สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันศุกร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น.
ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live
- กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเอกอัครราชทูตฯ และกับประเทศยูเครนอีกครั้งหนึ่งต่อการถึงแก่กรรมของ นายอันดรีย์ เบชตา เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ขณะพักผ่อนที่ จ.สตูล ซึ่งถือเป็นการสูญเสียมิตรของประเทศไทยอีกท่านหนึ่ง
- เอกอัครราชทูตเบชตา ได้ปฏิบัติหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-ยูเครนอย่างแข็งขันมาตลอด ๕ ปี ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็ได้เข้าพบปลัดกระทรวงการต่างประเทศในโอกาสที่เอกอัครราชทูตฯ พ้นจากตำแหน่ง โดยได้หารือถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ยูเครนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
๑. การประชุมผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียวและเป้าหมายโลกปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ครั้งที่ ๒
- เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียวจากเป้าหมายโลกปี ค.ศ. ๒๐๓๐ (Partnering for Green Growth and Global Goals 2030: P4G) ครั้งที่ ๒ ผ่านระบบทางไกล โดยเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ และมีผู้นำจาก ๔๗ ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศรวม ๒๑ แห่ง เข้าร่วม
- การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “การฟื้นฟูสีเขียวอย่างครอบคลุมเพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Inclusive Green Recovery towards Carbon Neutrality) โดยที่ประชุมหารือใน ๓ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การฟื้นฟูสีเขียว (green recovery) จากโควิด-๑๙ ความพยายามของประชาคมโลกเพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ๒๕๙๓ (ค.ศ. ๒๐๕๐) และการเสริมสร้างหุ้นส่วนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ย้ำความสำคัญใน ๔ ประเด็น ได้แก่ (๑) การฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-๑๙ โดยส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน และสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) (๒) การนำเสนอหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นวิถีทางไปสู่การเติบโตที่สมดุล และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยขับเคลื่อนผ่านกลไกจตุภาคี ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน (๓) การส่งเสริมความร่วมมือและการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยอยู่ระหว่างยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดมาตรฐานราคาของคาร์บอนเครดิตที่เป็นธรรม รวมถึงตั้งเป้าปลูกต้นไม้ยืนต้นร้อยล้านต้น และ (๔) การส่งเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการเติบโตสีเขียว รวมทั้งในช่วงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕
๒. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ณ นครฉงชิ่ง
- นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ระหว่างวันที่ ๖-๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยตนเอง
- การประชุมดังกล่าวจะทบทวนพัฒนาการและความสำเร็จของความสัมพันธ์ฯ ตลอด ๓๐ ปีในทุกมิติ และกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ฯ ในอนาคต รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมภายใต้ปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ โดยจะรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ
- ไทยจะผลักดันให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญของความสัมพันธ์อาเซียน-จีนในอนาคต โดยจะเน้นย้ำการเร่งฟื้นฟูภูมิภาคอย่างยั่งยืนทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ตลอดจนการแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ที่อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งรวมถึงการดำเนินการตามรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (BCG) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (MLC) และจะพบหารือทวิภาคีกับมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย
- นอกจากนี้ จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน ว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ครั้งที่ ๑๙ ในห้วงการประชุมดังกล่าว เพื่อหารือแนวทางการสานต่อการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ด้วย
๓. การหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
- เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือทวิภาคีกับนางเวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งได้เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ณ กระทรวงการต่างประเทศ
- ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นต่อความเป็นพันธมิตรที่ยาวนานและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ และเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค
- ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการรับมือกับโควิด-๑๙ โดยฝ่ายสหรัฐฯ พร้อมให้การสนับสนุนไทยในการเข้าถึงวัคซีน และการผลิตวัคซีน
- นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลทั้งสองประเทศให้ความสำคัญ รวมถึงนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ของไทย ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
- ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันและพัฒนาการสำคัญในภูมิภาค รวมทั้งสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในกรอบอาเซียน และย้ำการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อความพยายามของอาเซียน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคและอนุภูมิภาคด้วย
- การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ตอกย้ำความสำคัญของความเป็นพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ ที่ยาวนาน ซึ่งทวีความเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้มีความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนต่างประเทศครั้งแรกภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในโอกาสเยือนไทยครั้งนี้ด้วย
English version
- On 2 June 2021, H.E. Mr. Don Pramudwinai, Deputy Prime Minister and Minister of Foreign Affairs of Thailand, was paid a courtesy call by Hon. Ms. Wendy Sherman, U.S. Deputy Secretary of State, at the Ministry of Foreign Affairs.
- Both sides reaffirmed strong commitment to the long-standing alliance and strategic partnership between Thailand and the U.S. Both sides agreed to reinvigorate the engagement both at the bilateral and regional levels and discussed ways to enhance cooperation on shared priorities of both governments.
- Both sides agreed on the importance of public health cooperation and COVID-19 The U.S. recognised Thailand’s and global needs for increased access to vaccines and increased vaccine production. They also discussed cooperation on economic recovery, as well as climate change and sustainable development, as prioritised by both governments, including the Thai Government’s policy on Bio-Circular-Green (BCG) Economy, particularly in the Eastern Economic Corridor (EEC).
- Deputy Prime Minister and Minister of Foreign Affairs and Deputy Secretary of State also exchanged views on the current regional strategic landscape, including the situation in Myanmar. The U.S. side took note of Thailand’s constructive role in ASEAN-led frameworks and reaffirmed its support for ASEAN efforts. Both sides also explored ways to further enhance cooperation at the regional and sub-regional levels.
- The official visit of Deputy Secretary of State Sherman underscores the importance of the enduring Thailand – U.S. alliance, which has gone from strength to strength despite challenges posed by the COVID-19 Deputy Secretary Sherman also paid a courtesy call on H.E. the Prime Minister of Thailand during this visit.
๔. การหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย
- เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับนางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทีเอดา เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ที่เข้าเยี่ยมคารวะเนื่องในโอกาสครบรอบ ๙๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สวิตเซอร์แลนด์
- โดยระหว่างการพบหารือ นายอิกนาซิโอ กัสซิส รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส ได้แสดงความยินดีในโอกาสสำคัญดังกล่าวผ่านคลิปวีดิทัศน์ด้วย
- ไทยกับสวิตเซอร์แลนด์มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น โดยพระมหากษัตริย์ไทย ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ เคยประทับที่สมาพันธรัฐสวิสในช่วงทรงพระเยาว์เป็นเวลาหลายปี
- ปัจจุบัน ทั้งสองประเทศมีศักยภาพที่จะร่วมมือกันในด้านพลังงานสะอาดและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยล่าสุด ไทยและสวิตเซอร์แลนด์ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนทางการเงินของสวิสในระบบรถขนส่งมวลชนไฟฟ้าของไทย
- ในปี ๒๕๖๔ ทั้งสองฝ่ายมีกำหนดจัดกิจกรรมเพื่อฉลองโอกาสสำคัญดังกล่าวตลอดทั้งปี อาทิ การจัดนิทรรศการภาพสีน้ำออนไลน์ การเปิดเส้นทางเดินป่ามิตรภาพไทย-สวิตเซอร์แลนด์ที่เขาใหญ่ การสร้างศูนย์การเรียนรู้ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และการจัดประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ “๙๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย-สวิส คิดถึงกันเสมอ”
- ผู้สนใจกิจกรรมประกวดภาพถ่าย สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์: rpst.or.th/thai-swiss-photocontest-2021 โดยเปิดรับผลงานประกวดถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔
๕. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-ญี่ปุ่น
- เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๓๖ ผ่านระบบการประชุมทางไกล
- ที่ประชุมฯ หารือถึงความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการรับมือโควิด-๑๙ โดยญี่ปุ่นยืนยันสนับสนุนเงิน ๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases)
- นอกจากนี้ ญี่ปุ่นแจ้งว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๔ ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ ญี่ปุ่นจะประกาศแผนกิจกรรมและโครงการความร่วมมือ ๔ สาขาภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือทางทะเล ความเชื่อมโยง (Connectivity) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
- สำหรับไทย ซึ่งจะทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ระหว่างเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ – ๒๕๖๗ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอที่ จะผลักดันความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ภายใต้หลัก 3Rs ได้แก่
- “Recovery” ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
- “Resilience” ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ผ่านแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ของไทย ร่วมกับกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) ของญี่ปุ่น โดยใช้ประโยชน์ของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ตั้งขึ้นในไทย
- “Relationship” ได้แก่ การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน การพัฒนาทุนมนุษย์ ความร่วมมือด้านการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาสังคมสูงวัยที่มีศักยภาพ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม ที่ตั้งขึ้นในไทย
๖. สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา และการช่วยเหลือคนไทยและผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา
- จากสถานะวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีผู้หนีภัยความไม่สงบ/การสู้รบจากเมียนมา ที่ได้ข้ามมายังฝั่งไทยและยังอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ๔ แห่ง ใน จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน ๑๒๔ คน โดยหน่วยงานทางทหารในพื้นที่ ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือรักษาพยาบาลเบื้องต้นและมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคให้ผู้หนีภัยฯ ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เป็นการให้ความช่วยเหลือขั้นต้นตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งในสัปดาห์นี้ มีผู้หนีภัยฯ เดินทางกลับภูมิลำเนาในเมียนมาแล้ว ๔๐๐ คน
- ส่วนราษฎรไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา ซึ่งได้อพยพเข้ามาพักในพื้นที่รวบรวมพลเรือน อ.แม่สะเรียง ยังคงเหลืออยู่จำนวน ๑๘๙ คน โดยอยู่ในความดูแลของหน่วยงานในพื้นที่
๗. ประชาสัมพันธ์
๗.๑ รายการ Spokesman Live!!!
- ในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ขอเชิญติดตามรายการคุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! ซึ่งจะสัมภาษณ์นายวิชชุ เวชชาชีวะ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ หัวข้อ "โอกาสและความท้าทายของไทย กับความสัมพันธ์ระหว่างไทย - สหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีไบเดน" สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”
๗.๒ รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
- วันพฤหัสบดีที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นางสาวปฤณัต อภิรัตน์ ผอ. กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หัวข้อ "CPTPP: โอกาสและความท้าทายของไทย" สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”
- ในวันศุกร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายธาตรี เชาวชตา กงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน ในหัวข้อ “Thailand - Pakistan business relations and Thai students affairs during the Covid-19 pandemic” สามารถติดตามรับฟังย้อนหลังได้ทาง Facebook “FM 88 Radio Thailand English”
๗.๓ การเปิดตัว Blockdit กระทรวงการต่างประเทศ
- กระทรวงการต่างประเทศได้เปิดตัวบัญชี Blockdit “กระทรวงการต่างประเทศ thaimfa” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานหลายมิติของนักการทูตไทยที่ประจำการอยู่ต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งล้วนสัมผัสงานที่แตกต่างกันและมีเรื่องสนุกมากมายมาเล่า สามารถติดตามอ่านได้ที่บัญชี Blockdit “thaimfa”
* * * * *