเทศแบบอย่างยั่งยืน อาทิ การนำคณะผู้แทนระดับสูงของบังกลาเทศเดินทางมาศึกษาดูงานตามโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ ปทท.

โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับบังกลาเทศ (Human Resources Development Project) ให้ทุนศึกษา/ฝึกอบรม/ดูงานในไทย จำนวน 150 ทุน ระยะ 3 ปี 2554 - 2556 (2011 – 2013) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและทรัพยากรมนุษย์โดยเน้นสาขาการสาธารณสุข การท่องเที่ยวและเกษตรกรรม อยู่ในการพิจารณาของ Economic Relations Division (ERD) กระทรวงการคลัง บังกลาเทศ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว

ความร่วมมือ BIMSTEC

ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC ครั้งที่ 13 เมื่อ 22 ม.ค. 2554 (2011) มีมติให้ตั้ง สนง เลขาธิการถาวร BIMSTEC ที่บังกลาเทศ ซึ่งฝ่ายไทยให้การสนับสนุนบังกลาเทศมาโดยตลอด โดยฝ่ายไทยหวังว่าเมื่อมีการจัดตั้ง สนง เลขาธิการถาวร BIMSTEC แล้วจะทำให้การประสานงาน เร่งรัดและติดตามการดำเนินงานในสาขา ครม ต่างๆ ของ BIMSTEC มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

บังกลาเทศมีบทบาทสำคัญในฐานะประเทศสมาชิกก่อตั้ง BIMSTEC และประเทศนำในสาขาการค้าและการลงทุน ซึ่งประเด็นสำคัญของสาขานี้คือ BIMTEC FTA ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะช่วยขยายการค้าในภูมิภาคได้มาก (ประชากรกว่า 1,300 ล้านคน)

โรฮิงญา

บังกลาเทศมีชาวโรฮิงญาที่ลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยและอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่เมือง Cox’s Bazaar รวมประมาณ 29,000 คน และที่อาศัยอยู่นอกค่ายฯ ปะปนกับชาวบังกลาเทศ อีกกว่า 200,000 คน ซึ่งรัฐบาลบังกลาเทศต้องการส่งชาวโรฮิงญากลับพม่าทั้งหมด เพราะไม่พร้อมที่จะ integrate บุคคลเหล่านี้โดยได้พยายามหารือเรื่องนี้กับฝ่ายพม่า รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น กระบวนการบาหลี

ผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญาในไทย ส่วนมากเป็น economic migrants ที่มีจุดหมายปลายทางที่ประเทศมาเลเซีย โดยอาจมีขบวนการลักลอบขนคนข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง และอาจมีชาวบังกลาเทศ และชาวพม่ามุสลิมปะปนมาด้วย ที่ผ่านมา ไทยประสบปัญหาในการส่งตัวผู้ลักลอบเข้าเมืองโรฮิงญากลับประเทศต้นทางอย่างเป็นทางการ เนื่องจากทั้งพม่าและบังกลาเทศต่างก็ไม่ยอมรับว่าเป็นบุคคลสัญชาติตน   ไทยมองว่าผู้ลักลอบเข้าเมืองทางทะเลเป็นประเด็นระดับภูมิภาค จึงต้องการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาในประเทศต้นทาง เช่น บังกลาเทศ และพม่า

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงทั้งของประเทศต้นทางคือ พม่า และบังกลาเทศ องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ UNHCR เกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ลักลอบเข้าเมืองทางทะเล และผู้แทนไทยได้ใช้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระบวนการบาหลี เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองทางทะเลกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงชาวโรฮิงญา

การแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญ

- 1 – 3 มิ.ย. 2552 (2009)  นายกษิต ภิรมย์ รมว กต เยือนบังกลาเทศ

- 22 – 23 ก.ค. 2552 (2009)  Dr Dipu Moni รมว กต  เยือนไทย

- 15 – 19 ก.พ. 2553 (2010) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนบังกลาเทศ ร่วมกับคณะ ม จอห์นส์ ฮ๊อปกินส์ (Health Advisory Board of the John Hopkins University) เพื่อทรงเยี่ยมชมโครงการ Health and Nutrition Research Project (JiVitA Project) ภายใต้กระทรวง Health and Family Welfare ของบังกลาเทศ ซึ่ง นรม บังกลาเทศได้เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสนี้ด้วย

- 15 พ.ค. 2553 (2010) นาง Sheikh Hasina นรม บังกลาเทศเดินทางผ่านไทย

- ธ.ค. 2553 (2010) รมว กต พบหารือกับ รมว กต บังกลาเทศ ในระหว่างการประชุม AMED ครั้งที่ 3 ณ กรุงเทพฯ

- 29 เม.ย. – 1 พ.ค. 2554 (2011) ปธ ผู้แทนการค้าไทย ในฐานะผู้แทน นรม เดินทางเยือนบังกลาเทศ เพื่อเข้าร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการทางด่วนยกระดับ ณ กรุงธากา

- 11 – 14  ธ.ค. 2554 (2011)  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนบังกลาเทศ เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเยาวชนในสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ และโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

--------------------------------

มิถุนายน 2555

กองเอเชียใต้ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5043

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ