วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มิ.ย. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-จีน และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ ๖ ระหว่างวันที่ ๖-๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ จะทบทวนพัฒนาการและความสำเร็จของความสัมพันธ์ฯ ตลอด ๓๐ ปีในทุกมิติ และการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ฯ ในอนาคต รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมภายใต้ปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ โดยจะรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ
ไทยจะผลักดันให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญของความสัมพันธ์อาเซียน-จีนในอนาคต โดยจะเน้นย้ำการเร่งฟื้นฟูภูมิภาคอย่างยั่งยืนทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ตลอดจนการแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ที่อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งรวมถึงการดำเนินการตามรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค นอกจากนี้ จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน ว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ครั้งที่ ๑๙ ในห้วงการประชุมดังกล่าวเพื่อหารือแนวทางการสานต่อการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ด้วย
ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ ๖ จะทบทวนความคืบหน้าในการดำเนินความร่วมมือในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา และหารือเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือในในอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง โดยเน้นเรื่อง (๑) สาธารณสุขด้านการบริหารจัดการโรคระบาด การผลิตและการกระจายวัคซีนรวมถึงการประยุกต์ใช้แพทย์แผนดั้งเดิมในการบริหารจัดการโรคอุบัติใหม่ (๒) การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกันตามแนวชายแดน และการเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) (๓) การพัฒนาที่ยั่งยืนที่เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น (๔) การส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน (๕) ร่วมกันกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์สำหรับแผนปฏิบัติการของกรอบ MLC ระยะ ๕ ปี ฉบับใหม่ (ค.ศ. ๒๐๒๓-๒๐๒๗) อนึ่ง ประเทศสมาชิกกรอบ MLC ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดจะพบหารือทวิภาคีกับมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อหารือในประเด็นทวิภาคีและสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศด้วย
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **