สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2567 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องบัวแก้ว และทาง Facebook live /TIKTOK live กระทรวงการต่างประเทศ
- การเริ่มวาระการเป็นประธาน ACD ของไทยในวันที่ 1 มกราคม 2568
- เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อรับฟังสรุปความคืบหน้าของ ACD ในห้วงที่อิหร่านดำรงตำแหน่งประธาน ACD อีกทั้งอิหร่านยังได้ส่งมอบตำแหน่งประธาน ACD ให้ไทย พร้อมแสดงความยินดีและย้ำถึงความพร้อมของอิหร่านที่จะร่วมงานกับไทยในการขับเคลื่อนความร่วมมือใน ACD ในช่วงวาระการดำรงตำแหน่งประธานของไทยต่อไป
- ฝ่ายไทยได้ขอบคุณอิหร่านสำหรับการทำหน้าที่ประธาน ACD ในปีที่ผ่านมา และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำผลจากปฏิญญาเตหะรานและปฏิญญาโดฮาไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนผ่านกีฬา และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การสนับสนุนความร่วมมือกับภาคเอกชน และการยกระดับความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคผ่านการท่องเที่ยว
- การประชุมใหญ่ในปี 2568 ที่ไทยจะมีวาระเป็นประธาน ACD รวมถึง (1) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ACD อย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 (2) การประชุม Preliminary ACD High-Level Conference เรื่องสถาปัตยกรรมโลก ซึ่งไทยในฐานะประธานจะเป็นผู้ริเริ่มขึ้น ต่อด้วยการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ในช่วงไตรมาสที่ 2 (3) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ต่อด้วยการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 20 ในช่วงไตรมาสที่ 3 และ (4) การประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 80 (UNGA80) ที่นครนิวยอร์ก ในช่วงเดือนกันยายน 2568 เพื่อมอบตำแหน่งประธาน ACD ให้กับประธานคนต่อไป
- ในช่วงที่ไทยเป็นประธาน ไทยมุ่งหวังให้ ACD พัฒนาไปเป็นเวทีหารือของเอเชีย (Forum of Asia) ที่เป็นแกนกลางในการผลักดันประเด็นผลประโยชน์ของเอเชียในห้วงศตวรรษแห่งเอเชีย โดยไทยจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม (bridge builder) ประสานผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงจะผลักดันความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่าง ACD กับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ด้วย
- การเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนกลุ่ม BRICS (BRICS Partner) ของไทย
- เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ไทยได้รับหนังสือเชิญเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนจากฝ่ายรัสเซีย ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม BRICS ปี 2567 อย่างเป็นทางการ และต่อมา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบว่า ไทยจะมีหนังสือตอบรับการเชิญดังกล่าว โดยในวันเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เพื่อตอบรับการเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนกลุ่ม BRICS
- BRICS กำหนดบทบาทของประเทศหุ้นส่วนไว้ในเอกสาร Modalities of BRICS Partner Country Category ซึ่งมีประเด็นหลัก ๆ เช่น ประเทศหุ้นส่วนจะต้องเข้าร่วมการหารือระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS กับประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS (BRICS Partnership Session) ในระดับต่าง ๆ ได้แก่ (1) การประชุมระดับผู้นำ (2) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ และ (3) การประชุม รมต. รายสาขาที่ได้รับเชิญ อย่างแข็งขัน โดยประเทศหุ้นส่วนอาจพิจารณาให้การสนับสนุนเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำและการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม BRICS ด้วย
- การเป็นประเทศหุ้นส่วนกลุ่ม BRICS ถือเป็นก้าวสำคัญในการเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของกลุ่ม BRICS ของไทยในอนาคต โดยไทยมุ่งยกระดับความร่วมมือกับกลุ่ม BRICS เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ไทย โดยที่ BRICS เป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเพื่อชูบทบาทของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา และเสริมสร้างระบบพหุภาคีที่ประเทศกำลังพัฒนาได้ประโยชน์มากที่สุด ตลอดจนเป็นสะพานเชื่อม (bridge builder) ระหว่างกลุ่ม BRICS กับกลุ่มประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศมีแผนจะหารือเพิ่มเติมกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS ต่อไป
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 บราซิลจะเป็นประธานกลุ่ม BRICS ต่อจากรัสเซีย โดยจะใช้หัวข้อหลักคือ “การเสริมสร้างความร่วมมือของประเทศโลกใต้เพื่อธรรมาภิบาลที่ครอบคลุมและยั่งยืนขึ้น” (Strengthening Cooperation in the Global South for More Inclusive and Sustainable Governance)
- ของขวัญปีใหม่จากกระทรวงการต่างประเทศ
- ในโอกาสปีใหม่ 2568 กระทรวงการต่างประเทศขอมอบของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนดังเช่นที่ผ่านมาทุกปี โดยมุ่งเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โดยในปีนี้ มีของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน ได้แก่
- การให้บริการหนังสือเดินทางภายในวันเดียว (ทำเช้า - รับบ่าย) โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมบริการด่วน (ค่ารับบริการด่วน 2,000 บาท) ระหว่างวันที่ 2 - 17 มกราคม 2568 ยกเว้นวันเสาร์ - อาทิตย์ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทางอายุ 5 ปี คือ 1,000 บาท และหนังสือเดินทางอายุ 10 ปี คือ 1,500 บาท
- การให้บริการนิติกรณ์เอกสารภายในวันเดียว (ทำเช้า - รับบ่าย) โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมบริการด่วน (ค่ารับบริการด่วน 200 บาท) จำกัดคนละ 1 เอกสาร และต้องเป็นเอกสารของตนเองหรือบุคคลในครอบครัวเท่านั้น ระหว่างวันที่ 6 - 17 มกราคม 2568 ยกเว้นวันเสาร์ - อาทิตย์ ที่จุดบริการ (1) อาคารกรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ (2) สำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ ปทุมวัน และ (3) ฝ่ายสัญชาติและนิติกรณ์ ที่สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว 5 แห่ง คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ สงขลา อุบลราชธานี และพัทยา
- การให้บริการรถทะเบียนเคลื่อนที่ของกรุงเทพมหานคร (Bangkok Mobile Service) ณ ลานจอดรถอาคารกรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างวันที่ 6 - 10 มกราคม 2568 เพื่อให้บริการทำบัตรประชาชนใหม่ และคัดสำเนาเอกสารทะเบียนราษฎร์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 3 ประเภท ได้แก่ รายการทะเบียนบ้าน (ทร.14/1) สูติบัตร และมรณบัตร
- การให้บริการกงสุลสัญจรเพื่อให้บริการหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ รวม 12 ครั้ง ตลอดปี 2568 หรือเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ในพื้นที่จังหวัดที่ไม่มีสาขาสำนักงานหนังสือเดินทางตั้งอยู่ โดยกรมการกงสุลจะประกาศจังหวัดที่จะเดินทางไปให้บริการในแต่ละเดือนต่อไป
- พัฒนาการสถานการณ์การเมืองของสาธารณรัฐเกาหลี
- ตามที่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายยุน ซ็อก ย็อล ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ได้ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน และประกาศยกเลิกในเวลาต่อมา และรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลีได้มีมติเห็นชอบให้ถอดถอนนายยุน ซ็อก ย็อล ส่งผลให้ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่โดยทันที โดยนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี ระหว่างกระบวนการที่รัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลียื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีการถอดถอนประธานาธิบดีภายใน 180 วัน ซึ่งหากมีคำพิพากษาให้ถอดถอนนายยุนฯ ก็จะส่งผลให้นายยุนฯ พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีทันที และจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ภายใน 60 วัน
- ขอเรียนว่า กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 นายพัก ยงมิน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ได้เข้าพบหารือกับอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เพื่อแจ้งพัฒนาการเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
- ในฐานะที่ไทยเป็นมิตรที่ใกล้ชิดกัน ไทยมีความปรารถนาดีและเชื่อมั่นว่า สาธารณรัฐเกาหลีจะสามารถก้าวข้ามสถานการณ์ได้ในไม่ช้า และขอย้ำว่า ไทยมุ่งขับเคลื่อนความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั้งสองฝ่ายในหลายมิติ
- การย้ายสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดเชียงใหม่
- ขอเรียนว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2568 สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวเชียงใหม่ ได้ย้ายไปที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต อำเภอเมืองเชียงใหม่
- สำนักงานฯ จะให้บริการหนังสือเดินทางระหว่างเวลา 00 - 17.00 น. และบริการรับรองนิติกรณ์เอกสาร ระหว่างเวลา 09.00 - 16.00 น. ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
- ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศมีสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวและหน่วยบริการหนังสือเดินทางชั่วคราวทั่วประเทศ รวม 27 แห่ง อยู่ในภาคเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย โดยสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวเชียงใหม่ได้ให้บริการพี่น้องประชาชนในพื้นที่กว่าปีละ 87,000 คน
รับชมย้อนหลังได้ที่: https://www.facebook.com/share/v/18SwetmVCo/