Panel Discussion จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศและสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หัวข้อ “Driving Post-COVID Economic Recovery as APEC Host in 2022”

Panel Discussion จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศและสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หัวข้อ “Driving Post-COVID Economic Recovery as APEC Host in 2022”

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,705 view

เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๕ กระทรวงการต่างประเทศและสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand - FCCT) จัดงานเสวนาแบบ hybrid ที่ FCCT เพื่อแนะนำประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค และแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีสื่อมวลชนต่างประเทศ คณะทูต พันธมิตรภาคเอกชน และส่วนราชการ เข้าร่วมด้วยตนเองและแบบออนไลน์รวมกว่า ๗๐ ท่าน

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย ย้ำว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
เอเปคในยุคหลังโควิด-๑๙ และประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับ ด้วยแนวคิดหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” เน้นการตอบสนองต่อสภาวการณ์ของไทยและภูมิภาคที่กำลังเผชิญปัญหามิติต่าง ๆ ซึ่งไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG มาเป็นแนวคิดเบื้องหลังเพื่อเปลี่ยนมุมมองการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และการดำเนินชีวิตไปสู่การสร้างสมดุลควบคู่กับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยตลอดทั้งปีจะมีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรี ๙ ครั้ง ครอบคลุมด้านการค้า การคลัง สุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร ป่าไม้ การท่องเที่ยว SMEs และสตรี และจะมีการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕


นางสาวจณัญญา บัณฑุกุล ผู้อำนวยการสำนักอเมริกา แปซิฟิก และองค์การระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เน้นการขับเคลื่อนการทำเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก  (FTAAP) ในยุคหลังโควิด-19 โดยมุ่งให้เกิดพัฒนาการเชิงรูปธรรม ไทยจะให้ความสำคัญกับการนำประเด็นท้าทายใหม่ โดยเฉพาะในบริบท
ยุคโควิด-๑๙ มาอยู่ในบทสนทนาเพื่อขับเคลื่อน FTAAP ในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อไทยและภูมิภาค และจะให้ความสำคัญกับ MSMEs ด้วยการใช้ประโยชน์จาก
e-commerce เทคโนโลยีดิจิทัลใน supply chain และการนำแนวคิด BCG มาปรับใช้ โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าและบริการ

นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ระบุว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของการประชุมเอเปคคือภาคเอกชน ABAC จึงกำหนดแนวคิดหลักสำหรับการประชุมเอเปคในกรอบของภาคเอกชนไว้ คือ “เปิดรับ ร่วมมือ และขยายข้อจำกัด” หรือ “Embrace, Engage, Enable” โดยภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจแบบ BCG สรรค์สร้างทิศทางเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว หรือภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ จะขับเคลื่อนการเปิดพรมแดนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอีกครั้ง รวมทั้งการแสวงหาแนวทางเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

สำหรับมิติการท่องเที่ยว นางสาวอชิรญา ธรรมปริพัตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไฮฟ์สเตอร์ ระบุว่า โควิด-๑๙ ได้เปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวและการทำงานอย่าง
สิ้นเชิง  ผู้ประกอบการหันไปให้ความสำคัญกับความหลากหลายของตลาด รูปแบบการท่องเที่ยว และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบจากความท้าทายรูปแบบต่าง ๆ  นอกจากนี้ ยังชี้ถึงความสำคัญของเป้าหมายการประชุมเอเปค 2022 ที่จะฟื้นฟูความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างสะดวกและปลอดภัย 

ผู้ร่วมเสวนาสนใจสอบถามหลายประเด็น อาทิ อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจต่อการกำหนดทิศทางและนโยบายของเอเปค ผลกระทบจากข้อตกลง FTAAP การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต รวมถึงการสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมของเอเปคภายใต้การเป็นเจ้าภาพของไทยในปีนี้