รัฐบาลไทยกับสหประชาชาติหารือเพื่อทบทวนการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

รัฐบาลไทยกับสหประชาชาติหารือเพื่อทบทวนการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 มิ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 มิ.ย. 2566

| 6,925 view

เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๖ กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการสามฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน วาระปี พ.ศ. ๒๕๖๕ - ๒๕๖๙ (United Nations Sustainable Development Cooperation Framework: UNSDCF) เพื่อทบทวนการดำเนินงานของทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยในช่วงปี ๒๕๖๕ รวมทั้งหารือการขับเคลื่อนการดำเนินการในระยะต่อไป โดยการประชุมฯ ครั้งนี้ มีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และนางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นประธานร่วม และมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งสำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เข้าร่วมด้วย

ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยและทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการและกิจกรรมที่ดำเนินการโดยหน่วยงานสหประชาชาติ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่มีผลสัมฤทธิ์สูง (high-impact initiatives) ซึ่งมีศักยภาพที่จะต่อยอดการดำเนินการไปยังภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน โดยเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ในฐานะประธานร่วมฝ่ายไทย กล่าวยินดีที่ทีมงานสหประชาชาติมีบทบาทแข็งขันในการส่งเสริม SDGs ในประเทศไทยผ่าน UNSDCF และย้ำถึงความสำคัญของความสอดคล้องระหว่างกรอบความร่วมมือ UNSDCF กับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและวาระการพัฒนาของประเทศไทยควบคู่กันไป

นอกจากนี้ อธิบดีกรมองค์การฯ กล่าวสนับสนุนการทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานมากขึ้นระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติในประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยภายใต้แนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) และเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (Bio- Circular- Green (BCG) Economy Model)

อนึ่ง คณะกรรมการสามฝ่ายฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๕ เพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลการดำเนินงานตาม UNSDCF โดยมีกลไกคณะกรรมการอำนวยการฯ ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้าเพื่อบรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายภายใต้กรอบความร่วมมือ UNSDCF ตลอดจนให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการดำเนินการเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ