วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2552
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ราชอาณาจักรภูฏาน
Kingdom of Bhutan
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทิเบต ที่เหลือติดกับอินเดีย ไม่มีทางออกทะเล
พื้นที่ 38,394 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงทิมพู (Thimphu)
เมืองสำคัญ เมืองพาโร (Paro) เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ เมืองพูนาคา (Punaka) เป็นเมืองหลวงเก่า ปัจจุบันใช้เป็นพระราชวังฤดูหนาว
ประชากร 708,265 คน ประกอบด้วย 3 เชื้อชาติ ได้แก่ 1) ชาชอฟ (Sharchops) ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออก 2) นาล็อบ (Ngalops) ชนเชื้อสายทิเบต ส่วนใหญ่อยู่ทาง
ภาคตะวันตก และ 3) โชซัม (Lhotshams) ชนเชื้อสายเนปาลส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้
ภูมิอากาศ มีความหลากหลาย บริเวณที่ราบตอนใต้มีอากาศแบบเขตร้อน บริเวณหุบเขาทางตอนกลางของประเทศมีอากาศร้อนและหนาวตามฤดูกาล ส่วนบริเวณเทือกเขาหิมาลัยมีอากาศหนาวจัดในฤดูหนาวและอากาศเย็นในฤดูร้อน
ภาษา ซงข่า (Dzongkha) เป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษใช้เป็นสื่อกลางในสถาบันการศึกษาและในการติดต่อธุรกิจ ภาษาทิเบตและภาษาเนปาลมีใช้ในบางพื้นที่
ศาสนา ศาสนาพุทธมหายาน นิกายกายุบปา (Kagyupa) ซึ่งมีลามะเช่นเดียวกับทิเบต ร้อยละ 75 (ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติชาชอฟ และนาล็อบ) และศาสนาฮินดู ร้อยละ 25 (ส่วนใหญ่เป็น
ชนเชื้อชาติโชซัมทางภาคใต้ของประเทศ)
หน่วยเงินตรา เงินงุลตรัม (Nhutrum) อัตราแลกเปลี่ยน 1 งุลตรัมประมาณ 0.72 บาท
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 5,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.8 (ปี 2554)
ระบบการปกครอง ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคซอร์ นัมเกล วังชุก (His Majesty King Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) ทรงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 แห่งภูฏาน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551
วันชาติ 17 ธันวาคม (วันคล้ายวันสถาปนาสมเด็จพระราชาธิบดีองค์แรก)
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับภูฏาน เมื่อวันที่ 14 พฤศิกายน. 2532 ความสัมพันธ์โดยทั่วไปมีความใกล้ชิดทั้งในระดับราชวงศ์ รัฐบาลและประชาชน โดยไทยมีฐานะเป็นประเทศผู้ให้และเป็นมิตรประเทศของภูฏาน ผ่านความช่วยเหลือด้านวิชาการ ในขณะที่ภูฎานให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับไทยและชื่นชมความสำเร็จในการพัฒนาประเทศของไทย และนำประสบการณ์ของไทยไปปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ และที่สำคัญ ภูฏานให้การสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศด้วยดีเสมอมา
ปัจจุบันสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงธากา (บังกลาเทศ) ดูแลประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นเขตอาณาโดยมีเอกอัครราชทูตไทยประจำภูฏาน (ถิ่นพำนัก ณ กรุงธากา) คือ นางสาวมธุรพจนา อิทธะรงค์และมีกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงทิมพู คือ Dasho Ugen Tshechup Dorji ได้รับสัญญาบัตรตราตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546
เดิมภูฏานมีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีพระมหากษัตริย์เป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล จนกระทั่งเมื่อปี 2541 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการแผ่นดินให้มีหัวหน้ารัฐบาลและสภาคณะมนตรีขึ้นบริหารประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองภูฏาน โดยเป็นการกระจายอำนาจการปกครองและลดการรวมศูนย์ไว้ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวด้วยการไม่ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลนับแต่นั้นมา
นับตั้งแต่ปี 2541 นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้ารัฐบาลคือผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณะมนตรี (Chairman of the Council of Ministers) ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกสภาคณะมนตรี (เทียบเท่าคณะรัฐมนตรี) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 10 คน และอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดลำดับ 1 - 5 จะสลับหมุนเวียนกันขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานสภาคณะมนตรีวาระละ 1 ปี
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2548 ซึ่งเป็นวันชาติภูฏาน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ และได้ประกาศจะสละราชบัลลังก์ให้กับมกุฎราชกุมารจิกมี เคซอร์ นัมเกล วังชุก เมื่อปี 2551 ซึ่งการประกาศสละราชบัลลังก์ได้สร้างความตกตะลึงให้กับ
ชาวภูฏานเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวภูฏานยังคงเชื่อมั่นและศรัทธาในระบบกษัตริย์ และยังต้องการให้ภูฏานปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป เพราะเกรงว่าระบอบประชาธิปไตย อาจก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายและการฉ้อราษฎร์บังหลวงภายในประเทศเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2549 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงประกาศสละราชสมบัติให้แก่มกุฎราชกุมารจิกมี เคซอร์ นัมเกล วังชุก ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก ซึ่งเร็วขึ้นจากเดิม 2 ปี เนื่องจากทรงเห็นว่า ภูฏานกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
ดังนั้น จึงจำเป็นที่มกุฎราชกุมารฯ จะต้องเรียนรู้ประสบการณ์ที่แท้จริงในการปกครองประเทศ และ
การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในฐานะพระประมุข ต่อมา รัฐบาลภูฏานจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสถาปนามกุฎราชกุมารจิกมี เคซอร์ นัมเกล วังชุก ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก (Wangchuck) ราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไปของภูฏานนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากภูฏานจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโลกและปัญหาท้าทายใหม่ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภูฏานได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2550 โดยพร้อมประกาศใช้ในปี 2551ซึ่งเป็นปีที่ภูฏานจะจัดพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ภายใต้การปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ และอำนาจบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรี โดยให้มีระบบรัฐสภาที่มี 2 พรรคการเมืองสำคัญ
ภูฏานได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2550 และเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2551 ภูฏานได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้เทนราษฎรครั้งแรก ส่งผลให้ภูฏานกลายเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ การเลือกตั้งดังกล่าวมีพรรคการเมืองลงแข่งขัน 2 พรรค ได้แก่ พรรค Druk Phuensam Tshogpa (DPT) นำโดย Lyonpo Jigmi Thinley (เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภูฏาน) และพรรค People’s Democratic Party (PDP) นำโดย Lyonpo Sangay Ngedup (เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรภูฏาน) ผลปรากฏว่า พรรค DPT ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น (สมาชิกของพรรค DPT ได้รับเลือกใน 45 เขต จากทั้งหมด 47 เขต โดยที่ Lyonpo Sangay Ngedup มิได้รับเลือกในเขตของตน) จากนั้น Lyonpo Jigmi Thinley ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของภูฏานที่มาจากการเลือกตั้ง และเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็น Lyonchoen Jigmi Thinley (Lyonchoen เป็นคำนำหน้าชื่อของนายกรัฐมนตรี)
1.2 เศรษฐกิจ
มูลค่าการค้าทวิภาคีไทย-ภูฏานในปี 2554 มีปริมาณน้อยมาก โดยมีมูลค่ารวม 18.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 18.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยไทย เป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 18.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ในครัวและบ้านเรือน เตาอบ ไมโครเวฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสายไฟฟ้า ในขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ ผัก ผลไม้
และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้
ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูฏาน ส่วนหนึ่งมาจากการมีธรรมรัฐ (good governance) และการที่ข้าราชการได้รับค่าตอบแทนสูง ภูฏานเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเก็บภาษีน้อยที่สุด รายได้จากการเรียกเก็บภาษีคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของรายได้รัฐบาล และภาษีจากภาคธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 3 เท่านั้น ส่วนรายได้ที่เหลือเป็นรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำให้แก่อินเดีย เงินปันผล ค่าภาคหลวง ภาษีสรรพสามิต และรายได้จากสาธารณูปโภค
แม้ภูฏานเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคง และมีดุลการชำระเงินดี แต่ภูฏานต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล หรือประมาณร้อยละ 33 ของ GDP ขณะนี้ ภูฏานอยู่ระหว่างการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ โดยเป็นการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความช่วยเหลือจากธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือจากตะวันตกและญี่ปุ่น เศรษฐกิจของภูฏานยังคงมีความผูกพันกับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าและเงินกู้แก่ภูฏานอยู่มาก
1.3 การลงทุน
ภูฏานมีศักยภาพที่นักธุรกิจไทยสามารถไปลงทุนได้ใน 2 สาขา คือ การก่อสร้างและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ ถนน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งไทยสามารถเข้าไปร่วมพัฒนาด้านนี้ได้ และในปัจจุบันมีโครงการลงทุนด้านการโรงแรมของไทยในภูฏาน (Haven Resort Paro)
ภูฎานมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีความสวยงามตามธรรมชาติและได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาที่นิยมการท่องเที่ยวในเชิงนิเวศวิทยา (eco-tourism) ซึ่งนักธุรกิจไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจด้านการโรงแรม ที่พักตากอากาศขนาดกลาง ธุรกิจสปา และร้านอาหารไทย เพื่อบริการนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันรัฐบาลภูฏานยังมีนโยบายจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
1.4 การท่องเที่ยว
ในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวภูฏานเดินทางเที่ยวประเทศไทย 16,423 คน และนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปภูฏาน ประมาณ 700 คน ไทยเป็นจุดหมายเดินทางที่สำคัญของชาวภูฏานที่มีฐานะดี รวมถึงสมาชิกราชวงศ์ของภูฏานที่เดินทางมาเพื่อจับจ่ายใช้สอย และรับบริการต่างๆ ในไทย โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลเนื่องจากสายการบิน Druk Air มีเส้นทางการบินมาไทยทุกวัน ขณะเดียวกัน
มีนักศึกษาชาวภูฏานศึกษาระดับปริญญาตรี/โท ในไทยเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่าการศึกษาในประเทศตะวันตก รวมทั้ง ฝ่ายไทยได้ให้ทุนการศึกษาเป็นจำนวนมาก
1.5 ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
ไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์ใก้ล้ชิด เนื่องจากทั้งสองประเทศมีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีความคล้ายคลึงในด้านวัฒนธรรม และต่างไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศใด
สังคมของภูฏานเป็นสังคมเกษตรกรรมที่เรียบง่าย ประชาชนดำเนินชีวิตตามวิถีทางพุทธศาสนานิกายมหายาน และยังคงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่มีมาช้านาน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากพระราโชบายของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก พระราชบิดาของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันที่ต้องการให้ภูฏานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของตนไว้ เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนภูฏานใส่ชุดประจำชาติ การอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น และสถาปัตยกรรมแบบภูฏาน ทั้งนี้ แม้จะมีนโยบายเปิดประเทศ แต่ภูฏานก็สามารถอนุรักษ์จารีตประเพณีทางสังคมไว้ได้
นอกจากนี้ ไทยและภูฏาน มีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมอยู่เสมอ อาทิ การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระทันตธาตุ) จากภูฏานมาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2554 – 17 กุมภาพันธ์ 2555 การสร้างพระพุทธรูปลีลาวดีเฉลิม พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงทิมพู และการอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ ประเทศภูฏาน เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 พฤศิกายน 2554 เป็นต้น
1.6 ความรวมมือด้านวิชาการ
รัฐบาลไทยได้เริ่มให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศภูฏานเมื่อปี 2535 โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ (1) ความร่วมมือทวิภาคี (Bilateral Programme) (2) หลักสูตรฝึกอบรมประจำปี (Annual International Training Course Programme - AITC) (3) หลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ (Thai International Post Graduate Programme - TIPP) (4) ความร่วมมือไตรภาคี (Trilateral Programme) (5) การฝึกอบรมประเทศที่สาม (Third Country Training Programme)
ในปี 2553 สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) และ Royal Civil Service Commission (RCSC) ของภูฏานได้ร่วมกันจัดทำโปรแกรมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย-ภูฏาน (2553 – 2555) เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ซึ่งการดำเนินงานภายใต้โปรแกรมดังกล่าว แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) ทุนภายใต้ความร่วมมือทวิภาคี ประกอบด้วยทุนระยะยาวและทุนอบรมระยะสั้น จำนวน 270 ทุน (2) โครงการความร่วมมือใหม่ (3) ความร่วมมือด้านอาสาสมัคร และ (4) การสนับสนุนการจัดตั้ง Thai Alumni Association ในภูฏาน
1.7 ทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ
ทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงริเริ่มปรัชญาในการพัฒนาประเทศที่เรียกว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” โดยความคิดดังกล่าวเน้นการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนมีความสุขและความพึงพอใจมากกว่าการวัดระดับการพัฒนาด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ทั้งนี้ พระองค์ได้ข้อสรุปจากบทเรียนความผิดพลาดในการพัฒนาของโลกในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา และเห็นว่าประเทศจำนวนมากเข้าใจว่าการพัฒนาคือ การแสวงหาความสำเร็จทางวัตถุเพียงอย่างเดียว ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้แลกความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจกับการสูญเสียวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่ดีทางธรรมชาติ และเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งหลายประเทศได้พิสูจน์แล้วว่าประชาชนไม่ได้มีความสุขที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติมิได้ปฏิเสธการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาด้านต่างๆ ควรมีความสมดุลกัน โดยรัฐบาลภูฏานได้พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้ประชาชนสามารถแสวงหาและได้รับความสุขโดยยึดหลักแนวคิดดังกล่าวเป็นพื้นฐานเพื่อให้สามารถรับมือกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองต่อสิ่งท้าทายของโลก โดยมีหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน 2) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 3) การส่งเสริมวัฒนธรรม และ 4) ธรรมรัฐ ซึ่งหลักการทั้ง 4 ได้ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายและแผนงานของรัฐบาลทุกด้าน
ในทางปฏิบัติ ภูฏานได้บรรจุแนวคิดนี้ในแผนพัฒนาประเทศระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2542 (แผนพัฒนาประเทศ (5 ปี) ฉบับที่ 1 เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2504) โดยเน้นการพัฒนาในทุกสาขาของสังคมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญด้านสาธารณสุข การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน การขจัดปัญหาสังคมและความยากจน พร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยทั้งหมดจะดำรงอยู่ด้วยกันตามหลักพุทธศาสนามหายาน
2. การเยือนที่สำคัญ
2.1 ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- พฤษภาคม 2531
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- มิถุนายน 2534
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- มิถุนายน 2550
รัฐบาล
- พฤศจิกายน 2532 ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อ
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
- กันยายน 2547 นายสรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- 4 – 5 มิถุนายน 2548 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
- 8 – 11 มีนาคม 2550 นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- 25 – 29 กันยายน 2550 นายอภัย จันทนจุลก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
- 9 – 14 กันยายน 2552 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- 1 – 5 กันยายน 2553 นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- 21 – 25 ตุลาคม 2553 นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา
- 14 – 16 มกราคม 2554 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
2.2 ฝ่ายภูฏาน
พระราชวงศ์
สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก
- มีนาคม 2546 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์เพื่อทอดพระเนตรโครงการหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ (เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศมกุฎราชกุมาร)
- 11 – 20 มิถุนายน 2549 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศมกุฎราชกุมาร)
- 14 มิถุนายน 2549 ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ณ
ท่าอากาศยานกองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ณ พระตำหนักจักรีบงกช
- 24 พฤศจิกายน 2549 เสด็จฯ เยือนงานพืชสวนโลก จังหวัดเชียงใหม่
- 25 พฤศจิกายน 2549 รับพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- 26 พฤศจิกายน 2549 เข้าร่วมพิธีถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยรังสิต (เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศมกุฎราชกุมาร)
- 27 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม 2554 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์
- 13 – 30 พฤศจิกายน 2554 เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ผ่านประเทศไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา และพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ และรับการถวายเลี้ยงพระกระยาหารกลางวัน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554
รัฐบาล
- กรกฎาคม 2532 เลียนโป ดาวา เชอริ่ง (Lyonpo Dawa Tsering) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศ
- กรกฎาคม 2541 เลียนโป จิกมี วาย ทินเลย์ (Lyonpo Jigmi Y Thinley) นายกรัฐมนตรี
ในฐานะแขกของ กระทรวงการต่างประเทศ
- ก.ค. 2544 เลียนโป จิกมี วาย ทินเลย์ (Lyonpo Jigmi Y Thinley) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ และได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้นำคณะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2544
- 29 – 31 กรกฎาคม 2547 เลียนโป จิกมี วาย ทินเลย์ (Lyonpo Jigmi Y Thinley) นายกรัฐมนตรี และเลียนโป กานดุ วังชุก (Lyonpo Khandu Wangchuck) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BIMSTEC ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพฯ
- 16 – 18 มกราคม 2549 เลียนโป วังดิ นอร์บุ (Lyonpo Wangdi Norbu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเชิญผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม RTM for Bhutan รอบที่ 9 ณ นครเจนีวา
- 25 – 27 พฤศจิกายน 2550 เลียนโป คินซาง ดอร์จิ (Lyonpo Kinzang Dorji) รักษาการนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง Works and Human Settlement ในฐานะแขกของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อกล่าวเปิดการประชุม The 3rd International Conference on Gross National Happiness ที่กรุงเทพฯ
- 4 – 12 ธันวาคม 2550 ดาโช เพ็นจอร์ (Dasho Penjore) เลขาธิการพระราชวัง ในฐานะแขกของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา เพื่อเยี่ยมชมและดูงานโครงการหลวงต่าง ๆ
- 30 กันยายน 2551 เลียนเชน จิกมิ วาย ทินเลย์ (Lyonchoen Jigmi Y Thinley) นายกรัฐมนตรีเข้าถวายพวงมาลาหน้าพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ระหว่างการแวะพักเปลี่ยนเครื่องบินที่ไทยเพื่อเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติ
- 22 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2552 เลียนโป ชางกับ ดอร์จี (Lyonpo Chenkyab Dorji) ประธานสภาองคมนตรี เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เข้าเฝ้าหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี และเยี่ยมชมโครงการหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่/กรมศิลปากร และเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- 18 ตุลาคม 2553 เลียนโป คินซาง ดอร์จิ (Lyonpo Kinzang Dorji) อดีตนายกรัฐมนตรี
ในฐานะผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของนายกรัฐมนตรีภูฏาน เพื่อบรรยายในหัวข้อ “Sustainable Development through Gross National Happiness (GNH)” ในงาน “Thailand Sustainable Development Symposium” ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 96 ปี ของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
- 23 – 26 ธันาวาคม 2553 นายนัมเก เพ็นจอร์ (Namgye Penjore) ประธานสภาที่ปรึกษา
แห่งชาติภูฏาน เยือนประเทศไทย
- 22 – 24 พฤษภาคม 2554 เลียนเชน จิกมิ วาย ทินเลย์ (Lyonchoen Jigmi Y Thinley) นายกรัฐมนตรีภูฏาน เดินทางเข้าร่วมการประชุมประจำปีของ UNESCAP สมัยที่ 67 ณ กรุงเทพฯ
- 5 มีนาคม 2555 เลียนโป คินซาง ดอร์จิ (Lyonpo Kinzang Dorji) อดีตนายกรัฐมนตรีภูฏาน ในฐานะผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของนายกรัฐมนตรีภูฏาน เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
3. ข้อมูลที่น่าสนใจ
3.1 สถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นสถาบันที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวภูฏาน โดยเฉพาะสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (พระราชบิดาของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน) ทรงเป็นที่เคารพรักของประชาชนมาก เนื่องจากทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา และทรงมีความเป็นกันเองในการเสด็จเยี่ยมราษฎรและการเข้าถึงประชาชน
3.2 ทั้งสองประเทศต่างมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงวางแนวทางการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เช่น แนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ แนวปรัชญาความสุขมวลรวมในประเทศ (Gross National Happiness – GNH) ของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน ซึ่งมีความใกล้เคียงและสอดคล้องกัน
3.3 เอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏานอย่างเป็นทางการ และได้อัญเชิญของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ รวมถึงของขวัญจากนายกรัฐมนตรีในนามรัฐบาลและประชาชนชาวไทยไปถวายสมเด็จพระราชาธิบดีฯ ด้วย
3.4. สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ (พระทันตธาตุ) จากภูฏานมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2554 – 17 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัยในประเทศไทย โดยได้มีพุทธศาสนิกชน ชาวไทยเดินทางไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุกว่า 1,000,000 คน
---------------------------------------------
กองเอเชียใต้
พฤษภาคม 2555
กองเอเชียใต้ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5043
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **