สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๖

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 มิ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 มิ.ย. 2566

| 7,382 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันศุกร์ที่ ๒ มิ.ย. ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น.

* * * * * * * * * *

. การนำช้าง “พลายศักดิ์สุรินทร์” จากศรีลังกากลับประเทศไทย

  • หลังจากการเตรียมการอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คาดว่า พลายศักดิ์สุรินทร์จะเดินทางกลับประเทศไทยได้ในเดือน ก.ค. ๒๕๖๖ นี้ ซึ่ง สอท. ณ กรุงโคลอมโบ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของศรีลังกาและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการในด้านต่าง ๆ อาทิ การจัดทำกรงขนย้ายช้างที่เหมาะสมและการขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง
  • เมื่อวันที่ ๓๑ พ.ค. ๒๕๖๖ นรม. ศรีลังกา ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นรม. ในห้วงการเยือนไทย ซึ่ง นรม. ได้ขอบคุณรัฐบาลศรีลังกาที่อนุมัติการนำช้างพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาที่ไทยด้วย
  • สอท. ณ กรุงโคลัมโบได้ประสานงานใกล้ชิดกับ ทส. และฝ่ายศรีลังกาในเรื่องนี้ และขอขอบคุณสวนสัตว์ Dehiwala ของศรีลังกา ซึ่งได้รับพลายศักดิ์สุรินทร์มารักษาตัวและพักอยู่ที่สวนสัตว์ตั้งแต่ ๘ พ.ย. ๒๕๖๕

๒. การเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีศรีลังกา (๓๑ พ.. - ๓ มิ.. ๒๕๖๖)

  • ระหว่างวันที่ ๓๑ พ.ค. - ๓ มิ.ย. ๒๕๖๖ นายทิเนศ คุณวรรเทนะ (Dinesh Gunawardena) นรม. ศรีลังกาเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญของโลก จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๒ มิ.ย. ๒๕๖๖ ตามคำเชิญของสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (International Council for the Day of Vesak: ICDV) เพื่อเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ ๑ มิ.ย. ๒๕๖๖ และเข้าร่วมงานที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) ในวันที่ ๒ มิ.ย. ๒๕๖๖
  • ในการเข้าเยี่ยมคารวะ นรม. เมื่อวันที่ ๓๑ พ.ค. ๒๕๖๖ ณ ทำเนียบรัฐบาล ทั้งสองฝ่ายย้ำความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศผ่านความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาซึ่งมีมาอย่างยาวนาน และยินดีกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย - ศรีลังกา ซึ่งคาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ในช่วงต้นปี ๒๕๖๗ นอกจากนี้ ฝ่ายศรีลังกาขอบคุณฝ่ายไทยที่ให้ความช่วยเหลือเมื่อศรีลังกาประสบวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๖๕ รวมทั้งเชิญชวนให้ภาคเอกชนเพิ่มพูนการค้าการลงทุนระหว่างกัน ในขณะที่ฝ่ายไทยย้ำความสำคัญของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งฝ่ายไทย โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ พร้อมร่วมมือกับศรีลังกาในสาขาที่ฝ่ายศรีลังกาประสงค์
  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นรม. ศรีลังกาให้เข้าเฝ้าฯ ในวันที่ ๒ มิ.ย. ๒๕๖๖ เวลา ๑๙.๓๐ น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน และเมื่อวันที่ ๑ มิ.ย. ๒๕๖๖ นรม. ศรีลังกาได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ด้วย
  • นรม. ศรีลังกายังเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างการเยือนไทย อาทิ เข้าร่วมงานสัมมนาส่งเสริมการลงทุน Investment in Sri Lanka - Now is the time จัดโดย สอท. ศรีลังกาประจำประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และบริษัทเอกชนไทยจำนวนมาก และเยี่ยมชมวัดธรรมาราม จ. พระนครศรีอยุธยา เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาส ๒๗๐ ปี การสถาปนาพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา รวมทั้งได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาด้วย
  • สำหรับวันวิสาขบูชา ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ และมีการจัดงานวันวิสาขบูชาขึ้นเป็นประจำทุกปีที่สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ (UNHQ) และสำนักงานอื่น ๆ ของสหประชาชาติ เพื่อระลึกถึงบทบาทของพระพุทธศาสนาในฐานะที่พึ่งทางจิตวิญญาณของมนุษยชาติ และเป็นหนึ่งในศาสนาที่มีความเป็นมายาวนานที่สุดในโลก
  • รัฐบาลไทย ร่วมกับรัฐบาลศรีลังกา ผ่าน คผถ./สอท. ได้ร่วมจัดกิจกรรมงานวันวิสาขบูชาในต่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงที่สำนักงานสหประชาชาติในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ นครนิวยอร์ก นครเจนีวา กรุงไนโรบี กรุงเวียนนา โดย รนรม./รมว.กต. ได้กล่าวถ้อยแถลง (pre-recorded) สำหรับงานที่ UNHQ ณ นครนิวยอร์กด้วย ในขณะที่สอท. ณ กรุงโคลัมโบ ร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลวิสาขบูชาแห่งชาติ “พุทธรัศมี” โดยได้จัดกิจกรรม อาทิ (๑) การแข่งขันตอบปัญหาความรู้ความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนา ไทย-ศรีลังกา และ (๒) การจัดนิทรรศการภาพถ่ายที่วัดคงคารามและทำเนียบ นรม. กรุงโคลัมโบ

. รนรม./รมว.กต. เข้าร่วมงานวัน Africa Day 2023 (๒๙ พ.. ๒๕๖๖)

  • เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ค. ๒๕๖๖ ๒๕๖๖ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รนรม./รมว.กต. เข้าร่วมงานวันแอฟริกา (Africa Day 2023) ภายใต้หัวข้อ Africa Day, “Year of AfCFTA--Acceleration of the Africa Continental Free Trade Area Implementation” ซึ่งมุ่งเน้นการเร่งให้มีการเริ่มบังคับใช้ FTA ของแอฟริกา จัดโดย สอท. ภูมิภาคแอฟริกา ประจำประเทศไทย ได้แก่ โมร็อกโก เคนยา อียิปต์ ลิเบีย ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ ณ โรงแรมอนันตราสยาม กรุงเทพฯ
  • วันแอฟริกาตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคมของทุกปี โดยเป็นวันก่อตั้งสหภาพแอฟริกา (African Union: AU) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๖ และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุง Addis Ababa เอธิโอเปีย เพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพและความเป็นปึกแผ่นของประเทศในภูมิภาคแอฟริกาที่ได้รับเอกราชใหม่
  • ในงานดังกล่าว รนรม./รมว.กต. กล่าวแสดงความยินดีต่อคณะทูตแอฟริกาเนื่องในโอกาสครบรอบ ๖๐ ปีของการก่อตั้งสหภาพแอฟริกา และย้ำถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนและขยายความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับแอฟริกาต่อไป
  • กต. จะจัดงาน The Colours of Africa 2023 ในเดือน ก.ค. ๒๕๖๖ ที่ จ.ขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนในแอฟริกาและเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแอฟริกาในภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาของไทย
  • แอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ประกอบด้วย ๕๔ ประเทศ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า ๓๐ ล้าน ตร.กม. รองจากภูมิภาคเอเชีย และมีประชากรประมาณ ๑.๒ พันล้านคน ซึ่งกว่าร้อยละ ๖๐ อยู่ในวัยทำงานที่มีอายุต่ำกว่า ๒๕ ปี คิดเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ภูมิภาคแอฟริกามีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของชาติพันธุ์ ศาสนา สังคมและวัฒนธรรม จึงอยากสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและภาคส่วนต่าง ๆ ให้ความสนใจกับภูมิภาคนี้มากขึ้น
  • เมื่อปี ๒๕๖๕ การค้าระหว่างไทย-ภูมิภาคแอฟริกามีมูลค่ารวมกว่า ๑.๔ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน มีบริษัทชั้นนำของไทยเข้าไปค้าขายและลงทุนในสาขาต่าง ๆ แล้ว อาทิ บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดิเวลล็อปเมนต์ จำกัด เครือโรงแรมไมเนอร์ และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งยังมีกิจการร้านอาหารไทยและธุรกิจร้านนวด/สปาของไทยในอีกหลายประเทศ นอกจากนั้น ภูมิภาคแอฟริกายังเป็นตลาดข้าวที่สำคัญของไทย โดยในปี ๒๕๖๕ เฉพาะประเทศแอฟริกาใต้นำเข้าข้าวจากไทยมูลค่ากว่า ๓๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปัจจุบัน ไทยมี สอท. ในภูมิภาคแอฟริกา ๗ แห่ง ได้แก่ แอฟริกาใต้ เคนยา ไนจีเรีย เซเนกัล อียิปต์ โมร็อกโก และโมซัมบิก และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย (สกม.) ในแอฟริกา ๑๖ แห่ง สำหรับฝ่ายแอฟริกามี สอท. ในไทย ๖ แห่ง ได้แก่ แอฟริกาใต้ เคนยา ไนจีเรีย อียิปต์ โมร็อกโก ลิเบีย และมี สกม. แอฟริกาประจำประเทศไทยจำนวน ๒๔ แห่ง ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและแอฟริกาเป็นไปด้วยความราบรื่นและไม่มีความขัดแย้งระหว่างกัน

. สรุปผลการจัดงานสัมมนา Doing Business with the United Nations (๓๐ พ.. ๒๕๖๖)

  • เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ค. ๒๕๕๖ กต. โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ ร่วมกับ กมธ. เศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) จัดงานสัมมนาหัวข้อ “Doing Business with the United Nations” ณ วิเทศสโมสร กต. โดยเป็นการจัดการสัมมนาครั้งที่ ๓ ซึ่งครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อปี ๒๕๖๓
  • งานสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ให้แก่ภาคเอกชนไทยเกี่ยวกับแนวทางดำเนินธุรกิจและการเข้าเป็นคู่ค้ากับ UN ซึ่งจะต้องดำเนินการผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของ UN เพื่อเพิ่มโอกาสในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนไทย โดยสาขาสินค้าและบริการที่ UN มีความต้องการสูง อาทิ ICT เชื้อเพลิง การขนส่งทางอากาศ การก่อสร้างและซ่อมแซม และอาหาร
  • ตามข้อมูลล่าสุดของฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างของ UN เมื่อปี ๒๕๖๔ มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของ UN โดยรวมคิดเป็น ๒๙.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าและบริการที่มีการจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด คือ สาขาสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงปีสถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์
    ยาคุมกำเนิด และวัคซีน
  • ในส่วนของไทย ตามสถิติล่าสุดของ UNESCAP เมื่อปี ๒๕๖๕ สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในไทยรวม ๓๑.๓๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ ๑๘.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาขาก่อสร้างเป็นสาขาที่มีมูลค่ามากที่สุด

.   การลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสหภาพยุโรปว่าด้วยการยอมรับ
แลสเซ-ปาสเซที่ออกโดยสหภาพยุโรปว่าเป็นเอกสารการเดินทางที่สมบูรณ์
(๑ มิ.. ๒๕๖๖)

  • เมื่อวันที่ ๑ มิ.ย. ๒๕๖๖ กต. ได้จัดพิธีลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) ว่าด้วย “การยอมรับแลสเซ-ปาสเซ (Laissez-Passer) ที่ออกโดยสหภาพยุโรปว่าเป็นเอกสารการเดินทางที่สมบูรณ์” โดยนายอสิ ม้ามณี อธ. กรมยุโรป และนาย David Daly ออท. สหภาพยุโรป/ประเทศไทยเป็นผู้ลงนาม และได้รับเกียรติจาก รนรม./รมว.กต. เป็นสักขีพยาน ร่วมกับผู้บริหาร กต. ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ตลอดจนผู้แทนจากอียูด้วย
  • อียูแลสเซ-ปาสเซ เป็นเอกสารการเดินทางที่สหภาพยุโรปออกให้แก่เจ้าหน้าที่การทูตของสหภาพยุโรปและครอบครัว โดยมีลักษณะคล้ายกับหนังสือเดินทางของสหประชาชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางการไทยจะยอมรับเฉพาะหนังสือเดินทางที่ออกโดยแต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเท่านั้น ความตกลงนี้จะส่งผลให้อียูแลสเซ-ปาสเซได้รับการยอมรับเทียบเท่าหนังสือเดินทางและสามารถใช้สำหรับเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยได้
  • ผลประโยชน์จากการลงนามความตกลงนี้จะช่วยให้ไทยกับอียูไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น ทั้งด้านการเยือนระดับสูง การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ และช่วยอำนวยความสะดวกให้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อไทยในกระบวนการตรวจสอบเอกสารการเดินทางของเจ้าหน้าที่การทูตของอียูเป็นระเบียบและมีแบบแผนด้วย
  • ความตกลงนี้จะช่วยให้ไทยกับอียูใกล้ชิดกันมากขึ้น หลังจากที่ล่าสุดมีการลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทย-อียู (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA) เมื่อวันที่ี่ ๑๔ ธ.ค. ๒๕๖๕ ณ กรุงบรัสเซลส์ และได้เริ่มเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู รอบใหม่ (Thailand-EU Free Trade Agreement: Thai-EU FTA) เมื่อวันที่ ๑๕ มี.ค. ๒๕๖๖ ซึ่งมีความสำคัญมากเพราะจะเป็นความตกลงทางการค้าเสรีกับตลาดที่ประกอบด้วยประเทศพัฒนาแล้วกว่า ๒๗ ประเทศ มีประชากรกว่า ๔๔๗ ล้านคน และมี GDP รวมประมาณ ๑๗ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นทิศทางที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียู
  • อียูเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ ๕ ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้ารวม ๔๑,๐๓๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ ๗ ของมูลค่าการค้าไทย) ไทยส่งออกไปอียูมูลค่า ๒๒,๗๙๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้เปรียบดุลการค้าทั้งสินค้าและบริการ ๔.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนจากอียูลงทุนสูงเป็นอันดับ ๓ ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ ๒๕ ของอียู ซึ่งการเจรจา FTA ไทย-อียูจะช่วยกระตุ้นให้ประเทศอียูเห็นความสำคัญของการมาลงทุนในไทยมากขึ้น
  • ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ไทย-อียูมีพลวัตที่ดีมาก เป็นผลจากการฟื้นความสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี ๒๕๖๒ รวมทั้งการเร่งรัดเจรจาร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียูจนได้มีการลงนามแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของอียูที่ต้องการเพิ่มบทบาทในอาเซียนและอินโด-แปซิฟิก ปี ๒๕๖๖ นี้จึงเป็นโอกาสที่ไทยและอียูจะเร่งพัฒนาความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ต่อไป
  • ไทยมองอียูและประเทศสมาชิกเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ไทยต้องการเพิ่มมูลค่าทางการค้าและการลงทุน และต้องการให้อียูมองว่าไทยเป็นเป้าหมายของตลาดในด้านการค้าการลงทุนด้วย นอกจากนี้ อียูเป็นแหล่งวิทยาการและองค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนมาตรฐานต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งไทยประสงค์จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไป

๖. การมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์แก่เมียนมาในกรณีพายุไซโคลนโมคา (๓๑ พ.. ๒๕๖๖)

  • ตามที่ก่อนหน้านี้ พายุไซโคลนโมคา ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่เมียนมาตั้งแต่วันที่ ๑๑ พ.ค. ๒๕๖๖ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก รวมทั้งมีบ้านเรือนเสียหายเป็นวงกว้าง ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ไทยมีความห่วงกังวลต่อผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อประชาชน จึงได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
  • ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๒๒ พ.ค. ๒๕๖๖ นรม. ได้เป็นประธานพิธีมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ประชาชนเมียนมา ผ่านนายชิซเว (U Chit Swe) ออท.เมียนมาประจำประเทศไทย ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งต่อมาในวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบให้แก่ประชาชนเมียนมา โดย ออท.มม./ปทท. เป็นผู้แทนรับมอบ ณ ท่าอากาศยานทหาร ๒ กองบิน ๖ ด้วย ซึ่งนายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ ออท. ณ กรุงย่างกุ้ง ได้เป็นผู้เชิญสิ่งของบรรเทาทุกข์พระราชทาน พร้อมสิ่งของบรรเทาทุกข์จากภาครัฐและภาคเอกชน ส่งมอบให้แก่ผู้แทนรัฐบาลเมียนมาแล้วเมื่อวันที่ ๒๓ พ.ค. ที่ผ่านมา
  • เมื่อวันที่ ๓๑ พ.ค. ๒๕๖๖ รนรม./รมว.กต. มอบหมายนายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธ. กรมเอเชียตะวันออก เป็นผู้แทนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์เพิ่มเติม โดยผู้แทนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท โอมมี่ เยลลี่ จำกัด บริษัท การูดาโกลด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และคณะกรรมการโครงการสวนดุสิตโฮมเบเกอรี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นผู้มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ในครั้งนี้ และมี ออท.มม./ปทท. เป็นผู้รับมอบ ณ กต.
  • สำหรับสิ่งของบรรเทาทุกข์ในครั้งนี้ประกอบด้วยอาหารแห้งและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ โดยมีกำหนดการจัดส่งโดยรถยนต์ ซึ่งจะออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ในวันที่ ๑ มิ.ย. ๒๕๖๖ และมีกำหนดถึงกรุงย่างกุ้งในวันที่ ๓ มิ.ย. ๒๕๖๖ โดยสมาคมไทย-พม่าเพื่อมิตรภาพ ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งในครั้งนี้ และ สอท. ณ กรุงย่างกุ้ง จะเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ดังกล่าวให้แก่หน่วยงานเมียนมาที่เกี่ยวข้องและสภากาชาดเมียนมาต่อไป
  • ขอขอบคุณภาคเอกชนไทยที่ได้สนับสนุนสิ่งของบรรเทาทุกข์ในครั้งนี้

 

รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/ThaiMFA/videos/3298329880458510/

* * * * * * * * * *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ