รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำบทบาทของอาเซียนในการทำงานร่วมกับประเทศมหาอำนาจ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในเอเชียแปซิฟิก พร้อมทำหน้าที่ประธานร่วมด้านการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธ ในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) ครั้งที่ ๒๘

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำบทบาทของอาเซียนในการทำงานร่วมกับประเทศมหาอำนาจ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในเอเชียแปซิฟิก พร้อมทำหน้าที่ประธานร่วมด้านการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธ ในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) ครั้งที่ ๒๘

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,924 view

เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือ
ด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) ครั้งที่ ๒๘ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี ดาโตะ เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สองของบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะประธานอาเซียนเป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรีต่างประเทศสมาชิก ARF รวมถึงเลขาธิการอาเซียน
เข้าร่วม

ในการประชุมครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและ
ความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะในบริบทของโควิด-๑๙ และความมั่นคงด้านสุขภาพ ซึ่งการเข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงเป็นประเด็นความเร่งด่วน ทั้งนี้ การทูตวัคซีนควรเป็นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ไม่ควรใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ
ในโอกาสนี้ ไทยได้เสนอใช้เวที ARF หารือประเด็นขัดแย้งที่สำคัญของภูมิภาคอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือที่สามารถปฏิบัติได้ ได้แก่ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ และสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี โดยไทยจะร่วมกับสหรัฐอเมริกาและจีนจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ARF Seminar on Marine Debris–Solid Waste Management and Scalable Solutions ในช่วงปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และไทยจะดำรงตำแหน่งประธานร่วมของการประชุมระหว่างปีว่าด้วยการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธร่วมกับสหรัฐอเมริกาและศรีลังกา สำหรับวาระปี ๒๕๖๕-๒๕๖๗

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ ARF รับรองรายการกิจกรรม Track I ของ ARF แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมวาระเยาวชน สันติภาพ และความมั่นคงในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และแผนงาน ARF สำหรับการบรรเทาภัยพิบัติ
(ค.ศ. ๒๐๒๑–๒๐๒๓) รับทราบการจัดทำเอกสาร ARF Annual Security Outlook 2021 และแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ
อาทิ การรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในเมียนมา สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี การลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์
ความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ปัญหาปาเลสไตน์ และความขัดแย้งในอัฟกานิสถาน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ