การเยือนสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) อย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๑ - ๒ สิงหาคม ๒๕๖๗

การเยือนสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) อย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๑ - ๒ สิงหาคม ๒๕๖๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ส.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 ส.ค. 2567

| 3,620 view

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ ๑ - ๒ สิงหาคม ๒๕๖๗ ตามคำเชิญของนายโช แท-ย็อล (H.E. Mr. Cho Tae-yul) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งถือเป็นการเยือนสาธารณรัฐเกาหลีครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์

ในระหว่างการเยือนสาธารณรัฐเกาหลีครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เยี่ยมคารวะนายฮัน ด็อก-ซู (H.E. Mr. Han Duck-soo) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๗ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี มีความสำคัญอย่างยิ่ง และมีพื้นฐานจากการร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ในสงครามเกาหลีเมื่อ ๗๐ ปีก่อน จึงจะร่วมมือกันกระชับความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคตต่อไป โดยเฉพาะการเพิ่มพูนมูลค่าการค้าการลงทุน การลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตโดยเฉพาะพลังงานปลอดคาร์บอนและพลังงานนิวเคลียร์ และการเอื้อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชน และต่อยอดรากฐานความสัมพันธ์ที่อบอุ่นระหว่างไทย-สาธารณรัฐเกาหลี

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีกับนายโช แท-ย็อล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความร่วมมือไทย-สาธารณรัฐเกาหลีที่มุ่งสู่อนาคตมากขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ (๑) พลังงานสะอาด ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์และเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) (๒) เทคโนโลยีและการเงินดิจิทัล โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ธนาคารสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ในไทย และ (๓) อุตสาหกรรมคอนเทนต์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความยินดีที่การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – สาธารณรัฐเกาหลีรอบแรกผ่านไปด้วยดี โดยความตกลงดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นมูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ และดึงดูดนักลงทุนสาธารณรัฐเกาหลีพร้อมทั้งห่วงโซ่อุปทานเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่ายินดีว่า ทั้งสองฝ่ายได้มีการจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี (Joint Cultural Committee: JCC) เพื่อร่วมมือด้านซอฟต์พาวเวอร์ การแลกเปลี่ยนระดับประชาชนและเยาวชน และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ โดยจะมีประธานร่วมเป็นอธิบดีของกรมที่เกี่ยวข้องของกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานสาขาวัฒนธรรมและคอนเทนต์ไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JCC ครั้งแรกในไตรมาสสุดท้ายของปี ๒๕๖๗

สำหรับความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคงนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่จะจัดตั้งกลไกหารือทวิภาคีว่าด้วยความมั่นคงแบบ ๒+๒ คือ ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมไทย-สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและแลกเปลี่ยนท่าทีเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคในปัจจุบัน

ในด้านความร่วมมือระดับประชาชน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว และการปรับปรุงระบบคัดกรองคนเข้าประเทศของทั้งสองฝ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปมาระหว่างกัน นอกจากนี้ จะร่วมกันจัดตั้งกรอบความร่วมมือใหม่เพื่อส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อาทิ Working Holiday Programme รวมถึงการขยายกรอบที่มีอยู่แล้วให้สามารถรองรับแรงงานมากขึ้นได้ อาทิ ระบบการอนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System: EPS) และการจัดส่งแรงงานตามฤดูกาล (Seasonal Workers programme)

สำหรับประเด็นความร่วมมือในระดับภูมิภาคนั้น ทั้งสองฝ่ายจะเสริมสร้างความร่วมมือในกรอบอาเซียนและกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีในปัจจุบัน (วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๔ - ๒๐๒๗) และยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคและโลก อาทิ สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี

นอกจากนี้ ในห้วงการเยือนครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้พบหารือกับบริษัทเอกชนชั้นนำของสาธารณรัฐเกาหลี พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานทีมประเทศไทยด้านเศรษฐกิจประจำกรุงโซล เพื่อสำรวจโอกาสทางธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มเติม โดยนายมาริษฯ ได้ย้ำจุดแข็งของประเทศไทย ว่ามีที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนักธุรกิจเกาหลีสามารถใช้เป็นศูนย์กลางเพื่อขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้โดยสะดวกอย่างต่อเนื่องต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ