สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 7,439 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.

ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live

 

๑. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับสูงภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง (Asia-Pacific High level Conference on Belt and Road Cooperation) เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ

  • ที่ประชุมหารือเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือในการกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านความร่วมมือด้านการวิจัย ผลิต และกระจายวัคซีนโควิด-๑๙ และผลักดันแนวคิดเส้นทางสายไหมสีเขียว (Green Silk Road) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผลักดัน ๒ ประเด็นหลัก ได้แก่
    • การเจริญเติบโตและการพื้นตัวจากวิกฤตที่ต่อเนื่อง ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่น (Sustained, Sustainable and Resilient growth) โดยย้ำว่า BRI เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือ ไทยจึงสนับสนุนข้อริเริ่มทั้งในเรื่องวัคซีนโควิด-๑๙ และการพัฒนาสีเขียว
    • การผลักดันความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ BRI ได้แก่ (๑) ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน โดยเฉพาะในสาขาดิจิทัล (๒) ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างระเบียงเศรษฐกิจของ BRI และกับระเบียงเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการและสร้างความเข้มแข็งให้ห่วงโซ่อุปทาน (๓) ขยายความร่วมมือด้าน BCG สุขภาพ พลังงาน และอาหาร อย่างเป็นองค์รวม และ (๔) สอดประสานระหว่าง BRI กับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ รวมทั้ง APEC และ BIMSTEC

 

๒. นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ หารือกับนายปาโบล อันเซลโม เตตตามันติ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศฯ อาร์เจนตินา เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

  • ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อขยายความร่วมมือในสาขาที่เป็นรูปธรรมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการค้าการลงทุน ผ่านระบบ e-commerce และการจัดงานแสดงสินค้าออนไลน์ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอลของอาร์เจนตินา กับกีฬามวยและเซปักตะกร้อของไทย ตลอดจนความร่วมมือด้านแฟชั่น และการออกแบบศิลปะแขนงต่าง ๆ
  • ฝ่ายอาร์เจนตินาประสงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทย ทั้งในด้านการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อาทิ การผลิตและใช้ถั่วเหลืองอย่างยั่งยืน และการพัฒนาพันธุกรรมของอ้อยเพื่อผลิตพลังงานชีวภาพ

 

๓. นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดงานเสวนาเวทีนโยบายมุ่งใต้ใหม่ว่าด้วยความเชื่อมโยง (New Southern Policy Forum on Connectivity) ในหัวข้อ “การสร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วน” จัดโดยรัฐบาลเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔

  • ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชูบทบาทและผลงานของไทยในการส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในประเทศไทย อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และอาเซียน โดยเฉพาะข้อริเริ่มของไทยเรื่อง Connecting the Connectivities Initaitive ที่ส่งเสริมการเชื่อมโยงอาเซียนกับภาคีนอกภูมิภาค และข้อเสนอแนะจากการสัมมนาเรื่อง “Connecting the Connectivities: Synergy through Enhanced Partnership” ที่กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับธนาคารโลกและสำนักงานเลขาธิการอาเซียนจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ อาทิ การพัฒนา ASEAN Digital Hub การจัดตั้ง ASEAN Digital Trade Platform และการพัฒนาระบบ Multimodal Transport ของภูมิภาค
  • ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเน้นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่เข้มแข็งและยั่งยืน และนำไปสู่ “การสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

๔. ผลการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่อง CPTPP กับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

  • กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP) กับสื่อมวลชนด้านเศรษฐกิจ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมวิชาการเกษตร และภาควิชาการจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ผู้แทนภาครัฐและภาควิชาการ ให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชนทั้งบริบทของ CPTPP ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ โอกาสและความท้าทาย ตลอดจนประเด็นที่เป็นข้อกังวล อาทิ การคุ้มครองพันธุ์พืช การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุนต่างชาติ การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ รวมทั้งการดำเนินการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในการหารือรับฟังความคิดเห็นกับกระทรวงต่าง ๆ และภาคเอกชน
  • ที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนเสนอความเห็นอย่างกว้างขวางและสร้างสรรค์ รวมถึงโอกาสที่ไทยอาจเสียหากไม่เริ่มเข้ากระบวนการเจรจาเข้าร่วม CPTPP โดยเฉพาะการหลุดจากห่วงโซ่การค้าโลกและการเสียโอกาสปรับปรุงกฎระเบียบการค้าของประเทศให้ก้าวทันมาตรฐานโลกยุคใหม่ ที่ประชุมยังเห็นพ้องว่า ไทยจำเป็นปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อรองรับความตกลงด้านการค้าและเขตการค้าเสรีในโลกยุคใหม่

 

๕. รัฐบาลญี่ปุ่นมอบวัคซีน AstraZeneca

  • ตามที่ นายโมเทกิ โทชิมิทสึ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ของบริษัท AstraZeneca ให้แก่รัฐบาลไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ หากญี่ปุ่นและประเทศผู้รับมอบดังกล่าวสามารถบรรลุความตกลงร่วมกันได้
  • กระทรวงการต่างประเทศขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับไมตรีจิตในการมอบวัคซีนของบริษัท AstraZeneca ให้แก่รัฐบาลไทย ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศกำลังประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขและสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การนำวัคซีนเข้ามาไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและโดยเร็วที่สุด

 

๖. การเดินทางเข้าออกประเทศของคนไทยและชาวต่างชาติในสถานการณ์โควิด-๑๙

  • ระหว่างวันที่ ๑ - ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีคนไทยที่ลงทะเบียนและกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๑,๕๕๖ คน แบ่งเป็น (๑) จุดผ่านแดนเมียนมา จำนวน ๕๗ คน (๒) จุดผ่านแดนกัมพูชา จำนวน ๙๓๘ คน (๓) จุดผ่านแดน สปป.ลาว จำนวน ๙๙๕ คน (๔) จุดผ่านแดนมาเลเซีย จำนวน ๓๐๕ คน
  • หน่วยงานความมั่นคงตามแนวชายแดนยังคงตรวจพบและจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดน ทั้งตามช่องทางธรรมชาติและพื้นที่ชั้นในได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้มีสัญชาติไทยและแรงงานสัญชาติประเทศเพื่อนบ้าน โดยจากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง พบผู้กระทำความผิดลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ มากถึง ๕,๒๒๓ คน ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดต่อเดือนนับตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-๑๙ และระหว่างวันที่ ๑ - ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ลักลอบเข้าเมืองแล้ว ๓,๘๙๙ คน
  • เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้ร่วมกันจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัดกว่า ๑,๕๐๐ จุด และจัดกำลังลาดตระเวนป้องปรามและพิสูจน์ทราบในพื้นที่ต่าง ๆ กว่า ๒,๐๐๐ ชุด เพื่อคุมเข้มการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดนและการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยผิดกฎหมาย ป้องกันความเสี่ยงปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
  • กระทรวงการต่างประเทศขอเน้นย้ำให้คนไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับเข้าไทยผ่านจุดผ่านแดนทางบก ขอให้ท่านลงทะเบียนขอรับหนังสือรับรองสำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry-COE) จากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ ก่อนเดินทางกลับ โดยสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://dcaregistration.mfa.go.th จุดผ่านแดนถาวรทางบกจะเปิดสำหรับการเดินทางเข้าประเทศจากประเทศเพื่อนบ้าน ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์

 

๗. กรณีข่าวปลอมเรื่อง สปป.ลาว เปิดให้คนไทยเดินทางเข้าไปฉีดวัคซีน Pfizer ฟรีี

  • จากกรณีที่มีสื่อมวลชนหลายสำนัก นำเสนอข่าวว่าประเทศ สปป.ลาว เปิดให้คนไทยเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ยี่ห้อ Pfizer โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวบิดเบือน โดย สปป.ลาว ยังปิดประเทศ ไม่เปิดให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศยกเว้นผู้มีความจำเป็นที่ต้องได้รับอนุญาตจากคณะเฉพาะกิจเพื่อป้องกัน ควบคุม และแก้ไขการระบาดของโควิด-๑๙ เท่านั้น

 

๘. การจัดอันดับของไทยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ๒๐๒๑ โดย Sustainable Development Solutions Network (SDSN)

  • รายงาน Sustainable Development Report 2021 (SD Report 2021) ซึ่งติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่าง ๆ อย่างไม่เป็นทางการ โดยไทยถูกจัดอยู่ที่อันดับ ๔๓ จากทั้งหมด ๑๖๕ ประเทศ ถือเป็นอันดับที่ ๑ ของอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ ๓ และยังได้คะแนน SDG Index ที่ ๗๔.๑๙ คะแนน สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยในภูมิภาคที่ ๖๗.๙๓ คะแนน
  • ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ ๑ การขจัดความยากจน และมีเป้าหมายที่ยังคงเป็นความท้าทายสูง (สถานะสีแดง) ได้แก่ เป้าหมายที่ ๒ ขจัดความหิวโหย เป้าหมายที่ ๓ มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ ๑๐ ลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายที่ ๑๔ การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล และเป้าหมายที่ ๑๕ การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศน์ทางบก

 

๙. ประชาสัมพันธ์

๙.๑ รายการ Spokesman Live!!!

  • วันศุกร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ขอเชิญติดตามรายการคุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! โดยสัปดาห์นี้มีผู้ดำเนินรายการพิเศษ คือ นางสาวสิริสาข์ ประชุมญาติ นักการทูตปฏิบัติการ จะสัมภาษณ์นักการทูตรุ่นใหม่ ๒ ท่าน ในหัวข้อ “ประสบการณ์การทำงาน ณ กรมสารนิเทศ” สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

 

๙.๒ รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

  • วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) สัมภาษณ์ ดร. ไกรจักร ธีรตยาคีนันท์ นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) หัวข้อ “ประเด็น CPTPP : อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ค.ศ. ๑๙๙๑” สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”
  • วันศุกร์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ในหัวข้อ “ Post Covid-19 Opportunities for Thai-China Cooperation” ติดตามได้ทาง Facebook “FM 88 Radio Thailand English”

 

.๓ รายการคุยกับทูต ซีซั่น ๒

  • วันเสาร์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. รายการคุยกับทูต ซีซั่น ๒ จะสัมภาษณ์นายธงชัย ชาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ติดตามได้ทางเฟสบุ๊ก Saranrom Radio เว็บไซต์ co หรือพอดคาสท์ The Cloud

 

.๔ รายการ “วาไรตี้การทูต”

  • วันศุกร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๕.๓๐ - ๐๖.๐๐ น. ขอเชิญชมรายการ “วาไรตี้การทูต” ซึ่งจะนำเสนอแง่มุมการทำงานและความรู้เกี่ยวกับพิธีการทูต ดำเนินรายการโดยกองรับรอง กรมพิธีการทูต ติดตามรับฟังได้ทางสถานีวิทยุสราญรมย์ AM1575 kH หรือชมย้อนหลังได้ที่ Facebook “Saranrom Radio”

 

๑๐. คำถามจากสื่อมวลชน

๑๐.๑ ความคืบหน้าล่าสุดของการศึกษา CPTPP เป็นอย่างไร และจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อใด อย่างไร

  • คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา และกำลังจะรายงานคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องขอย้ำว่า ในระยะที่ผ่านมา กนศ.ได้นำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก มาศึกษาอย่างละเอียด โดยแยกเป็นประเด็นข้อสังเกตกว่า ๑๐๐ ข้อว่าไทยจะต้องปรับตัวในเรื่องใดบ้างเพื่อให้มีความพร้อม ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ทำแผนการปรับตัวมานำเสนอต่อ กนศ.. ซึ่งในภาพรวม เห็นว่า มีความพร้อมปรับตัวตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ได้ มีเพียงไม่กี่ประเด็นที่ยังมีข้อห่วงกังวลอยู่ อาทิ ผลกระทบต่อเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจในระดับนโยบายต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของการเยียวยาระยะสั้น และการพัฒนาศักยภาพในระยะกลางและระยะยาว
  • นอกจากประเด็นที่ระบุไว้ในรายงาน กนศ.ยังได้พิจารณาประเด็นข้างเคียงที่สำคัญอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก หรือแนวโน้มการเปิดเสรีของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นพันธมิตรและคู่แข่งทางการค้าของไทย รวมถึงกฎระเบียบทางการค้าใหม่ ๆ ของโลกที่มีผลกระทบต่อไทยไม่ว่าจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่
  • กนศ.จะนำเสนอภาพรวมทั้งหมดให้คณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อตัดสินใจในระดับนโยบายเรื่องการเข้าร่วม CPTPP ต่อไป ซึ่งไม่ว่าผลการตัดสินใจจะเป็นอย่างไร ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะขอให้ไทยไปขอเจรจา CPTPP ก็ไม่ได้หมายความว่าพรุ่งนี้ไทยจะเข้าเป็นสมาชิก และต้องยอมรับในกฎกติกาของ CPTPP ในทันที การเจรจาต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะแล้วเสร็จ อีกทั้งไทยยังสามารถขอระยะเวลาผ่อนผันในเรื่องต่าง ๆ ได้อีกด้วย ดังนั้น งานสำคัญที่อยู่ตรงหน้าของ กนศ.จึงยังไม่จบ การปรับตัวเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลยังเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการควบคู่ต่อไป และหากไทยไปเจรจา CPTPP จนแล้วเสร็จ ก็ยังต้องนำผลการเจรจากลับมาเสนอรัฐสภาก่อนเพื่อขอความเห็นชอบ ซึ่งรัฐสภาจะเป็นผู้พิจารณาโดยละเอียดกับผลการเจรจาของไทย และเป็นผู้ที่ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายว่าไทยได้ประโยชน์คุ้มค่าพอที่จะเข้าร่วมและจะเห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP หรือไม่ ซึ่งหากรัฐสภาพิจารณาผลการเจรจาแล้ว เห็นว่าไทยได้ไม่คุ้มเสีย ก็ไม่ต้องให้ความเห็นชอบ และไม่ต้องเข้าเป็นสมาชิก CPTPP

 

๑๐.๒ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคประชาชน/องค์กรเอกชน มีการทำกิจกรรมเพื่อคัดค้าน และยืนยันว่ารัฐบาลต้องประกาศออกมาเลยว่าจะไม่เข้าร่วม CPTPP ทางหน่วยงานของรัฐบาลมีความเคลื่อนไหวเพื่อสื่อสารหรือตอบผู้ที่ต่อต้านอย่างไร

  • การขอเจรจา กับการเข้าร่วม CPTPP เป็นคนละขั้นตอน คนละเวลา ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและไม่บิดเบือน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนมาโดยตลอด และจะดำเนินการเพิ่มมากขึ้น และต้องขอความอนุเคราะห์จากสื่อมวลชนในการรายงานข่าวที่ถูกต้องและสมดุลด้วย

* * * * *

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ppt_แถลงข่าวประจำสัปดาห์_24_มิ.ย._64.pdf