วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2552
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐอินเดีย
Republic of India
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ทิศเหนือติดกับจีน เนปาล และภูฏาน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับปากีสถาน
ทิศตะวันตกเฉียงใต้และ ตะวันออกเฉียงใต้ติดกับมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับพม่าทิศตะวันออกติดกับบังกลาเทศ
พื้นที่ 3,287,590 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
เมืองหลวง กรุงนิวเดลี (New Delhi)
ประชากร 1.21 พันล้านคน (มากเป็นอันดับ 2 ของโลก)
ภูมิอากาศ มีสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันอย่างมาก เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่ ตอนเหนืออยู่ในเขตหนาว ขณะที่ตอนใต้อยู่ในเขตร้อน ทางเหนือมีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน คือ แม่น้ำสินธุและคงคา จึงอุดมสมบูรณ์ กว่าตอนใต้ ซึ่งมีแต่แม่น้ำสายสั้นๆ อุณหภูมิเฉลี่ยในที่ราบช่วงฤดูร้อน ประมาณ 35 องศาเซลเซียส และฤดูหนาว ประมาณ 10 องศาเซลเซียส
ภาษาราชการ ภาษาฮินดีเป็นภาษาที่ใช้โดยประชาชนส่วนใหญ่ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ในวงราชการและธุรกิจ นอกจากนั้น ยังมีภาษาท้องถิ่นอีกนับร้อยภาษา แต่ที่ใช้กันมากมี 14 ภาษา อาทิ อูรดู เตลูกู เบงกาลี ทมิฬ และปัญจาบี
ศาสนา ฮินดู ร้อยละ 81.3 มุสลิม ร้อยละ 12 คริสต์ ร้อยละ 2.3 ซิกข์ ร้อยละ 1.9 อื่น ๆ (พุทธและเชน) ร้อยละ 2.5
วันชาติ วันที่ 26 มกราคม (Republic Day)
หน่วยเงินตรา รูปี (Rupee) (อัตราแลกเปลี่ยน 1 รูปี เท่ากับประมาณ 0.647 บาท) (ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2554)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 1,367 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2553)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 3,862 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2553)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 8.2 (ปี 2553)
ระบอบการปกครอง สาธารณรัฐ (Federal Republic) อำนาจการปกครองแบ่งเป็น 28 รัฐ และดินแดนสหภาพ (Union Territories) อีก 7 เขต แยกศาสนาออกจากการเมือง (secular state) โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นางประติภา ปาทิล (Pratibha Patil) เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 และนายมานโมฮัน ซิงห์ (Manmohan Singh) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2552 (เป็นสมัยที่ 2)
นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
1.การเมืองการปกครอง
พรรคคองเกรสและพันธมิตร (United Progressive Alliance - UPA) นำโดย นางโซเนีย คานธี (Sonia Gandhi) ซึ่งมีนายมานโมฮัน ซิงห์ เป็นนายกรัฐมนตรี ชนะการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 15 ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก เมื่อเดือน 16 เมษายน ถึงพฤษภาคม 2552 โดยมีเสียงสนับสนุน 322 เสียงจากทั้งหมด 543 เสียงในโลกสภาส่งผลให้พรรคคองเกรสสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของ อินเดีย โดยมีนโยบายในการบริหารประเทศ สรุปได้ ดังนี้
1.1 นโยบายภายในประเทศ
1.1.1 การกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิต การแปรรูป รัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปภาคการเงิน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสาขาพลังงาน ทางรถไฟ ถนน และการบิน โดยมีเป้าหมายที่จะเร่งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 8-9) ซึ่งประสบความสำเร็จ
1.1.2 การเพิ่มความเข้มงวดกับมาตรการรักษาความมั่นคงภายในและการคงไว้ซึ่งความเป็น เอกภาพของสังคมต่างศาสนา
1.1.3 การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสร้างงาน/สวัสดิการในชนบท ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ อาทิ โครงการประกันตำแหน่งงานในชนบท การเพิ่มวงเงินกู้ยืมด้านการเกษตร
1.1.4 การปฏิรูปภาครัฐ
1.1.5 การสานต่อนโยบายความมั่นคงทางพลังงานและการดูแลสิ่งแวดล้อม
1.2 นโยบายต่างประเทศ
อินเดียยังคงดำเนินตามทิศทางเดิม โดยให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นลำดับแรกตามนโยบาย neighborhood diplomacy (เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ โดยเฉพาะปากีสถาน) การให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ยุโรป เอเชียตะวันออก และอาเซียน ตามนโยบาย มุ่งตะวันออก (Look East Policy) ตลอดจนการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นพันธมิตรดั้งเดิม และมีความผูกพันทางประวัติศาสตร์ เช่น รัสเซียและตะวันออกกลาง การส่งเสริมความร่วมมือกับมิตรประเทศใหม่ ๆ เช่น แอฟริกา ลาตินอเมริกา และแคริบเบียน ในช่วงที่ผ่านมา อินเดียถูกจับตามองจากมหาอำนาจในภูมิภาคและมหาอำนาจของโลกเนื่องจากมีบทบาท ที่ชัดเจนมากขึ้นในการนำประเทศไปสู่การเป็นมหาอำนาจของโลกในศตวรรษที่ 21โดยมีจุดยืนการดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นของตนเอง ส่งเสริมค่านิยม Multilateralism และ Multi-polar World มีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement – NAM) กลุ่ม G77 และ กลุ่มประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ (Brazil, Russia, India, China, South Africa – BRICS countries) นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทแข็งขันในเวทีระหว่างประเทศ ต่างๆ อาทิ องค์การสหประชาชาติ (United Nations – UN) กลุ่ม G8 กลุ่ม G20 เป็นต้น รวมทั้งเป็นหนึ่งในกลุ่ม G4 รณรงค์เพื่อการเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) ทั้งนี้ ปัจจัยเด่นที่สนับสนุนการเป็นมหาอำนาจของอินเดีย คือ เป็นประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและใหญ่ที่สุดในโลก มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มีทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ และเป็นกระบอกเสียง ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในหลายโอกาส ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จึงเร่งกระชับและรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับอินเดีย เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในบริบทปัจจุบัน
2. ผลงานของรัฐบาลอินเดียในรอบปี 2553
พรรคคองเกรสและพันธมิตร UPA ยังคงสามารถรักษาคะแนนนิยมจากประชาชนได้ในห้วงปี 2553 ที่ผ่านมา เนื่องจาก (1) รัฐบาลประสบผลสำเร็จในการรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อ เนื่อง (ร้อยละ 8) (2) รัฐบาลเน้นโครงการพัฒนาสวัสดิการและโอกาสทางสังคมสำหรับประชาชนในชนบท อาทิ การปฏิรูปเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องประชาชน การก่อการร้าย การปราบปรามการทุจริตในวงราชการ ปัญหาการว่างงาน การดูแลสวัสดิการของประชาชนระดับรากหญ้า การคงไว้ซึ่งค่านิยมการไม่ยึดถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นหลัก (secular values) และ (3) ปัญหาความแตกแยกของพรรคฝ่ายค้านหลัก ได้แก่ พรรค Bharatiya Janata Party (BJP) และพรรคฝ่ายซ้ายต่างๆ ที่สนับสนุนพรรคคองเกรสและพันธมิตรในทางการเมือง
นโยบายสำคัญของรัฐบาลอินเดียคือ การส่งเสริมและพัฒนาความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในทุกชนชั้น วรรณะ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความเจริญอย่างยั่งยืนของอินเดีย โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างความสำนึกให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมกับการพัฒนาประเทศ ได้แก่ (1) กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิต การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปภาคการเงิน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสาขาพลังงาน รถไฟ ถนน และการบิน (2) เพิ่มความเข้มงวดกับมาตรการรักษาความมั่นคงภายในและการรักษาความเป็นเอกภาพ ของสังคมต่างศาสนา (3) เน้นการปฏิรูปภาครัฐ และเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสร้างงาน/สวัสดิการในชนบทซึ่งเป็น ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (ราวร้อยละ 70) (4) เร่งการสานต่อนโยบายความมั่นคงทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม (5) การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับประชาคมระหว่าง ประเทศในช่วงปีแรกของของรัฐบาลอินเดีย (สมัยที่สอง) UPA ได้เร่งรัดและผลักดันการดำเนินโครงการสำคัญต่างๆ โครงการที่เห็นผลเป็นรูปธรรมคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท โครงการประกันการจ้างงานในชนบท โครงการสนับสนุนสวัสดิการด้านสาธารณสุขในชนบท การเพิ่มผลผลิตการเกษตรตามนโยบายการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การบัญญัติกฎหมายด้านการศึกษาซึ่งให้สิทธิแก่เยาวชนเรียนฟรีถึงระดับมัธย ศึกษา โครงการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสและปรับปรุงสวัสดิการให้แก่วรรณะชั้น ต่ำ ชนเผ่าและชนชั้นล้าหลัง (ซึ่งต่ำกว่าวรรณะชั้นต่ำ) และสตรี โดยรัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐจัมมูร์และแคชเมียร์ และ Bundelkhand ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาความยากจนของประเทศ
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอินเดียยึดหลักความสอดคล้องกับผล ประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคง การพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค รัฐบาลยึดมั่นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศมหาอำนาจและมิตรประเทศในโลกกำลังพัฒนา เนื่องจากตระหนักดีว่าศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษแห่งเอเชีย โดยอินเดียก็จะมีบทบาทสำคัญในช่วงเวลานี้ด้วย
2.1 การเมือง : การเผชิญหน้ากับปัญหาสำคัญทางการเมือง
2.1.1 ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของบุคคลระดับสูงในคณะรัฐบาล ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องหามาตรการฟื้นฟูความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนและ เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีอินเดียได้เสนอที่จะจัดตั้งกลไกในการแก้ไขปัญหาการ ทุจริตคอร์รัปชั่นโดยในการประชุมภายในของพรรคคองเกรสเมื่อปลายปี 2553 นางโซเนียฯ ได้ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียได้ปรับคณะรัฐมนตรีแล้วล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2554 (จำนวน 30 ตำแหน่ง) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่ดูแลรับผิดชอบกระทรวงด้านเศรษฐกิจ
2.1.2 ปัญหาเรื่องราคาอุปโภคบริโภคสูงขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านใช้โจมตีรัฐบาลและส่งผลให้รัฐบาล UPA ได้รับความนิยมลดน้อยลง อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจ คนอินเดียก็ยังเห็นว่าพรรคคองเกรสยังเป็นพรรคการเมืองที่เหมาะสมที่สุดที่จะ บริหารประเทศ แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านจะพยายามโจมตีจุดอ่อนของรัฐบาลเพื่อสร้างกระแสความนิยม และพยายามแสวงหาพันธมิตรทางการเมืองเพิ่มเติมแต่พรรค BJP ยังไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งและความเป็นปึกแผ่นให้กับพรรคฝ่ายค้านใน ภาพรวมได้ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน ก็แบ่งเป็น 2 กลุ่มสำคัญคือ พรรค BJP กับพรรคฝ่ายซ้าย ซึ่งต่างแย่งชิงพันธมิตรระหว่างกันเอง
2.2 ความมั่นคง : รัฐบาลอินเดียมีผลงานที่ดีในการแก้ไขปัญหากลุ่มนิยมลัทธิเหมา (กลุ่ม Naxalite) ดังเห็นได้จากการก่อเหตุในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ลดน้อยลง แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและการประสานงานที่ดีระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาล ระดับรัฐที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกเฉียง เหนือมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจาก (1) แกนนำของกลุ่ม ULFA (รัฐอัสสัม) ถูกจับกุมตัว (2) อินเดียได้รับความร่วมมือที่ดีจากรัฐบาลบังคลาเทศ จนทำให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เคยใช้บังคลาเทศเป็นฐาน ไม่มีที่พักพิง อ่อนแอลง และยินยอมที่จะเจรจากับรัฐบาลอินเดีย อย่างไรก็ดี ประเด็นด้านความมั่นคงที่ยังน่าห่วงกังวลและยังคงเป็นภารกิจหลักของรัฐบาล อินเดียในปี 2554 คือ (1) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงใน ปากีสถานและอัฟกานิสถาน ได้แก่ กลุ่ม Lashkar-e-Taiba (LeT) ซึ่งมีฐานที่มั่นในปากีสถานและมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์ (2) กลุ่ม Indian Mujahideen ซึ่งเป็น homegrown terrorist ที่ถูกแสวงประโยชน์จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม (3) กลุ่ม LTTE ซึ่งมีข่าวว่ากลับมาใช้รัฐทมิฬนาฑูทางภาคใต้ของอินเดียเป็นฐานในการเคลื่อน ไหวต่อต้านรัฐบาลศรีลังกา และมีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม LeT และกลุ่มอัลกออิดะห์
2.3 เศรษฐกิจ : เศรษฐกิจอินเดียในปี 2553 ฟื้นตัวจากผลกระทบจากวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ภายหลังที่รัฐบาลอินเดียออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์ ดังกล่าวอันนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการขาดดุลงบประมาณ โดยเพิ่มจากร้อยละ 3.1 ในปีงบประมาณ 2550-2551 เป็นร้อยละ 7.5 ในปีงบประมาณ 2551-2552 และคาดว่าในปีงบประมาณ 2553-2554 งบประมาณขาดดุลจะอยู่ที่ร้อยละ 6.6 ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2553-2554 เศรษฐกิจอินเดียเจริญเติบโตที่ร้อยละ 8.8 โดยกระทรวงการคลังอินเดียคาดการณ์ว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ
ปีงบประมาณ 2553-2554 จะอยู่ที่ร้อยละ 8.5 เป็นอย่างน้อย เมื่อเทียบกับร้อยละ 7.4 ในปีงบประมาณ 2552-2553 โดยรัฐบาลอินเดียยังคงให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและการ กระจายผลประโยชน์ของอัตราการเจริญเติบโตให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนในประเทศ
2.4 ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและนานาประเทศ : ปี 2553 เป็นปีที่ผู้นำจากประเทศมหาอำนาจของโลกเดินทางมาเยือนอินเดียทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีจีน และประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและสถานะทางการเมืองและเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งมีความสำคัญในเวทีโลกและได้รับการยอมรับจากประเทศมหาอำนาจ ทั้งนี้ ในระหว่างการเยือนอินเดียของผู้นำจากมหาอำนาจทั้ง 5 ประเทศ ล้วนต่างมีประเด็นสำคัญในเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและข้อตกลงด้านการ ค้าการลงทุนระหว่างเอกชน-เอกชน และรัฐ-รัฐ ซึ่งมีมูลค่ามากหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินเดียเป็นที่สนใจของประเทศตะวันตก คือ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับอินเดียจะมีส่วนช่วยพยุงสถานะทางเศรษฐกิจของ ประเทศตะวันตกและต้องการให้อินเดียคานอำนาจกับจีน
บทบาทและสถานะของอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถูกท้าทายโดยจีน ซึ่งมุ่งกระชับความสัมพันธ์และให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านของ อินเดียในเอเชียใต้เกือบทุกประเทศ (ยกเว้นภูฏาน) โดยเฉพาะการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมระหว่างจีนกับเอเชียใต้ อาทิ ความเคลื่อนไหวของจีนในการช่วย ปากีสถาน สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โครงการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างมณฑลซินเกียงกับเมืองการาจี ขณะที่ บังกลาเทศ ให้สัมปทานจีนในการสำรวจน้ำมันและการใช้ท่าเรือเมืองจิตตะกองซึ่งจะส่งผลให้ จีนสามารถลงสู่อ่าวเบงกอลและเข้าถึงแหล่งน้ำมันใน พม่า ได้ง่ายขึ้น ขณะที่ใน ศรีลังกา จีนมีโครงการลงทุนพัฒนาท่าเรือ Hambantota และท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ในกรุงโคลัมโบโดยจีนเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ รายใหญ่ที่สุดของศรีลังกา (มูลค่ากว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในส่วนของ เนปาล จีนมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญหลายโครงการ อาทิ การสร้างถนนเชื่อมต่อทิเบตกับเมือง Syabrubesi ของเนปาล ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จ ก็จะเป็นถนนสายแรกที่สามารถเชื่อมจีนกับกรุงนิวเดลี ด้วยเหตุนี้ อินเดียจึงจำเป็นต้องเร่งรักษาสมดุลของบทบาทและสถานะของตนในภูมิภาคจากการ รุกคืบของจีน
ความสัมพันธ์กับปากีสถานยังคงมีปัจจัยด้านความมั่นคงเป็นปัญหาหลัก ในช่วงปีที่ผ่านมา ปากีสถานยังไม่ตอบสนองต่อข้อห่วงกังวลของอินเดีย แม้จะได้รับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ก็ตาม โดยปากีสถานยังไม่ได้แสดงท่าทีที่จริงจังในการนำตัวผู้ก่อการร้ายใน เหตุการณ์ที่เมืองมุมไบมาดำเนินคดี รวมถึงการจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายที่มีฐานอยู่ในปากีสถานตามคำเรียกร้องของ อินเดีย อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์อินเดีย-ปากีสถานมีพัฒนาการเชิงบวก ภายหลังจากการพบปะระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย ในระหว่างการประชุม SAARC 38th Session of the Standing Committee ที่กรุงทิมพู ประเทศภูฏาน
ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน และการขยายบทบาทของจีนในภูมิภาคเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย เป็นประเด็นที่อินเดียต้องเร่งรักษาการสร้างสมดุล เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อความมั่นคงของอินเดีย อีกทั้งยังส่งผลถึงเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองภายในและภูมิภาคและ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียใต้โดยรวมด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอินเดีย
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดีย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2490 โดยในระยะแรกเป็นระดับอัครราชทูต ต่อมา ได้ยกระดับขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2494ปัจจุบัน นายพิศาล มาณวพัฒน์ ดำรงตำเเหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินเดีย โดยเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 ไทยมีสถานเอกอัครราชทูตตั้งอยู่ที่กรุงนิวเดลี และมีสถานกงสุลใหญ่อีก 3 แห่ง ที่เมืองกัลกัตตา (Kolkata) เมืองมุมไบ (Mumbai) และเมืองเจนไน (Chennai)
ขณะที่อินเดียมีสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ สถานกงสุลประจำจังหวัดเชียงใหม่ และ สถานกงสุลประจำจังหวัดสงขลา โดยมีนายพินัก รัญชัน จักรวรรติ (Pinak Ranjan Chakravarty) เป็นเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย
1.2 การเมือง
ไทยดำเนินนโยบายมุ่งตะวันตก (Look West Policy) ซึ่งให้ความสำคัญกับอินเดียในฐานะมหาอำนาจและเป็นตลาดการค้าที่มีศักยภาพมาก ที่สุดในเอเชียใต้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมุ่งตะวันออก (Look East Policy) ของอินเดีย ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออก
เฉียงใต้/เอเชียตะวันออก รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
รัฐบาลไทยได้เสริมสร้างความสัมพันธ์กับอินเดียในลักษณะหุ้นส่วนที่เข้มแข็ง (Enhanced Partnership) เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย โดยไทยต้องการให้อินเดียมีบทบาทเพิ่มขึ้นในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ประชาคมเอเชีย และยกบทบาทของเอเชียในเวทีโลก โดยมีจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน เป็นเสาหลัก และทำให้โลกเป็น Multi-polar World ตลอดจนต้องการให้อินเดียมีบทบาทในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงใน ภูมิภาคเอเชีย อาทิ ความร่วมมือในกระบวนการส่งเสริมประชาธิปไตยในพม่า ขณะที่อินเดียสนใจขยายความสัมพันธ์กับไทย เนื่องจากประสงค์ให้ไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ่าวไทย และทะเลจีนใต้ ทั้งในด้านการเมือง และเศรษฐกิจ รวมทั้งการมีความร่วมมือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับไทย
สำหรับกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation - JC) จัดตั้งเมื่อปี 2532 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และมีการประชุมแล้ว 5 ครั้ง ล่าสุด การประชุมครั้งที่ 5 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2550 โดยอินเดียมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JC ครั้งที่ 6 ในเดือนตุลาคม 2554
1.3 ความมั่นคง
อินเดียมีปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ อันมีสาเหตุมาจากความแตกต่างทางด้านเผ่าพันธุ์ ชนชั้นวรรณะ และการนับถือศาสนาของประชาชน รวมทั้งยังมีปัญหาขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียใต้ในเรื่องพรมแดน ปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมาย อาชญากรรมต่าง ๆ และปัญหาการก่อการร้าย
อันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านศาสนาและข้อพิพาทเรื่องดินแดนด้วย
อินเดียประสงค์ร่วมมือกับประเทศไทยในด้านความมั่นคงมาโดยตลอด และพยายามผลักดันที่จะมีความร่วมมือด้านความมั่นคงในลักษณะถาวร (Institutionalize) กับไทย เนื่องจากในอดีตอินเดีย เชื่อว่าไทยเป็นฐานหรือทางผ่านสำหรับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอินเดีย นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศเปิดและดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่มีความขัดแย้งกับประเทศใด ตลอดจนการมีบทบาทนำของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน รวมทั้งเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงใน ภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) และมีบทบาทอย่างแข็งขันในความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อต้นปี 2546 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านความมั่นคง ไทย - อินเดีย (Thailand – India Joint Working Group on Security Cooperation) โดยฝ่ายไทยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะ และฝ่ายอินเดียมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย (รับผิดชอบด้านความมั่นคง) เป็นหัวหน้าคณะ ทั้งนี้ มีการประชุมกันแล้ว 5 ครั้ง ล่าสุด อินเดียเสนอจัดประชุมฯ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2554 นี้
อินเดียให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง โดยเฉพาะประเด็นการเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนอินเดีย การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และความมั่นคงทางทะเล
สำหรับความร่วมมือด้านการทหาร ไทยและอินเดียมีการลาดตระเวนร่วมระหว่างกองทัพเรือ
ตลอดจนการฝึกร่วมระหว่าง กองทัพบก กองทัพเรือ (ภายใต้รหัส “ไมตรี”) และ กองทัพอากาศ (ภายใต้รหัส “สยาม-ภารตะ”) นอกจากนี้ ไทยและอินเดียยังอยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ด้านการทหารด้วย
1.4 เศรษฐกิจ
ไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับ อินเดีย โดยคำนึงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินเดีย ทั้งในแง่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและขนาดของตลาด ตลอดจนความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อินเดีย มีตลาดสินค้าบริโภคขนาดใหญ่ในประเทศ(กว่าร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของอินเดียเป็นการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ) มีประชากรที่มีรายได้ระดับกลางและสูงประมาณ 300 ล้านคน มีศักยภาพด้านธุรกิจบริการ เทคโนโลยีสารสนเทศและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการบริการของโลก
1.4.1 ด้านการค้า อินเดียเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญที่สุดของไทย ในปี 2553 อินเดียเป็นคู่ค้าหลักอันดับที่ 17 ของไทย และเป็นอันดับที่ 1 ของไทยในเอเชียใต้ โดยการค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง มูลค่าการค้ารวมสองฝ่ายปี 2553 (6,646 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 34.23 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 2,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2552 มูลค่าการค้าคือ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้สองฝ่ายตั้งเป้าการค้า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2555 และสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมด้านการค้า สินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (กรอบการเจรจาฯ อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของรัฐสภา) ส่วนความตกลง การค้าเสรีภายใต้ กรอบอาเซียน-อินเดีย ได้ลงนามแล้วเมื่อ 13 สิงหาคม 2552 (มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2553) ในขณะที่ ความตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบ BIMSTEC เจรจาเสร็จสิ้นแล้วเมื่อ กุมภาพันธ์ 2553 (คาดว่าจะลงนามได้ภายในปี 2554)
1.4.2 ด้านการลงทุน มูลค่าการลงทุนของไทยในอินเดียเป็นลำดับที่ 4 ในกลุ่มอาเซียนรองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยมูลค่าการลงทุนสะสมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2543-2553) รวม 81.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทไทยที่ลงทุนในอินเดีย อาทิ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ ที่เมืองเจนไน (เลี้ยงกุ้ง และผลิตอาหารสัตว์) บริษัทเดลตาอิเล็กทริคส์ (ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ เครื่องสำรองไฟฟ้า) ธนาคารกรุงไทยจำกัด บริษัทอิตัลไทย (ก่อสร้างทางหลวง ทางรถไฟ เขื่อน) บริษัทเอสซีที (ธุรกิจจัดจำหน่าย) บริษัทไทยซัมมิท (ชิ้นส่วนยานยนต์) บริษัทไทยยูเนียนโฟรเซ่นโปรดักส์จำกัด (ผลิตและส่งออกอาหารกุ้งและกุ้งแช่แข็ง) บริษัทเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์กรุ๊ป (ธุรกิจโบว์ลิง) และบริษัทพฤกษาเรียลเอสเตท (หมู่บ้านจัดสรร) เป็นต้น ขณะที่การลงทุนของอินเดียในไทยยังมีมูลค่าไม่มาก แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ใน ปี 2553 มีมูลค่าการลงทุนอินเดียที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมูลค่าทั้งสิ้น 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 13 โครงการลงทุน การลงทุนของอินเดียในไทยที่สำคัญได้แก่ บริษัทอินโดรามา (ผลิตเคมีภัณฑ์ พลาสติก) กลุ่มอทิตยาเบอร์ลา (ผลิตเคมีภัณฑ์ เส้นใยสังเคราะห์) บริษัททาทามอเตอร์ (ผลิตรถปิคอัพรุ่นซีนอน) บริษัทบาห์รัตโฮเต็ล (กิจการโรงแรม) บริษัทอินโฟซิส (ธุรกิจวิจัย พัฒนาซอฟท์แวร์)และบริษัททาทาคอนซัลแทนซีเซอร์วิสเซส (บริการทางบัญชีและการเงิน) เป็นต้น
1.4.3 ปัญหาและอุปสรรคการค้าและการลงทุนไทย-อินเดีย
(1) อินเดียมีอัตราภาษีศุลกากรสูง โครงสร้างการจัดเก็บภาษีซับซ้อนและมีความไม่เป็นเอกภาพของนโยบายด้านภาษีและ การลงทุนระหว่างรัฐต่าง ๆ
(2) กระบวนการของพิธีการทางศุลกากรล่าช้าและไม่เป็นระบบ ขาดการรวบรวมข้อมูลด้านอัตราภาษี
(3) ความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและระบบการขนส่งภายในอินเดียซึ่งเพิ่มต้น ทุนของสินค้า
(4) พิธีการและขั้นตอนการตรวจสอบมาตรฐานทางสุขอนามัยมีความล่าช้า และมีขั้นตอนของระบบราชการที่ซ้ำซ้อน
(5) อินเดียนำเข้าสินค้าประเภทกึ่งสำเร็จรูป (semi-finished goods) ซึ่งขาดความแน่นอนและความสม่ำเสมอด้านปริมาณการสั่งซื้อ
(6) ความเสี่ยงจากความเสียหายทางธุรกิจ เนื่องจากการนัดหยุดงานและภัยธรรมชาติ
(7) อินเดียมีกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ขาดการบังคับใช้และปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง
(8) ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความรู้ความเข้าใจ และข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในด้านการติดต่อเพื่อการค้าและการลง ทุนระหว่างนักธุรกิจไทยและอินเดีย
(9) การผูกขาดทางการค้าสำหรับสินค้าบางประเภท อาทิ ข้าว ข้าวสาลี เนื้อมะพร้าวแห้ง ฯลฯ และยังมีอุปสรรคทางการค้าจากการขออนุญาตนำเข้าสินค้าบางชนิดของรัฐบาล อินเดียผ่าน State Trade Agent
(10) ข้อกำหนดด้านอัตราเงินเดือนขั้นต่ำในการขอรับการตรวจลงตราประเภททำงานของ อินเดีย และข้อกำหนดด้านการจ่ายเงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญของแรงงานต่างชาติ เป็นอุปสรรคสำคัญในการลงทุนของไทยในอินเดีย
1.4.4 กลไกการหารือด้านเศรษฐกิจ
(1) คณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee - JTC) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส จัดตั้งเมื่อ ปี 2532 มีการประชุมครั้งที่ 11 (ล่าสุด) เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2546 ที่กรุงเทพฯ
(2) สภาธุรกิจร่วม (Joint Business Council) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจไทยที่สนใจดำเนินธุรกิจการค้าและลงทุน กับอินเดีย โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยเป็นกรรมการ ขณะที่ฝ่ายอินเดียมี Federation of Indian Chambers of Commerce and Industry (FICCI) และ Confederation of Indian Industry (CII) เป็นสมาชิก ล่าสุด ได้จัดการประชุมฯ ครั้งที่ 5 ในช่วงเวลาเดียวกับ การประชุม JTC ครั้งสุดท้าย
(3) ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อินเดีย ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2550 ที่กรุงเทพฯ ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันในการรื้อฟื้นกลไกข้อ (2) และ (3) โดยให้มีการหารือและการประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในทางปฏิบัติ
1.4.5 การจัดตั้ง CEO Forum
อินเดียเสนอให้มีการจัดตั้ง CEO Forum เพื่อเป็นกลไกทางการในการประชุมหารือระหว่างผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชน รายใหญ่ของไทยและอินเดีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งเสนอแนะและผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าวในการประชุม JC ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2550 ซึ่งอยู่ระหว่างการรอรายละเอียดข้อเสนอการจัดตั้งกลไกจากฝ่ายอินเดีย
1.4.6 การท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวอินเดียเป็นตลาดหลักที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเป็นตลาดใหญ่อันดับที่ 11 เมื่อเทียบกับตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศอื่น ๆ ในไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.33 ทั้งนี้ สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจากเอเชีย ชาวอินเดียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ นอกจากนั้นไทยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวตลาดบนของอินเดียมาใช้บริการจัด ประชุมสัมมนา การถ่ายทำภาพยนตร์ ตลอดจนการจัดงานแต่งงานในไทย นโยบายการเปิดน่านฟ้าเสรี (Open Sky Policy) ได้มีส่วนในการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสองฝ่าย มีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองสำคัญๆ ในอินเดีย 7 สายการบิน จำนวนกว่า 230 เที่ยวบิน/สัปดาห์ โดยในปี 2553 นักท่องเที่ยวอินเดียมาไทยเป็นจำนวน 791,185 คน
ปัจจุบัน ไทยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวอินเดียกลุ่มตลาดบน ซึ่งมีจำนวนกว่า 100 ล้านคน ให้เดินทางมาไทย โดยเน้นเป้าหมายการเดินทางมารับบริการด้านสุขภาพ การพักผ่อนหย่อนใจ ธุรกิจการประชุมสัมมนา ตลอดจนการจัดงานแต่งงานในไทย ทั้งนี้ จุดแข็งของไทย คือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาท่องเที่ยวมีราคาถูก และไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่หลากหลาย มีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค โรงแรม และสิ่งอำนวยความสะดวกดี ตลอดจนมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน
นักท่องเที่ยวไทยไปอินเดีย 67,309 คน ในปี 2553 ส่วนใหญ่เดินทางไปอินเดียเพื่อเยี่ยมชม/ทัศนศึกษาสังเวชนียสถานเเละพุทธสถาน ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียเริ่มให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ยังมีอุปสรรคด้านมาตรฐานของสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคและการให้บริการ
1.4.7 การบิน
ไทยต้องการขยายเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบินไปอินเดีย เนื่องจากเห็นว่าจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ อาทิ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2546 นายอตัล พิหารี วัชปายี (Atal Behari Vajpayee) นายกรัฐมนตรีอินเดีย (ในขณะนั้น) ได้ประกาศนโยบายเปิดน่านฟ้าเสรี (Open Skies Policy) ซึ่งมีส่วนในการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย โดยไทยได้สิทธิจุดบินและเพิ่มเที่ยวบินไปยังเมืองท่าสำคัญในอินเดียจำนวน 142 เที่ยวบิน/สัปดาห์ นอกจากนี้ ล่าสุด สายการบินแอร์เอเชีย เปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-นิวเดลี และกรุงเทพฯ-กัลกัตตา ที่เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2553 และ การที่ สายการบิน Bangkok Airways เปิดเส้นทางกรุงเทพ-มุมไบ 6 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ในวันที่ 1 มีนาคม 2554 ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนเดินทางท่องเที่ยวไปมาหาสู่ กันมากยิ่งขึ้น
1.4.8 การเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคม
ไทยและอินเดียเห็นพ้องกันว่า การเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมระหว่าง ไทย-พม่า-อินเดีย จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน ในปี 2544 นายกรัฐมนตรีไทยและอินเดียจึงเห็นพ้องให้มีความร่วมมือไตรภาคีในการเชื่อม โยงถนนระหว่างไทย-พม่า-อินเดีย ระยะทางทั้งสิ้น 1,360 กิโลเมตร เพื่อช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน และเพื่อเชื่อมโยงกับเส้นทาง East-West Economic Corridor (EWEC) ในอนาคต ทั้งนี้ ความล่าช้าในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากข้อจำกัดของถนนในพม่า ล่าสุด ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าในการสร้างถนนลาดยาง สายเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี (ระยะทาง 18 กิโลเมตร) ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2549 และกำลังรอส่งมอบในโอกาสที่เหมาะสม นอกจากนี้ ไทยยังอยู่ในระหว่างการสร้างถนนช่วงกิโลเมตรที่ 18- กอกะเร็ก (ระยะทาง 40 กิโลเมตร) โดยไทยให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่พม่าเช่นกัน โดยขณะนี้ได้ออกแบบ และจัดสรรงบประมาณสำหรับการก่อสร้างแล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2553 และใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี ขณะที่ถนนจากกอกะเร็ก-พะอัน-ท่าตอน (ระยะทาง 182 กิโลเมตร) ยังไม่ได้ดำเนินการ โดยทางการพม่า จะจัดหาแหล่งเงินทุนเอง
1.5 ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
ไทยและอินเดียมีความผูกพันด้านวัฒนธรรมกันมาตั้งแต่โบราณกาล โดยในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้มีการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ และในปัจจุบัน มรดกทางวัฒนธรรมและประเพณีจากอินเดียยังคงมีอิทธิพลสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ของคนไทย ทั้งทางด้านศาสนา ภาษาวรรณกรรม และศิลปะแขนงต่าง ๆ
1.5.1 ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยกับชาวอินเดีย
ในช่วงก่อนอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ประชาชนของไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด อาทิ รัฐบาลไทยได้เชิญ นายรพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore) คีตกวีที่มีชื่อเสียงของอินเดียซึ่งเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล มาเยือนไทยเมื่อปี 2470 ซึ่งต่อมา นายรพินทรนาถ ฐากูร ได้เขียนกวีนิพนธ์ชื่นชมประเทศไทยและนำไปสู่การจัดตั้งอาศรมวัฒนธรรม ไทย - ภารตะในประเทศไทย ที่มีบทบาทสำคัญต่อชุมชนชาวอินเดียในประเทศไทยในการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อ เอกราชของอินเดีย โดยรัฐบาลไทยได้อนุญาตให้จัดการประชุมว่าด้วยเอกราชของอินเดีย (Indian Independence Conference) ขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2485 ส่งผลให้ชาวอินเดียมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทย
ในปี 2500 รัฐบาลไทยได้สร้างวัดไทยที่พุทธคยาขึ้น เพื่อฉลองวาระกึ่งพุทธกาลตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย โดยวัดดังกล่าวสร้างในแบบสถาปัตยกรรมไทย ทำให้เป็นแหล่งเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในอินเดีย
ในปัจจุบัน ไทยและอินเดียมีปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่แน่นแฟ้น ปัจจุบันมีชาวไทยเชื้อสายอินเดียในประเทศไทยประมาณ 150,000 คน ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมภาพพจน์ที่ดีของไทย ในสายตาชาวอินเดีย เนื่องจากสังคมไทยเปิดโอกาสให้คนไทยเชื้อสายอินเดียเหล่านี้สามารถประกอบ ธุรกิจ รับราชการ และมีบทบาทในวงการการเมืองไทยได้ อย่างไรก็ดี คนไทยบางส่วนอาจยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อชาวอินเดีย เนื่องจากขาดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อคนเชื้อสายอินเดียและวัฒนธรรมอินเดีย
นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งสมาคมต่าง ๆ โดยชาวไทยเชื้อสายอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย อาทิ หอการค้าไทย - อินเดีย อาศรมวัฒนธรรมไทย - ภารตะ สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย - อินเดีย สมาคมซิกข์แห่งประเทศไทย สมาคมฮินดูธรรมสภา สมาคมฮินดูสมาช (Hindusamaj) แห่งประเทศไทย สมาคมสตรีอินเดีย เป็นต้น
1.5.2 ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมในปัจจุบัน
ไทยและอินเดียได้จัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ตั้งแต่ ปี 2520 ทั้งนี้ ในระหว่างการเยือนอินเดียของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เมื่อปี 2550 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามแผนปฏิบัติการว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ระหว่างปี 2550 – 2552 เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและความ เข้าใจอันดีระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีผลอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากความร่วมมือทางวัฒนธรรมจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่าย ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และนำไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไป
ขณะที่ไทยได้จัดโครงการในลักษณะต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ความเป็นไทยและสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชนของ สองประเทศ อาทิ การอัญเชิญกฐินพระราชทานไป ทอดถวายที่อินเดีย การจัดสัมมนาในหัวข้อประวัติศาสตร์ไทย-อินเดีย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การจัดงาน Destination Thailand/Taste of Thailand การจัดโครงการอัศจรรย์แห่งมิตรภาพไทย-เอเชียใต้ เพื่อให้เยาวชนเอเชียใต้ได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมไทยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการนำคณะนักแสดงโขนจากกรมศิลปากรไปแสดงที่อินเดีย เป็นต้น
นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์อินเดียศึกษาที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนับสนุนการก่อสร้างอาคารศูนย์สันสกฤตศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยรัฐบาลไทยใช้งบประมาณในการก่อสร้างอาคารทั้งหมด 80 ล้านบาท และในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี อตัล พิหารี วัชปายี แห่งอินเดีย (ในขณะนั้น) เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยและอินเดียในประเทศอีก ฝ่าย โดยอินเดียได้เปิดศูนย์วัฒนธรรมอินเดียในไทยแล้วเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552
1.5.3 ความร่วมมือด้านวิชาการ
ไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาไทย - อินเดีย เมื่อปี 2548 เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านการศึกษาและความเป็นเลิศทางวิชาการร่วมกันโดยครอบ คลุมถึง การแลกเปลี่ยน การวิจัย ข้อมูลและสื่อสิ่งพิมพ์ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ คณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน การจัดสัมมนา การประชุมร่วมกัน การให้ทุนการศึกษา เป็นต้น ซึ่งจะยังประโยชน์ให้กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของทั้งสองประเทศอย่างมี ประสิทธิภาพ อินเดียเป็นประเทศที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจำนวนมาก โดยเฉพาะในสาขาคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ไทยได้รับอาจารย์ชาวอินเดียมาสอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการศึกษา (Joint Working
Group on Education) ครั้งที่ 1 (ปี 2550) ซึ่งได้เสนอความร่วมมือ อาทิ การแลกเปลี่ยน นักศึกษา/อาจารย์ในระดับอุดมศึกษา ในสาขาที่อินเดียเชี่ยวชาญ เช่น ICT คณิตศาสตร์ ฯลฯ การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านรูปแบบการจัดสรรงบประมาณ ข้อมูลด้านการวางแผน/การจัดการอุดมศึกษา ฯลฯ ซึ่งอินเดียรับจะพิจารณาคำขอของทย แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้คำตอบจากฝ่ายอินเดีย ทั้งนี้ อินเดียมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมฯ ครั้งที่ 2 ในปี 2551 แต่ได้เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด
2. ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับอินเดีย
ความตกลงที่ได้มีการลงนามไปแล้ว
2.1 ความตกลงทางการค้า (ปี 2511)
2.2 ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ปี 2512)
2.3 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม (ปี 2520)
2.4 ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ปี 2528)
2.5 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของ ไทยและอินเดีย (ปี 2540)
2.6 ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ปี 2543)
2.7 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ (ปี 2543)
2.8 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปี 2544)
2.9 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (ปี 2545)
2.10 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศส่วนนอก
(ปี 2545)
2.11 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตร และเศรษฐกิจการเกษตร (ปี 2546)
2.12 กรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ไทย - อินเดีย (ปี 2546)
2.13 ความตกลงด้านความร่วมมือทางการท่องเที่ยว (ปี 2546)
2.14 ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและ หนังสือ เดินทางราชการ (ปี 2546)
2.15 โครงการความร่วมมือด้านเทคโนโลยีชีวภาพระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและ เทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของไทย และกรมเทคโนโลยีชีวภาพของอินเดีย (ปี 2546)
2.16 สนธิสัญญาความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายในเรื่องทางอาญา (ปี 2547)
2.17 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา ไทย - อินเดีย (ปี 2548)
2.18 บันทึกความตกลงว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับเมือง พอร์ตแบลร์ (ปี 2548)
2.19 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียน (ปี 2550)
2.20 แผนปฏิบัติการว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ระหว่างปี 2550 – 2552 (ปี 2550)
3. การเยือนที่สำคัญ
3.1 ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 7 - 21 เมษายน 2535 เสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 23 - 27 ธันวาคม 2541 เสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และหม่อมเจ้าหญิงสิริวัณณวรี มหิดล (พระยศในขณะนั้น)ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรองประธานาธิบดีอินเดีย
- วันที่ 12 กรกฎาคม 2549 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-มุมไบ-ดูไบ
- วันที่ 10 กันยายน 2549 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง ดูไบ-มุมไบ-กรุงเทพฯ
- วันที่ 1 มิถุนายน 2550 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-มุมไบ-ดูไบ
- วันที่ 26 กรกฎาคม 2550 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง ดูไบ-เจนไน-กรุงเทพฯ
- วันที่ 8 กันยายน 2550 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-เดลี-ดูไบ
- วันที่ 21 ตุลาคม 2550 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง ดูไบ-เดลี-กรุงเทพฯ
- วันที่ 11 มกราคม 2551 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-พาราณสี-กรุงเทพฯ
- วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-คยา-กรุงเทพฯ
- วันที่ 4 มีนาคม 2551 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-มุมไบ-กรุงเทพฯ
- วันที่ 14 มีนาคม 2551 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง ดูไบ-มุมไบ-กรุงเทพฯ
- วันที่ 26 มีนาคม 2551 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-คยา-พาราณสี-กรุงเทพฯ
- วันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-มุมไบ-ดูไบ
- วันที่ 10 สิงหาคม 2551 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง ดูไบ-มุมไบ-กรุงเทพฯ
- วันที่ 1 กันยายน 2551 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-มุมไบ-ดูไบ
- วันที่ 10 กันยายน 2551 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง ดูไบ-มุมไบ-กรุงเทพฯ
- วันที่ 24 กันยายน 2551 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-มุมไบ-ดูไบ
- วันที่ 9 ตุลาคม 2551 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง ดูไบ-มุมไบ-กรุงเทพฯ
- วันที่ 28 พฤษภาคม 2552 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-มุมไบ-ดูไบ
- วันที่ 15 สิงหาคม 2552 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-มุมไบ-ดูไบ
- วันที่ 23 กันยายน 2552 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง ดูไบ-มุมไบ-กรุงเทพฯ
- วันที่ 21 มกราคม 2553 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-มุมไบ-ดูไบ
- วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง ดูไบ-มุมไบ-กรุงเทพฯ
- วันที่ 13 สิงหาคม 2553 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง กรุงเทพฯ-มุมไบ-ดูไบ
- วันที่ 30 ตุลาคม 2553 ทรงทำการบินผ่านเส้นทาง ดูไบ-มุมไบ-กรุงเทพฯ
- วันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ทรงทำการบินเครื่องบินพระที่นั่งเที่ยวบินพิเศษมหากุศล และเสด็จฯ พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า
พัชรกิติยาภาและพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ในการนำคณะพุทธศาสนิกชนจำนวน 120 คน จาริกกราบสักการะพุทธสังเวชนียสถาน ณ ตำบลพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ สาธารณรัฐอินเดียเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 10 - 28 มีนาคม 2530 เสด็จฯ เยือนอินเดีย ในฐานะอาคันตุกะของรองประธานาธิบดีอินเดีย
- วันที่ 21 - 25 ธันวาคม 2539 เสด็จฯ เยือนอินเดีย (หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์) อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 30 มีนาคม 2544 เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ ณ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์
เมืองกุสินารา รัฐอุตตระประเทศ
- วันที่ 2 - 12 เมษายน 2544 เสด็จฯ เยือนอินเดียเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 10 มีนาคม 2548 เสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรองประธานาธิบดี อินเดีย
- วันที่ 18 - 19 พฤศจิกายน 2548 เสด็จฯ เยือนอินเดีย เพื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล Indira Gandhi Prize for Peace, Disarmament and Development
- วันที่ 5 - 10 มีนาคม 2550 เสด็จฯ เยือนอินเดีย ในฐานะอาคันตุกะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย โดยเสด็จฯ เยือนกรุงนิวเดลี รัฐคุชราต รัฐกรณาฏกะ รัฐเบงกอลตะวันตก และรัฐทมิฬนาฑู
- วันที่ 8 - 9 สิงหาคม 2550 เสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เพื่อทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “Bharata In Reflection” และทรงระนาดเอกเบิกโรงการแสดงโขนไทยสู่แดนรามายณะเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-อินเดีย
- วันที่ 17-22 มีนาคม 2551 เสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการในฐานะอาคันตุกะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ ต่างประเทศอินเดีย โดยเสด็จฯ เยือนกรุงนิวเดลี รัฐมหาราษฎระรัฐทมิฬนาฑู และพอนดิเชอร์รี
- วันที่ 1-8 กุมภาพันธ์ 2552 เสด็จฯ เยือนอินเดีย (รัฐอัสสัมและกรุงนิวเดลี) อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 17-20 สิงหาคม 2552 เสด็จฯ เยือนอินเดีย (เมืองเจนไน พอนดิเชอร์รี และกรุงนิวเดลี)
และเพื่อทรงเป็นองค์ประธานในพิธีและพระราชทานรางวัลให้แก่ ศาสตราจารย์ Satya Vrat Shastri ในงาน 42nd Jnanpith Award (รางวัลสาขาวรรณกรรมสูงสุดของอินเดีย) ที่กรุงนิวเดลี
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
การประชุมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ณ กรุงนิวเดลี
- วันที่ 14-19 ตุลาคม 2551 เสด็จเยือนกรุงนิวเดลีและเมืองไฮเดอราบาด เพื่อทรงรับการถวายรางวัล Special Award Fellowship in the World Academy of Art and Science และเข้าร่วมการประชุม “The Anthropocene Crisis: Perils and Possibilities in the 21st Century” ตามคำกราบทูลเชิญของประธาน World Academy of Art and Science
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
- วันที่ 24 - 26 มีนาคม 2550 เสด็จเยือนอินเดีย เพื่อทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโครงการฉลองมหามงคลพุทธารามมหาราชชยันตี ณ วัดไทยพุทธคยาอินเดีย เมืองคยา รัฐพิหาร
รัฐบาล
นายกรัฐมนตรี
- วันที่ 28 มีนาคม - 1 เมษายน 2532 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เยือนอินเดีย ซึ่งเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีไทย
- วันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เยือนอินเดีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 2 ที่กรุงนิวเดลี
- วันที่ 4 - 5 เมษายน 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ
3.2 ฝ่ายอินเดีย
รัฐบาล
นายกรัฐมนตรี
- วันที่ 7 - 10 เมษายน 2536 นายพี วี นาราสิงหะ ราว เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 30 - 31 กรกฎาคม 2547 นายมานโมฮัน ซิงห์ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BIMSTEC ครั้งที่ 1
- วันที่ 23-25 ตุลาคม 2552 นายมานโมฮัน ซิงห์ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
***************************
พฤษภาคม 2555
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **