ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม OSCE Ministerial Council ครั้งที่ ๒๘ ในวันที่ ๒-๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ ณ กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม OSCE Ministerial Council ครั้งที่ ๒๘ ในวันที่ ๒-๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ ณ กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,331 view

นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป
ครั้งที่ ๒๘ (The 28th Organization for Security and Co-operation in Europe Ministerial Council – OSCE MC 28) เมื่อวันที่ ๒-๓ ธันวาคม ๒๕๖๔
ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิก OSCE เข้าร่วมด้วยตนเองรวม ๖๘ ประเทศ  และไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาฝ่ายเอเชียขององค์การ OSCE ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในช่วงการประชุมเต็มคณะ รวมทั้งกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม Troika ร่วมกับประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาฝ่ายเอเชียอื่น ๆ

ในช่วงการกล่าวถ้อยแถลง ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำบทบาทที่แข็งขันของไทยในการสร้างสังคมที่มีความยืดหยุ่น เปิดกว้าง และครอบคลุม ผ่านแนวทาง whole-of-society และ whole-of-government โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนมุ่งผลักดันการประสานความร่วมมือของไทยกับนานาประเทศรวมถึง OSCE เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบอบพหุภาคีบนพื้นฐานของหลักการ 3Ms ได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจและการเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ โดยที่ไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่มีบทบาทในกรอบ OSCE ในฐานะประเทศหุ้นส่วนฯ ฝ่ายเอเชีย ไทยได้ยกตัวอย่างการเป็นสะพานเชื่อม OSCE กับอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านเวทีการประชุมต่าง ๆ ในกรอบ OSCE เช่น เมื่อวันที่ ๒๐-๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับสาธารณรัฐแอลเบเนียในการจัดการประชุม 2021 OCSE Asian Conference ในหัวข้อ “Common Responses to Emerging Challenges in Advancing Comprehensive Security” โดยไทยได้เชิญผู้แทนจาก ASEAN Women for Peace Registry (AWPR) เข้าร่วมอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของสตรีในมิติด้านความมั่นคงและการสร้างสันติภาพ

OSCE เป็นเวทีปรึกษาหารือในลักษณะการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) เพื่อหาข้อยุติและระงับข้อพิพาทและข้อขัดแย้งในยุโรป โดยมีภารกิจหลักใน
การส่งเสริมความมั่นคงองค์รวมใน ๓ มิติ ได้แก่ (๑) มิติการเมือง-การทหาร (๒) มิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และ (๓) มิติมนุษย์ โดยไทยให้ความสำคัญกับ OSCE ในฐานะที่เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในประเด็นความมั่นคง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความมั่นคง (Confidence- and Security-Building Measures – CSBMs) ระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ