วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ก.ย. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ก.ย. 2566
เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๖ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญไทยกับสหภาพยุโรป เกี่ยวกับการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ภายใต้โครงการ “Thai-EU Experts’ Exchange on Circular Economy and the Extended Producer Responsibility (EPR) in Packaging” โดยได้รับความร่วมมือจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) รวมทั้งการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงแรมวี กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างไทยกับ EU เพื่อสนับสนุนแผนงานของไทยในการจัดทำกฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ภาคบังคับ ตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะ ระยะที่ ๒ (ปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐) โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า ๘๐ คน ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มอุตสาหกรรมการที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ซึ่งหลายท่านเป็นกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จัดตั้งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีคณะทูตต่างประเทศ ผู้แทน GIZ และหน่วยงานด้านการพัฒนาอื่น ๆ เข้าร่วม
นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียมและลักเซมเบิร์ก และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและนำเสนอว่า “ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย-อียู มีพลวัตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากการลงนามกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement – PCA) เมื่อปลายปี ๒๕๖๕ และการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในปี 2566 ซึ่งกิจกรรมในวันนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูทั้งในกรอบ PCA และการเจรจา FTA รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตฯ ในการติดตามนโยบาย กฎระเบียบและมาตรฐานของอียูด้านสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย และแสวงหาความร่วมมือกับอียูเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนของไทยภายใต้เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืน”
นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป ร่วมกล่าวเปิดงานโดยเน้นถึงบทบาทที่แข็งขันของไทยในประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการช่วยเชื่อมต่อเครือข่ายความร่วมมือระหว่างไทยกับต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมและยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งมีผลต่อการค้าการส่งออกของไทยด้วย โดยหวังว่างานในวันนี้จะเป็นโอกาสให้ฝ่ายไทยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของยุโรป และซักถามเกี่ยวกับข้อห่วงกังวลว่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อมอาจกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าได้
ดร. ปิ่นศักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่าการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรปและไทยจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงาน EPR ของบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ที่ให้ความสำคัญกับการลดของเสียตั้งแต่ต้นทางไปยังสถานที่กำจัดขั้นสุดท้าย รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของภาคขยะนอกระบบและร้านรับซื้อของเก่า ที่เป็นกลไกสำคัญในการนำกลับวัสดุเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญสหภาพยุโรป ๓ ท่าน ที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่ (๑) นาย Frithjof Laubinger นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development -OECD) (๒) นาย Tjaco Twigt ผู้บริหารโครงการ Sea The Future เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลพลาสติก จากเนเธอร์แลนด์ และ (๓) นาย Kyriakos Parpounas วิศวกรสิ่งแวดล้อมจากไซปรัส โดยทั้งสามท่านเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน EPR และการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างระบบ EPR ที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญสหภาพยุโรปจะได้พบหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกรุงเทพมหานครและเยี่ยมชมบริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์การจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ของประเทศมากขึ้น และนำไปสู่ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **