เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong - Japan Cooperation – MJ) เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยเสนอให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการเข้าถึงวัคซีน การส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานและการเติบโตของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่เพื่ออนาคตของลุ่มน้ำโขงยุคหลังโควิด-๑๙
เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong - Japan Cooperation – MJ) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ MJ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับพัฒนาการความร่วมมือในกรอบ MJ โดยประเทศลุ่มน้ำโขงได้แสดงความขอบคุณญี่ปุ่นที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุน การให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้แก่อนุภูมิภาคมาอย่างยาวนาน รวมทั้งยังได้บริจาคเวชภัณฑ์และวัคซีนจำนวนมากให้แก่อนุภูมิภาคเพื่อใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบ MJ ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งผู้แทนไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ เห็นพ้องว่า ญี่ปุ่นกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงควรเร่งส่งเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน และการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมยังได้ย้ำให้มีการหารือการจัดทำยุทธศาสตร์โตเกียว (Tokyo Strategy) ฉบับใหม่ ปี ค.ศ. ๒๐๒๑ ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศลุ่มน้ำโขงได้ใช้โอกาสนี้แสดงความยินดีกับญี่ปุ่นที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ๒๐๒๐ ที่กรุงโตเกียวได้อย่างดียิ่ง แม้จะประสบปัญหาหลายด้านอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ก็ตาม
อนึ่ง MJ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๑ มีประเทศสมาชิกประกอบด้วยประเทศลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ และญี่ปุ่น ปัจจุบัน ขับเคลื่อนโดยยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๘ เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ภายใต้ ๓ เสาหลัก ได้แก่ (๑) การพัฒนาความเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ (๒) การสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ (๓) การสร้างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว