การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๔ และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๒ – ๗ สิงหาคม ๒๕๖๔

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๔ และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๒ – ๗ สิงหาคม ๒๕๖๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,699 view

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๔ และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๒ – ๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล รวมทั้งสิ้น ๑๘ การประชุม และมีรัฐมนตรีต่างประเทศหรือผู้แทนเข้าร่วมจาก ๒๘ ประเทศทั่วโลก

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต และเติบโตไปด้วยกัน ตามแนวคิดหลักการเป็นประธานอาเซียนปี ๒๕๖๔ ของบรูไน ดารุสสลาม รวมทั้งหารือเกี่ยวกับการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนท่ามกลางความไม่แน่นอนและความท้าทายของสถานการณ์ในภูมิภาคและโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะใช้โอกาสนี้หารือเกี่ยวกับการติดตามการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อ เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ของการประชุมผู้นำอาเซียน เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔ และเตรียมการสำหรับการประชุมสำคัญที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๙ และ ๓๙ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังเป็นโอกาสหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ฯลฯ กรอบอาเซียนบวกสาม กรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เกี่ยวกับพัฒนาการในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ จะทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-อินเดียร่วมกับ ดร. สุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ก่อนที่ไทยจะส่งมอบหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียให้แก่สิงคโปร์ และรับมอบตำแหน่งผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (วาระปี ๒๕๖๓ – ๒๕๖๖) ต่อจากเวียดนาม

รองนายกรัฐมนตรีฯ จะใช้โอกาสการเข้าร่วมการประชุมผลักดันความร่วมมือภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ตลอดจนความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูอย่างครอบคลุมจากผลกระทบของโควิด-๑๙ รวมทั้งการส่งเสริมระบอบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยมเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของภูมิภาคและของโลก