ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมการสัมมนานานาชาติ เรื่องการสาธารณสุขและการทูต ณ กรุงธากา บังกลาเทศ

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมการสัมมนานานาชาติ เรื่องการสาธารณสุขและการทูต ณ กรุงธากา บังกลาเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ก.ค. 2566

| 11,944 view

เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมงานสัมมนานานาชาติ เรื่องการสาธารณสุขและการทูต (Public Health and Diplomacy) ณ กรุงธากา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัวบังกลาเทศ เป็นเจ้าภาพ

นาง Sheikh Hasina นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ได้ให้เกียรติมาร่วมเปิดงานดังกล่าว เพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๕ ปี ของ WHO และหารือเกี่ยวกับความท้าทายด้านสาธารณสุขในมุมมองเชิงการทูต และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการรับมือกับความท้าทายในภูมิภาคที่ดีที่สุด โดยงานสัมมนาฯ มีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ได้แก่ คณะผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAR) (บังกลาเทศ มัลดีฟส์ ภูฏาน เมียนมา ไทย) เจ้าหน้าที่อาวุโสจาก SEAR ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำเสนอความเห็นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการสาธารณสุขและการทูต ดังนี้

(๑) ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องลงทุนด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตมากขึ้น โดยเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อความท้าทายด้านสุขภาพในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์อย่างเท่าเทียมกัน และการสนับสนุนการพัฒนาและจัดสรรสินค้าสาธารณะของโลกสำหรับสุขภาพ ทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน

(๒) การทูตสาธารณสุข สามารถช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และส่งเสริมคุณค่าพื้นฐาน เช่น ความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน และความมั่นคงของมนุษย์

(๓) การขับเคลื่อนวาระด้านสุขภาพผ่านการทูตเป็นสิ่งที่เอื้อและจำเป็นต่อการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ งานสัมมนาฯ ยังเป็นโอกาสสำหรับไทยในการตอกย้ำความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนที่มีมาอย่างยาวนานกับบังกลาเทศ ทั้งในระดับทวิภาคีและผ่าน WHO SEAR รวมทั้งย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือดังกล่าวกับพันธมิตรระหว่างประเทศอื่น ผ่านการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติด้านสาธารณสุข ที่จะมีขึ้นในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๘ ในเดือนกันยายนนี้ ได้แก่ (๑) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (๒) วัณโรค และ (๓) การป้องกัน การเตรียมพร้อม และการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ