สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๔

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,728 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์  

วันพฤหัสบดีที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.

ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง (วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔)

• นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วม การประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ๓ ประชุม ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๒๔ และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๓๐

• การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting-AMM) เป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๘ และ ๓๙ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ ซึ่งทั้งหมดจะจัดในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ที่ประชุมจะติดตามความคืบหน้าการดำเนินการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง มีการหารือการรับมือและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-๑๙ การสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง การดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอก

• ที่ประชุมหารือประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินงานตามฉันทามติ ๕ ข้อของผู้แทนพิเศษฯ เรื่องเมียนมา ความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ เพื่อให้อาเซียนพัฒนาก้าวทันโลก และก้าวไกลสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

• ที่ประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๓๐ (the 30th ASEAN Coordinating Council Meeting-ACC) ผลักดันความร่วมมือของอาเซียนในการรับมือกับโควิด-๑๙ ทั้งในเรื่องการจัดหาวัคซีน การดำเนินการของระเบียงการเดินทางของอาเซียน และการจัดทำแนวทางร่วมกันเกี่ยวกับ การรับรองการฉีดวัคซีนและผลตรวจโควิด-๑๙ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ในการฟื้นฟูภูมิภาคและการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

• ที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๒๔ (ASEAN Political and Security Community Council-APSC) ย้ำการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน สนับสนุน การดำเนินงานตามแผนการแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน ผ่านการประสานงานระหว่างองค์กรเฉพาะสาขาและระหว่างเสา โดยเฉพาะความร่วมมือทางกฎหมายและการบริหารจัดการชายแดน ซึ่งสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับหลายประเทศ

๒. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม UNCTAD XV (วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๔) 

• รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงผ่านบันทึกวีดิทัศน์ ในช่วงการอภิปรายทั่วไปของการประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) สมัยที่ ๑๕ ภายใต้หัวข้อ “From Inequality and Vulnerability to Prosperity for All” หรือ จากความไม่เท่าเทียมกัน และความเปราะบาง สู่ความเจริญรุ่งเรืองสำหรับทุกคน

• รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงวิสัยทัศน์ของไทยในการ ฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ อย่างสมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) และเสนอแนวทางในการพลิกโฉมระบบการค้า พัฒนาโลก เพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งทุกภาคส่วน ได้แก่ 
(๑) สร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมุ่งสู่รูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน โดยอาศัย Big Data (ฐานข้อมูลใหญ่) และเทคโนโลยีในการสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค
(๒) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบรรษัทขนาดเล็กและกลาง (SMEs) สตาร์ทอัพ สตรี และเยาวชนในห่วงโซ่อุปทาน BCG ด้วยการขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน พัฒนาทักษะ และปลดล็อกข้อจำกัดของกฎระเบียบ 
(๓) ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและวิชาการแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ

เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นผู้แทนรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ของการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม ๗๗ และจีน (Group of 77 and China) ได้ย้ำความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในการพลิกโฉมระบบการค้าและการพัฒนาระดับโลกเพื่อฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืนและสมดุลด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โดยเสนอ ๓ แนวทาง ได้แก่
(๑) ส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ (ความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนตามบริบทที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ
(๒) กระชับความร่วมมือเหนือ-ใต้ (ความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา)เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำด้วยตนเอง
(๓) พลิกฟื้นระบบธรรมาภิบาลเศรษฐกิจโลก ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น มุ่งรับมือกับเงื่อนไขพิเศษของประเทศกำลังพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว

 

๓. ผลการประชุมระดับภูมิภาคของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK Regional Forum) ในหัวข้อ From Cooperation to Strategic Partnership: A Decade of Shared Development for People, Prosperity and Peace (วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔)


• นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK Regional Forum) ในหัวข้อ ‘From Cooperation to Strategic Partnership: A Decade of Shared Development for People, Prosperity and Peace’ หรือ จากความร่วมมือสู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทศวรรษแห่งการพัฒนาร่วมกันเพื่อประชาชน ความเจริญรุ่งเรือง และเพื่อสันติภาพ ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย และสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง


• เอกอัครราชทูตอรุณรุ่งฯ กล่าวถ้อยแถลง ถึงความก้าวหน้าของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ในช่วง ๑ ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนผ่านพัฒนาการที่สำคัญ โดยเฉพาะการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือฯ ครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๖๒ และการจัดตั้งกองทุนความร่วมมือฯ ลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK Cooperation Fund – MKCF) เพื่อสนับสนุนโครงการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความยั่งยืนและความยืดหยุ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙


• เอกอัครราชทูตอรุณรุ่งฯ ย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ประชาชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อการฟื้นฟูอนุภูมิภาคฯ อย่างยั่งยืนและครอบคลุมรอบด้าน รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ปีแห่งการแลกเปลี่ยนของกรอบความร่วมมือฯ ปี ๒๕๖๔ (Mekong - ROK Exchange Year 2021) ซึ่งขยายระยะเวลาออกไปจนถึงปี ๒๕๖๕

 

๔. มาตรการการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับคนไทยและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-๑๙ ในต่างประเทศ (ญี่ปุ่น/เนปาล)

๔.๑ ญี่ปุ่น
• ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศลดวันกักตัวสำหรับชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางกลับเข้าญี่ปุ่นจากประมาณ ๕๐ ประเทศ/ภูมิภาค รวมถึงผู้ที่เดินทางจากประเทศไทยจากเดิม ๑๔ วัน เป็น ๑๐ วัน โดยจะต้องมี Vaccine Certificate (เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน) ว่าได้รับการฉีดวัคซีนที่ญี่ปุ่นยอมรับ ซึ่งขณะนี้ ได้แก่ Pfizer, Moderna หรือ AstraZeneca ครบ ๒ เข็มเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๔ วันก่อนเดินทางเข้าญี่ปุ่น มาตรการนี้อนุญาตให้เฉพาะคนที่มี stay permit ในญี่ปุ่นอยู่แล้ว (คนที่มีถิ่นพำนักอยู่ในญี่ปุ่นแล้ว และจะกลับเข้าไปใหม่) แต่ยังไม่อนุญาตให้นักธุรกิจ แรงงานทักษะ นักศึกษา และนักท่องเที่ยว ที่จะต้องขอวีซ่าใหม่เข้าประเทศญี่ปุ่น

• ผู้ที่กักตัวจะต้องตรวจ PCR test หรือ antigen test ในวันที่ ๑๐ ของการกักตัว โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง แล้วส่งผลตรวจที่เป็นลบให้ศูนย์ดูแลด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าจากต่างประเทศ จึงจะสามารถสิ้นสุดการกักตัวได้

• ญี่ปุ่นอาจปรับปรุงมาตรการตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงขอให้ติดตามข่าวสารจากทางการญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ผู้ที่มีความจำเป็นเดินทางเข้าญี่ปุ่น สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว (http://site.thaiembassy.jp/th/news/announcement/10501/?fbclid=IwAR2Xn-tPVHaN9NxRtdOAPI3fvwa-z9CZYlo3J6U7_ul38XHOOfxuztiBDYs) และกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น (https://www.mhlw.go.jp/content/000836955.pdf)

๔.๒ เนปาล
• รัฐบาลเนปาลได้ประกาศระเบียบล่าสุดสำหรับบุคคลที่ประสงค์จะเดินทางเข้าเนปาลว่า สามารถยื่นขอวีซ่าประเภท on-arrival visa จากจุดผ่านแดนใดก็ได้ (หลังจากที่ได้ระงับการให้บริการชั่วคราวตั้งแต่ในวันที่ ๒๐ พ.ค. ๒๕๖๔ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-๑๙) การตัดสินใจครั้งใหม่นี้เกิดขึ้นหลังจากจำนวนผู้ป่วยโควิด-๑๙ รายใหม่ในเนปาลลดลงอย่างมาก


• ข้อกำหนดล่าสุดของรัฐบาลเนปาลยังได้ยกเลิกข้อบังคับในการอยู่ในสถานที่กักตัวเป็นเวลา ๑๔ วัน กรณีที่ผู้เดินทางได้รับการฉีดวัคซีนโควิด ครบทั้ง ๒ โดส มาเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๔ วันก่อนเดินทางถึงเนปาล และมีผลทดสอบ RT-PCR เป็นลบ ในระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมงก่อนเดินทาง


• ชาวต่างชาติทุกคนที่เดินทางมาถึงเนปาลจะต้องได้รับการทดสอบ Antigen ที่จุดผ่านแดน หากผลตรวจเป็นลบ จึงจะสามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้โดยตรงโดยไม่ต้องกักตัว แต่กรณีที่ผลทดสอบแอนติเจนเป็นบวกจะต้องถูกกักตัวในโรงแรมจนกว่าจะมีผลตรวจทดสอบที่เป็นลบ หากผลตรวจเป็นบวกจะถูกกักตัว จนกว่าผลการตรวจจะเป็นลบ


• นอกจากนี้ ชาวต่างชาติที่เดินทางมาเนปาลเพื่อจุดประสงค์ในการปีนเขาและเดินป่า หรือกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน ต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในเนปาล รวมถึง หลักฐานแสดงการจองโรงแรมที่พัก และเอกสารที่กรอกออนไลน์จากแบบฟอร์มขาเข้าประเทศของผู้เดินทางระหว่างประเทศ (ผ่านเว็บไซต์ของรัฐบาลเนปาล ccmc.gov.np)

๕. ความร่วมมือในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ จากประเทศยุโรป (เยอรมนี/ฮังการี/ไอซ์แลนด์)


• เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้จัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด AstraZeneca จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ โดส จากฮังการี และรับบริจาควัคซีน AstraZeneca จำนวน ๓๔๖,๑๐๐ โดส จากเยอรมนี และวัคซีน Pfizer จำนวน ๑๐๐,๖๒๐ โดส จากไอซ์แลนด์


• ฮังการี ได้เสนอขายต่อวัคซีน AstraZeneca จำนวนดังกล่าวให้แก่ประเทศไทยในราคาทุนที่ฮังการีซื้อจากผู้ผลิต ความร่วมมือครั้งนี้เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี ซึ่งได้หารือในประเด็นดังกล่าวระหว่างการพบหารือที่การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ที่ผ่านมา


• เยอรมนี ได้เสนอที่จะบริจาควัคซีน AstraZeneca จานวน ๓๔๖,๑๐๐ โดส ให้แก่ประเทศไทย นอกเหนือจากการบริจาคยารักษาโรคโควิดจำนวน ๒,๐๐๐ ยูนิต ที่ได้มอบให้แก่ประเทศไทยก่อนหน้านี้แล้ว โดยขณะนี้วัคซีนดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมการจัดส่ง


• ไอซ์แลนด์ ได้เสนอที่จะบริจาควัคซีน Pfizer จำนวน ๑๐๐,๖๒๐ โดสให้แก่ประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการขนส่ง โดยเป็นการแสดงไมตรีจิตที่ดีของฝ่ายไอซ์แลนด์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับไทยเสมอมา


• การได้รับบริจาคและการจัดซื้อวัคซีนในครั้งนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และราบรื่นระหว่างไทยกับทั้งสามประเทศ ยังเป็นผลมาจากการผลักดันของคณะทำงานจัดสรรวัคซีนโควิด-๑๙ โดยกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล กรุงบูดาเปสต์ และกรุงเบอร์ลิน และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหภาพยุโรปด้วย


๖. การให้ความช่วยเหลือเมียนมาเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙


• เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๔ สมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา (Thai Business Association in Myanmar -TBAM) ได้จัดพิธีมอบสิ่งของช่วยเหลือแก่เมียนมา ภายใต้โครงการ “Here With You” ผ่านระบบ teleconference โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและเมียนมาเข้าร่วมรวมทั้ง เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง

• โครงการ “Here With You” เป็นความร่วมมือระหว่าง TBAM สภากาชาดไทยกับสภากาชาดเมียนมา โดยมี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ให้คำแนะนำในการดำเนินโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงไมตรีจิตต่อประชาชนชาวเมียนมาในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยฝ่ายไทยได้สนับสนุนถังออกซิเจนขนาด ๔๗ ลิตร จำนวน ๓๐๐ ถัง ออกซิเจนเหลวสำหรับเติมถังจำนวน ๙๐ ตัน โดยถังออกซิเจนดังกล่าว สภากาชาดเมียนมา จะจัดสรรไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งคาดว่า จะสามารถนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้ประมาณ ๑,๑๗๐ คน และสามารถนำถังที่ใช้แล้วมาเติมออกซิเจนได้เป็นเวลา ๕ เดือน


• นอกจากนี้ ยังมีการบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญอื่น ๆ ที่สภากาชาดเมียนมามีความต้องการ รวมมูลค่าการบริจาคทั้งสิ้นกว่า ๔.๘ ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนจากบริษัทภาคเอกชนไทยที่ไปลงทุนในเมียนมา ทั้งที่เป็นสมาชิกและนอกเหนือจากสมาชิก TBAM รวมทั้งมีการบริจาคจากประชาชนไทยและเมียนมาที่ได้ร่วมให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการนี้

 

ประเด็น ถาม – ตอบ


คำถาม กรณีที่คณะทำงานของไทย-สหรัฐฯ ได้หารือกันเรื่องวัคซีนที่สหรัฐฯจะมอบให้ไทยอีก ๑ ล้านโดสนั้น
มีความคืบหน้าเป็นอย่างไรบ้าง

คำตอบ วัคซีนไทยกับสหรัฐฯ มี ๒ ชุด ที่ได้รับบริจาคและส่งมอบแล้ว ๑.๕ ล้านโดส และอีก ๑ ล้านโดส อยู่ระหว่างการหารือกันอย่างใกล้ชิดของคณะทำงานไทย-สหรัฐฯ อยู่ในระหว่างการหารือกัน น่าจะมีความคืบหน้าในเร็ว ๆ นี้

 

๗. ประชาสัมพันธ์


๗.๑ ประกาศกรมการกงสุล ตั้งแต่วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป กรมการกงสุลได้มีการปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการของสำนักหนังสือเดินทางทั่วประเทศ รวมทั้งกลับมาเปิดให้บริการสำนักงานฯ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แล้วทั้งหมด ๘ แห่ง โดยจะรองรับผู้ที่ walk-in เข้ามาใช้บริการในจำนวนจำกัด เพื่อความสะดวกในการรับบริการ ผู้ขอรับบริการสามารถจองคิวเข้ารับบริการทำหนังสือเดินทางทั่วประเทศ ได้ที่ www.qpassport.in.th และสามารถจองคิวเข้ารับบริการรับรองเอกสาร ที่กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ สำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ MRT คลองเตย และสำนักงานหนังสือเดินทางฯ เชียงใหม่ ผ่าน https://qlegal.consular.go.th

๗.๒ การเสวนาหัวข้อ “จับตาเศรษฐกิจเวียดนามท่ามกลาง โควิด19 จาก มุมมอง GenY ชาวไทยในเวียดนาม“ โดยกรมเอเชียตะวันออก ในวันศุกร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๙.๓๐ น. กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ จะจัดการเสวนาผ่านทาง Clubhouse หรือ EAS Clubhouse Session ครั้งที่ ๓ ในหัวข้อ “จับตาเศรษฐกิจเวียดนามท่ามกลางโควิด-๑๙ จากมุมมองเจนวายชาวไทยในเวียดนาม” โดยจะมีนักธุรกิจรุ่นใหม่ชาวไทย ๔ ท่าน มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินธุรกิจในเวียดนาม มุมมองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค และการเติบโตของสตาร์ทอัพในเวียดนาม

๗.๓ รายการ Spokesman Live!!! สัมภาษณ์นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ หัวข้อ “การทูตพหุภาคีและบทบาทของไทย ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖” ในวันศุกร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook“กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

๗.๔ รายการบันทึกสถานการณ์ ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) สัมภาษณ์นายณัฐพงศ์ ลัทธพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมพิธีการทูต หัวข้อ “โครงการ e-Privilege ของกรมพิธีการทูต สู่รางวัลเลิศรัฐ” ในวันพฤหัสบดีที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”

๗.๕ รายการ MFA Update ทาง FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) สัมภาษณ์นายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย หัวข้อ “Commemorating 45th Anniversary of Thailand – Vietnam Diplomatic Relations” วันศุกร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสามารถรับฟังย้อนหลังได้ทาง Facebook “FM 88 Radio Thailand English”

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ppt_ประกอบการแถลงข่าวประจำสัปดาห์_7_ต.ค._64.pdf