วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ม.ค. 2513
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐสโลวัก
Republic of Slovak
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ตอนกลางของทวีปยุโรป ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล
ทิศเหนือติดกับโปแลนด์
ทิศใต้ติดกับฮังการี
ทิศตะวันออกติดกับยูเครน และ
ทิศตะวันตกติดกับเช็ก และออสเตรีย
พื้นที่ 49,037 ตารางกิโลเมตร (ร้อยละ 10 ของไทย)
เมืองหลวง กรุงบราติสลาวา (Bratislava)
ประชากร 5.42 ล้านคน
ภูมิอากาศ อากาศเย็นในหน้าร้อน และช่วงหน้าหนาวค่อนข้างหนาว
มีหมอกและอากาศชื้น
ภาษาราชการ สโลวัก
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 68.9 คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ร้อยละ 10.8 และคริสต์นิกายกรีกออร์โธดอกซ์ ร้อยละ 4.1 อื่น ๆ และไม่ระบุร้อยละ 3.2 และไม่นับถือศาสนา ร้อยละ 13
การเมืองการปกครอง
ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายอันเดรีย กิสกา (Andrej Kiska)
นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายรอเบิร์ต ฟีโค (Robert Fico)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ นาย Miroslav Lajcak
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเป็นระบบสภาเดียว มีสมาชิก 150 ที่นั่ง โดยมีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเป็นประมุข มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ส่วนนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยมาจากการเลือกตั้งทั่วไป มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
วันชาติ 1 กันยายนของทุกปี
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 1 มกราคม 2536
เศรษฐกิจการค้า
หน่วยเงินตรา ยูโร (Euro)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 95.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2556)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 25,796 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2556)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 1.0 (ปี 2556)
สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง ผลิตภัณฑ์สินแร่ ยานยนต์ โลหะ สารเคมี พลาสติก
สินค้าส่งออกสำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์ โลหะ สารเคมีและสินแร่ พลาสติก
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐสโลวัก
1. ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับสาธารณรัฐสโลวัก
1.1 ความสัมพันธ์ทั่วไป
ประเทศ ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับสโลวะเกียเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2536 ฝ่ายสโลวะเกียจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตขึ้นในไทยตั้งแต่ปี 2538 สำหรับไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา มีเขตอาณาดูแลสโลวะเกีย ปัจจุบัน สโลวะเกียอยู่ภายใต้เขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา และ มีการจัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ขึ้นที่กรุงบราติสลาวา โดยมีนายอเล็กซานเดอร์ โรซิน (Alexander Rozin) ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำสาธารณรัฐสโลวัก ในส่วนของฝ่ายสโลวะเกีย มีนายวลาดีมีร์ ฮัลกัซ (Vladimir Halgas) เป็นเอกอัครราชทูต โดยเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2554
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสโลวะเกียเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยที่ สโลวะเกียยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเชโกสโลวะเกีย แต่ยังไม่มีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันมากนัก อย่างไรก็ดี มีความร่วมมือที่สามารถช่วยผลักดันความร่วมมือทวิภาคีระหว่างสองประเทศ อาทิ พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบันมีคนไทยที่ไป ประกอบอาชีพส่วนตัวที่สโลวะเกีย และนักศึกษาประมาณ 75 คน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2539 รัฐบาลสโลวะเกียได้มอบทุนการศึกษาจำนวน 1 ทุน เป็นประจำทุกปีให้กับนักศึกษาไทยในระดับปริญญาตรีมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
1.2 เศรษฐกิจ
1.2.1 การค้า
ใน ปี 2556 ไทยและสโลวะเกียมีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 211.87ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 164.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 46.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้า 118.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยไปสโลวะเกียที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากสโลวะเกีย ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เคมีภัณฑ์
1.2.2 การลงทุน
บริษัท เดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นบริษัทของไทยร่วมทุนกับไต้หวัน เข้าไปลงทุนในสโลวะเกีย สำหรับฝ่ายสโลวะเกีย เมื่อปี 2551 มีโครงการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวน 1 โครงการ คือ บริษัทวังน้ำเขียวชีส จำกัด ซึ่งผลิตเนยแข็งส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี
1.2.3 การท่องเที่ยว
เมื่อปี 2556 มีชาวสโลวะเกียเดินทางมาเยือนไทยจำนวน 14,004 คน
2. ความตกลงที่สำคัญกับไทย
2.1 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้า (ลงนามเมื่อปี 2541)
2.2 พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (ลงนามเมื่อปี 2543)
2.3 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ลงนามเมื่อปี 2548)
3. การเยือนที่สำคัญ
3.1 ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสโลวะเกียอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัฐบาล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2546 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสโลวะเกียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 24 มิถุนายน 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสโลวะเกีย
3.2 ฝ่ายสโลวะเกีย
รัฐบาล
ประธานาธิบดี
- วันที่ 15-19 มีนาคม 2544 นายไมเคิล โควาช (Michal Kovac) อดีตประธานาธิบดี สโลวะเกียและภริยา เยือนไทยเป็นการส่วนตัว
นายกรัฐมนตรี
- วันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2537 นายวลาดิมีร์ เมชาร์ (Vladimir Meciar) นายกรัฐมนตรีสโลวะเกีย เยือนไทยเป็นการส่วนตัว
รัฐมนตรี
- วันที่ 7-10 สิงหาคม 2536 นายโยเซฟ โมราฟซิค (Jozef Moravcik) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสโลวะเกีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 2-3 พฤษภาคม 2543 นายยาโรสลาฟ คเลโบ (Jaroslav Chlebo) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสโลวะเกีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 14-15 สิงหาคม 2551 นางไดอานา สโตรโฟวา (Diana Strofova) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสโลวะเกีย เยือนไทย
เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐสโลวัก - ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา มีเขตอาณาดูแลสโลวะเกีย เว็บลิงค์ >>> สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐออสเตรีย
เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสโลวักประจำไทย คือ นายวลาดีมีร์ ฮัลกัซ (Vladimir Halgas) เว็บลิงค์ >>> สถานเอกอัครราชทูต
กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในสาธารณรัฐสโลวัก สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ขึ้นที่กรุงบราติสลาวา โดยมีนายอเล็กซานเดอร์ โรซิน (Alexander Rozin) ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำสาธารณรัฐสโลวัก
ปรับปรุงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557
กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5142 Fax. 0 2643 5141 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **