ไทยจัดกิจกรรมการแบ่งปันประสบการณ์ในการส่งเสริมสิทธิด้านการศึกษาเพื่อปวงชนที่สมาพันธรัฐสวิส

ไทยจัดกิจกรรมการแบ่งปันประสบการณ์ในการส่งเสริมสิทธิด้านการศึกษาเพื่อปวงชนที่สมาพันธรัฐสวิส

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ก.ค. 2566

| 5,230 view

เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส จัดกิจกรรมคู่ขนานเรื่องการแบ่งปันประสบการณ์ในการส่งเสริมสิทธิด้านการศึกษาเพื่อปวงชน (Experience-Sharing on the Promotion of the Right to Education for All) ระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๕๓ ณ นครเจนีวา จัดขึ้นในโอกาสการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณเป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องด้วยคุณูปการจากพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม

ผู้อภิปรายที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ค.ศ. ๒๐๑๐-๒๐๑๑) นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นาย Yao Ydo ผู้อำนวยการ UNESCO International Bureau of Education (UNESCO-IBE) ณ นครเจนีวา และนาย Ignasi Grau Callizo ผู้อำนวยการทั่วไป International Organization for the Right to Education and Freedom of Education (OIDEL) และดำเนินการเสวนาโดยนาย Pradeep Wagle หัวหน้าฝ่าย Economic, Social and Cultural Rights ประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ณ นครเจนีวา

ผู้อภิปรายได้แบ่งปันประสบการณ์ด้านการศึกษาโดยสอดคล้องกับความมุ่งมั่นและพระกรณียกิจใน
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่จะส่งเสริมให้เด็กไม่ถูกกีดกันและสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและครอบคลุม เนื่องจากเห็นว่า การศึกษาไม่ใช่สิทธิพิเศษ แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน และเป็นเครื่องมือเสริมพลังที่สำคัญที่จะนำไปสู่การมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการสร้างโอกาสในมิติต่าง ๆ ของชีวิต

นอกจากนี้ ผู้อภิปรายยังได้กล่าวถึงความท้าทายด้านการศึกษาในปัจจุบันที่ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศยังอยู่ห่างไกลจากการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๔ (SDG4) ด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันอันเกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ มีส่วนทำให้ความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาทวียิ่งขึ้น ในขณะที่กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษาอาจประสบกับความเสี่ยงจากสิ่งต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการมีแนวคิดที่นิยมความรุนแรง ดังนั้น จึงต้องพัฒนาการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลให้รวมถึงการบ่มเพาะค่านิยมด้านสันติภาพการดำรงอยู่ร่วมกัน ความอดทนอดกลั้น และสิทธิมนุษยชน โดยการศึกษาสามารถเป็นเครื่องมือในการส่งเสริม (Promotion) และการคุ้มครอง (Protection) สิทธิมนุษยชน รวมทั้งการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Prevention) ได้ ทุกภาคส่วนจึงควรร่วมมือกันอย่างเป็นระบบเพื่อยกระดับการศึกษาให้ทันต่อบริบทโลกปัจจุบันและสนองต่อทุกคนในสังคม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ