พิธีรับมอบทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว

พิธีรับมอบทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,174 view

นายดุสิต เมนะพันธุ์ รองปลัดกระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมพิธีรับมอบทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว คืนสู่ไทย โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและผู้แทนรัฐบาลรับมอบในพิธี โดยนิทรรศการจัดแสดงทับหลังทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าว ได้เริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นเวลา ๓ เดือน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. กรมศิลปากรได้จัดพิธีรับมอบทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว กลับสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และนายดุสิต เมนะพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้มอบทับหลังทั้งสองรายการให้กับประธานในพิธี พร้อมด้วยนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และนายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ภายหลังการรับมอบทับหลังอย่างเป็นทางการ นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานเปิดนิทรรศการ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์และเขาโล้นกลับคืนสู่ประเทศไทย” ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นเวลา ๓ เดือน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

กระทรวงการต่างประเทศมีความยินดีอย่างยิ่งที่มีบทบาทในฐานะผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและสหรัฐฯ เพื่อติดตามทับหลังดังกล่าวนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ จนประสบความสำเร็จในวันนี้ และขอขอบคุณกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย นักวิชาการอิสระและประชาชนไทย รวมทั้งฝ่ายสหรัฐฯ โดยเฉพาะสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา (Homeland Security Investigations) และสำนักงานอัยการสหรัฐฯ ที่ร่วมมือและร่วมใจผลักดันภารกิจการติดตามทับหลังฯ อย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ

การรับมอบโบราณวัตถุครั้งนี้ถือเป็นภารกิจประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง และนับเป็นความสำเร็จในการนำมรดกอันล้ำค่าของชาติกลับคืนสู่ประเทศไทย อีกทั้งยังสะท้อนถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในทุกมิติ รวมถึงจะเป็นการเปิดทางสำหรับการติดตามโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ ของไทยในต่างประเทศกลับสู่มาตุภูมิต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ