รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือด้านสาธารณสุข และเสนอแนวทางการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๑๑

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือด้านสาธารณสุข และเสนอแนวทางการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๑๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 10,241 view
เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๑๑ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายชอง อึย-ยง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)  และนายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา เป็นประธานร่วม  
 
ในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีต่างประเทศประเทศลุ่มน้ำโขงและเกาหลีใต้ได้ทบทวนความร่วมมือที่ผ่านมา และหารือเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือในอนาคตของกรอบความร่วมมือ โดยเฉพาะการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และการส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยที่ประชุมย้ำบทบาทของเกาหลีใต้ในการเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาค ผ่านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) มาเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี และขอบคุณเกาหลีใต้สำหรับกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (MKCF) ซึ่งสนับสนุนโครงการพัฒนาในประเทศลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖  
 
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ (๑) ย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม และการเสริมสร้างสมรรถนะในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดในอนาคต โดยยกตัวอย่างความร่วมมือไตรภาคีเพื่อยกระดับความสามารถของบุคลากรและระบบสาธารณสุขของประเทศลุ่มน้ำโขง ภายใต้กลไกความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กับ Korea International Cooperation Agency (KOICA) ของเกาหลีใต้ (๒) เสนอแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ด้วยการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านกายภาพ กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุน และดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาคฯ รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสอดประสานระหว่างนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของไทยกับนโยบาย Green New Deal และ Digital New Deal ของเกาหลีใต้ และการส่งเสริมบทบาทของสภาธุรกิจลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ในการสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น รายย่อย ขนาดย่อมและขนาดกลาง เพื่อวางรากฐานสู่การฟื้นฟูที่ยั่งยืนและสอดรับกับสภาพแวดล้อมแบบปกติใหม่ (๓) สนับสนุนให้มีการขยายช่วงเวลาของปีแห่งการแลกเปลี่ยน ค.ศ. ๒๐๒๑ (Mekong - ROK Exchange Year 2021) ไปจนถึงปี ๒๕๖๕ โดยให้มีการจัดทำแผนการดำเนินกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือที่ควรเน้นส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนของประเทศลุ่มน้ำโขงและเกาหลีใต้ โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเสาสำคัญของกรอบความร่วมมือ และ (๔) ย้ำการสอดประสานระหว่างกรอบความร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในอนุภูมิภาค โดยเฉพาะ ACMECS  
 
อนึ่ง ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมการสำหรับการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๓ ที่ฝ่ายเกาหลีใต้และกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ศกนี้ กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๔ มีประเทศสมาชิกประกอบด้วยประเทศลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ และเกาหลีใต้ ปัจจุบัน ดำเนินความร่วมมือภายใต้แผนปฏิบัติการ ฉบับที่ ๓ ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๕ ภายใต้ ๓ เสาหลัก ได้แก่ ประชาชน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ และสาขาความร่วมมือ ๗ สาขา ได้แก่  (๑) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (๒) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (๓) การเกษตรและการพัฒนาชนบท (๔) โครงสร้างพื้นฐาน (๕) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๖) สิ่งแวดล้อม และ (๗) ความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่  

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ