ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืนและสมดุลในประเทศกำลังพัฒนา ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม ๗๗ และจีน ในโอกาสการประชุม UNCTAD XV

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืนและสมดุลในประเทศกำลังพัฒนา ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม ๗๗ และจีน ในโอกาสการประชุม UNCTAD XV

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,687 view

เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการกล่าวถ้อยแถลงในช่วง General Debate ของการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม ๗๗ และจีน (Group of 77 and China) ในโอกาสการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา สมัยที่ ๑๕ (Fifteenth Session of the United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD XV) ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศย้ำความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในการพลิกโฉมระบบการค้าและการพัฒนาระดับโลกเพื่อการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืนและสมดุลด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) โดยเสนอ ๓ แนวทาง ได้แก่ (๑) ส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนตามบริบทที่เหมะสมของแต่ละประเทศ (๒) กระชับความร่วมมือเหนือ-ใต้เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำได้ด้วยตนเอง และ (๓) พลิกฟื้นระบบธรรมาภิบาลเศรษฐกิจโลกให้มุ่งรับมือกับเงื่อนไขพิเศษของประเทศกำลังพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว

ที่ประชุมได้มีการรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีบริดจ์ทาวน์ของกลุ่ม ๗๗ และจีน ในโอกาสการประชุม UNCTAD XV (Bridgetown Ministerial Declaration of the Group of 77 and China to UNCTAD XV) เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการร่วมกำหนดทิศทางต่อบทบาท UNCTAD ในอนาคตและเอกสารผลลัพธ์การประชุม UNCTAD XV หรือกติกาบริดจ์ทาวน์ (Bridgetown Covenant) ซึ่งจะเป็นกรอบการดำเนินงานในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดความเปราะบาง และเสริมสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวไปสู่ทุกภาคส่วนภายใต้บริบทโควิด-๑๙

กลุ่ม ๗๗ ปัจจุบันประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมดจำนวน ๑๓๔ ประเทศและเป็นกลุ่มเจรจาที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในเวทีสหประชาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองของประเทศกำลังพัฒนาในระบบสหประชาชาติและส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ ซึ่งไทยเคยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ และจีน วาระปี พ.ศ. ๒๕๕๙

 

----------------

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ