ไทย-ญี่ปุ่น หารือผลักดันความร่วมมือหลากหลายสาขาในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น (Thailand – Japan High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ ๕

ไทย-ญี่ปุ่น หารือผลักดันความร่วมมือหลากหลายสาขาในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น (Thailand – Japan High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ ๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 12,321 view

ไทย-ญี่ปุ่น หารือการสอดประสานความร่วมมือตามโมเดล BCG ของไทยกับการเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น ความร่วมมือการค้า การลงทุน ส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและสาธารณสุข ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๕

เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายโมเทกิ โทชิมิตสึ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น (Thailand – Japan High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ ๕ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย ได้แก่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายคุมาดะ ฮิโรมิจิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่น นายนากาซากะ ยาซูมาสะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น นายวาตานาเบะ ทาเคยูกิรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น และผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในการกล่าวเปิดการประชุม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำถึงความสำคัญของการประชุม HLJC ซึ่งเป็นโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสร้าง new paradigm of growth เพื่อการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งความสำคัญของเวทีนี้ก็ได้รับการยืนยันจากข้อความพิเศษของนายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในฐานะผู้ก่อตั้งร่วมและประธานร่วม HLJC คนก่อนของฝ่ายญี่ปุ่นที่แจ้งมาในโอกาสการประชุมครั้งนี้

ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันใน ๓ ประเด็นหลัก ดังนี้
(๑) การสอดประสานความร่วมมือระหว่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทยกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้ให้คืบหน้าและมีผลเป็นรูปธรรมต่อไป

(๒) ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจในระดับพหุภาคี รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership - CPTTP) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) รวมถึงความร่วมมือในด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) ภายใต้โครงการ Smart JAMP ที่จังหวัดภูเก็ต กรุงเทพฯ และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) และ

(๓) ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสาธารณสุข ซึ่งทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการสานต่อความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูงเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางคมนาคมในเส้นทางเชื่อมโยงในโครงการ (East West Economic Corridor - EWEC) และโครงการระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor - SEC) สำหรับในเรื่องความร่วมมือด้านสาธารณสุข ฝ่ายไทยได้แสดงความขอบคุณในไมตรีจิตของฝ่ายญี่ปุ่นที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ไทยเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) รวมถึงการมอบวัคซีน AstraZeneca จำนวน ๑,๐๕๓,๐๙๐ โดส และอื่น ๆ และได้เสนอการดำเนินความร่วมมือด้านวัคซีนที่เกี่ยวข้องรวมถึงการผลิตวัคซีน ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อร่วมกันก้าวข้ามวิกฤติการณ์ครั้งนี้ด้วยกัน

เพื่อเป็นการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันฝ่ายไทยได้เสนอให้ทั้งสองฝ่ายหารือกันเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ระยะ ๕ ปี ต่อไป

ในช่วงการประชุม ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามความตกลงด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๔ ฉบับ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-๑๙ ด้วย

อนึ่ง ภายหลังการประชุม HLJC ครั้งที่ ๕ ทั้งสองฝ่ายได้ออกแถลงข่าวร่วมผลลัพธ์ของการประชุมฯ (Joint Press Statement) ปรากฎตามนี้ >>> แถลงข่าวร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น (HLJC) ครั้งที่ ๕ 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ