วันที่นำเข้าข้อมูล 9 พ.ย. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 พ.ย. 2567
เมื่อวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2567 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมาเกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก (JCR) ครั้งที่ 3 โดยนางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และนาย Aung Kyaw Oo อธิบดีกรมการกงสุลและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา เป็นประธานร่วมกัน และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐทั้งสองประเทศเข้าร่วม ณ โรงแรมเดอะแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ
ในการประชุม ทั้งสองฝ่ายได้ขับเคลื่อนตามแนวนโยบายตามผลการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสองฝ่าย โดยให้หน่วยงานของทั้งสองประเทศเร่งรัดการดำเนินการให้มีความร่วมมือในการบริหารจัดการพื้นที่บริเวณแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ซึ่งเป็นแม่น้ำเขตแดนระหว่างประเทศเป็นการเร่งด่วน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของพื้นที่ในการป้องกันน้ำท่วมและแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำ รวมทั้งการใช้น้ำอย่างเป็นธรรม
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การขยายช่องทางการไหลของน้ำ โดยการขุดลอกแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก เป็นแนวทางการสำคัญการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ในการนี้ ที่ประชุมจึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการดำเนินการเกี่ยวข้องกับสิทธิในการเดินเรือ การใช้น้ำอย่างเป็นธรรม การบำรุงรักษาและการอนุรักษ์ทางเดินปัจจุบันของน้ำในแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก (Sub-JCR) ซึ่งฝ่ายไทยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธาน หารือกับฝ่ายเมียนมาในระดับพื้นที่ ในเดือนธันวาคม 2567 เพื่อร่วมกันวางแผนการดำเนินการในการสำรวจและขุดลอกร่องน้ำให้เสร็จสิ้นก่อนฤดูน้ำหลากในปีถัดไป
อนึ่ง คณะกรรมการ JCR เป็นกลไกความร่วมมือการจัดการบริหารพื้นที่บริเวณแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ซึ่งเป็นเขตแดนคงที่ระยะทาง 59 กิโลเมตร เพื่อรักษาสิทธิในการเดินเรือ การใช้น้ำอย่างเป็นธรรม การบำรุงรักษาและการอนุรักษ์ทางเดินปัจจุบันของแม่น้ำ รวมทั้งการบำรุงรักษาหลักอ้างอิงเขตแดน คณะกรรมการนี้ตั้งขึ้นตาม MOU ไทย-เมียนมา เกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ปี 2534 เป็นกลไกระหว่างประเทศที่จะเกื้อกูลและสนับสนุนต่อความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **