สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพุธที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔ (๒๗ ม.ค. ๒๕๖๕)
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
- รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นรางวัลที่มอบแก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติทางด้านการแพทย์ และด้านการสาธารณสุข เป็นประจำทุกปี รางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตรและเงินรางวัลจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ
- ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๓ สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ. ดร. นพ.วาเลนติน ฟูสเตอร์ (Valentin Fuster, MD, PhD.) จากสหรัฐฯ จากการศึกษาวิจัยบทบาทของเกล็ดเลือด ในกระบวนการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ และประโยชน์ของการให้ยาต้านเกล็ดเลือดเพื่อป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์เบอนาร์ด พีคูล (Bernard Pécoul, MD, MPH.) จากฝรั่งเศส จากการจัดทำโครงการจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชากรทั่วโลก
- ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๔ สาขาการแพทย์ ได้แก่ (๑) ศ. ดร.กอตอลิน กอริโก (Katalin Karikó, Ph.D.) จากฮังการี/สหรัฐฯ และ ศ. ดร. นพ. ดรู ไวส์แมน (Drew Weissman, M.D., Ph.D.) จากสหรัฐฯ จากการศึกษาวิจัยวิธีการนำเมสเซนเจอร์ อาร์เอนเอ (mRNA) มาใช้ในทางการแพทย์ ทำให้เกิดวัคซีนโควิด-๑๙ ชนิด mRNA (๒) ศ. ดร.ปีเตอร์ คัลลิส (Pieter Cullis, Ph.D.) จากแคนาดา จากการวิจัยอนุภาคไขมัน ลิปิดนาโนพาร์ติเคิล จนถูกนำมาใช้นำมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-๑๙ ชนิด mRNA
๒. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการในต่างประเทศ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ (๓๑ ม.ค. ๒๕๖๕)
- รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการในต่างประเทศ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีผู้บริหารของส่วนราชการจาก ๓๒ หน่วยงานเข้าร่วม คณะกรรมการบริหารราชการในต่างประเทศ เป็นกลไกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการการทำงานด้านการต่างประเทศของทุกส่วนราชการ โดยเฉพาะส่วนราชการที่มีสำนักงานในต่างประเทศ หรือ “ทีมประเทศไทยในต่างประเทศ”
- ที่ประชุมได้หารือกันเกี่ยวกับการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่างประเทศ (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) หรือ “แผน 5S/๕ มี” เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน มีมาตรฐานสากล มีสถานะและเกียรติภูมิ และมีพลัง รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการเข้ารับการประเมินผล ๕ ปีแรก (๒๕๖๑ – ๒๕๖๕) ของการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ ที่จะมีขึ้นปลายปี ๒๕๖๕
- ที่ประชุมฯ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับจุดเน้นของการดำเนินงานในปี ๒๕๖๕ เพื่อให้ประเด็นด้านต่างประเทศช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยจากผลกระทบของโควิด-๑๙ และความท้าทายต่าง ๆ ที่ประชุมเห็นพ้องกันให้เพิ่มความสำคัญกับการดำเนินงานผ่านกรอบการหารือกับต่างประเทศ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะการประชุมเอเปค และ BIMSTEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ เพื่อฟื้นฟูและวางรากฐานเศรษฐกิจ-สังคมไทยสำหรับอนาคต และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย
- ที่ประชุมฯ ได้หารือเรื่อง soft power ในระดับชาติเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ ครอบคลุม ต่อเนื่อง มีเอกภาพและเป็นระบบ โดยจะเสนอให้คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (กตน.) พิจารณาในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ต่อไป
๓. กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยจัดงานสัมมนา “Driving Post-COVID Economic Recovery as APEC Host Economy 2022 (๓๑ ม.ค. ๒๕๖๕)
- กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand - FCCT) จัดงานเสวนา ที่ FCCT เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมกับผู้แทนสื่อมวลชนต่างประเทศ คณะทูต พันธมิตรภาคเอกชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมด้วยตนเองและแบบออนไลน์รวมกว่า ๗๐ ท่าน
- นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ อธิบายภาพใหญ่ของการประชุมเอเปคในยุคโควิด-๑๙ ที่มีความท้าทายสูง ภายใต้แนวคิดที่ไทยเสนอ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open, Connect, Balance” ได้แก่ การฟื้นฟูความเชื่อมโยงระหว่างกันให้สะดวกและปลอดภัยในยุคหลังการระบาดของโรคโควิด-๑๙ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจเอเปค และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์จากการเป็นประเทศเจ้าภาพในครั้งนี้
- นางสาวจณัญญา บัณฑุกุล ผู้อำนวยการสำนักอเมริกา แปซิฟิก และองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความตกลงเขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และให้ความสำคัญกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-commerce ซึ่งจะช่วยให้ขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลกได้มากขึ้น
- นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ระบุว่า ABAC ได้กำหนดแนวคิดหลักสำหรับการประชุมเอเปคในกรอบภาคเอกชนไว้เช่นกันคือ “เปิดรับ ร่วมมือ และขยายข้อจำกัด” หรือ “Embrace, Engage, Enable” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของภาครัฐ นอกจากนี้ นางสาวอชิรญา ธรรมปริพัตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไฮฟ์สเตอร์ ระบุ โควิด-๑๙ ได้เปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวและการดำเนินธุรกิจไปสิ้นเชิง ไทยต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการประชุมเอเปคที่จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมโยงอย่างปลอดภัย
- ท่านสามารถรับชมคลิปการเสวนาย้อนหลังได้ที่ >>>
๔. ความคืบหน้าระบบ Thailand Pass
- เมื่อวันที่ ๑ ก.พ. ที่ผ่านมากรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดลงทะเบียน Thailand Pass แบบ Test and Go อีกครั้งหนึ่ง สถานะล่าสุด มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Thailand Pass ตั้งแต่การเริ่มใช้ระบบครั้งแรกแล้ว ทั้งสิ้น ๑,๐๑๕,๕๘๐ คน ได้รับอนุมัติแล้ว ๗๙๔,๑๙๘ คน โดยในจำนวนผู้ได้รับอนุมัติแล้ว เป็นผู้ลงทะเบียนเดินทางเข้าแบบ Test and Go ๕๒๙,๓๗๗ คน แบบ Sandbox ๒๐๔,๑๗๐ คน และแบบ AQ ๖๐,๖๕๑ คน (สถานะ ณ วันที่ ๒ ก.พ. ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น.)
- ในส่วนของการลงทะเบียนแบบ Test and Go ที่มาเปิดรับอีกครั้งเมื่อวานนี้ (๑ ก.พ. ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น.) มีผู้ลงทะเบียนเข้ามาแล้วทั้งสิ้น ๒๖,๗๔๓ คน (สถานะ วันที่ ๒ ก.พ. ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น.) การลงทะเบียนต้องมีการตรวจสอบและใช้เวลาในการพิจารณาเอกสาร
- สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยทุกคน ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ Thailand Pass (https://tp.consular.go.th) เท่านั้น โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ (๑) เดินทางได้จากทุกประเทศ/พื้นที่ (๒) ต้องมีหลักฐานการได้รับวัคซีนที่ประเทศไทยรับรอง อย่างน้อย ๑๔ วันก่อนเดินทาง (๓) บุคคลสัญชาติไทย ไม่ต้องซื้อประกันภัย (๔) มีหลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรม SHA extra+ /AQ ในวันที่เดินทางถึง และวันที่ ๕ (โรงแรมต่างกันได้) รวมถึงหลักฐานยืนยันการเข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ๒ ครั้ง ในวันแรกและวันที่ ๕ เพื่อให้การตรวจ RT-PCR ครั้งที่ ๒ มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทบทวนมาตรการต่าง ๆ เป็นระยะต่อไป (๕) สำหรับผู้เดินทางที่มีแผนจะอยู่ในไทยไม่เกิน ๕ วัน สามารถแสดงข้อมูลการเดินทางขาออกจากประเทศไทย แทนการตรวจในวันที่ ๕ ได้
- ผู้ลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass จะต้องได้รับ Thailand Pass QR code แล้วเท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไทย ขอแนะนำให้ทุกท่าน วางแผนการเดินทางและลงทะเบียนก่อนวันเดินทางจริงอย่างน้อยประมาณ ๗ วัน เพื่อเป็นการเผื่อเวลาสำหรับกระบวนการต่าง ๆ ด้วย กรมควบคุมโรคและกรมการกงสุล ได้เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกในส่วนของการลงทะเบียน Thailand Pass แล้ว
๕. แนวปฏิบัติของไทยกรณีเด็กติดเชื้อโควิด-๑๙
- จากกรณีที่มีข้อห่วงกังวลในหมู่นักเดินทางชาวต่างชาติเกี่ยวกับแนวปฏิบัติกรณีที่เด็กที่เดินทางมาด้วยได้รับเชื้อโควิด-๑๙ ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข กำหนดแนวทางการดูแลเด็กและครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด-๑๙ แบบไม่แสดงอาการ ดังนี้
(๑) กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อและผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้เข้ารับการรักษา โดยเน้นให้จัดอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว
(๒) กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองไม่เป็นผู้ติดเชื้อ ให้เด็กเข้ารับการรักษาพยาบาล ส่วนผู้ปกครองที่อายุไม่เกิน ๖๐ ปี ไม่มีโรคประจำตัว สามารถเข้าดูแลเด็ก ในสถานพยาบาลได้
(๓) กรณีเด็กไม่เป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้ญาติเป็นผู้ดูแล หากไม่มีญาติหรือผู้ดูแลเด็กจะจัดให้ไปสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้ดูแล หรือถ้าในชุมชนพบเด็กไม่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจำนวนมากอาจพิจารณาใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นที่ดูแลเด็ก โดยคณะกรรมการป้องกันโรคจังหวัด/ กทม.จะเป็นผู้พิจารณา
๖. ไทยให้ความช่วยเหลือแก่ตองกาจากเหตุภัยพิบัติภูเขาไฟระเบิด
- ตามที่เกิดการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล Hunga-Tonga-Hunga-Ha’apai (ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย) ที่ตองกา เมื่อวันที่ ๑๕ ม.ค. ๒๕๖๕ ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิที่สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินในหลายพื้นที่ตามแนวฝั่งของตองกาและประเทศใกล้เคียง รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ เห็นชอบให้ความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรตองกาเงิน เป็นเงินจำนวน ๒๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๘๗๕,๐๐๐ บาท) เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบทางด้านมนุษยธรรม และเป็นสัญลักษณ์ของความห่วงใยจากมิตรประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา จะดำเนินการต่อไป
๗. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
- วันพรุ่งนี้ (๓ ก.พ. ๒๕๖๕) เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) จะสัมภาษณ์นายสธน เกษมสันต์ ณ อยุธยา อุปทูต ณ กรุงริยาด หัวข้อ “การเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างของนายกรัฐมนตรี” รับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
- ในวันศุกร์ที่ ๔ ก.พ. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส หัวข้อ “French Management of Covid-19: Lessons for Thailand” รับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
๘. รายการ Spokesman Live!!!
- ในวันศุกร์ที่ ๔ ก.พ. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. รายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หัวข้อ “โครงการยุวทูตความดีกับการพัฒนาประเทศ” สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”
* * * * *
รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/aVSup1bpM2/
คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”:https://www.youtube.com/user/mfathailand