การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 มิ.ย. 2565

| 37,170 view

นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และภริยา ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑ – ๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย โดยในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี สปป. ลาวและภริยาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท ณ วังสระปทุม ในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๕

นายกรัฐมนตรี สปป. ลาวได้หารือข้อราชการกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงเย็นวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องในการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” และได้หารือกันในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมทุกมิติของความสัมพันธ์ไทย – ลาว ในบรรยากาศของมิตรภาพและการเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่มีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง ดังนี้

๑. เศรษฐกิจ
- นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว เห็นพ้องที่จะเดินหน้าร่วมมือเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตของประชาชนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ชายแดนให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วภายหลังจากที่สถานการณ์
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ คลี่คลายลง โดยยินดีที่สองฝ่ายได้เปิดจุดผ่านแดนถาวรหรือด่านสากลระหว่างสองประเทศครบทุกแห่งแล้ว และจะประสานงานกันเพื่อที่จะกลับมาเปิดด่านประเพณีหรือด่านท้องถิ่นเพิ่มเติมโดยเร็ว

- ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงโดยเฉพาะระหว่างเมืองหลวงพระบางกับจังหวัดภาคเหนือของไทย ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุน สปป. ลาว ในการก่อสร้างสะพานเชียงแมน – หลวงพระบาง เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวในเส้นทางดังกล่าว

- เร่งรัดและขยายการเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ ๑ (หนองคาย – เวียงจันทน์) และจะใช้ประโยชน์จากโครงการรถไฟลาว – จีน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน นอกจากนี้เห็นพ้องที่จะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และประสานมาตรฐานและกฎระเบียบต่าง ๆ ยิ่งขึ้น อาทิ การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ ๕ (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ ๖ (อุบลราชธานี - สาละวัน) การพัฒนาเส้นทางหมายเลข ๑๒ ใน สปป.ลาว (นครพนม – คำม่วน – นาเพ้า) และการเปิดใช้พื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area) ณ จุดผ่านแดนที่ทั้งสองฝ่ายมีความพร้อม เพื่อลดระยะเวลาการตรวจปล่อยสินค้าที่จุดผ่านแดน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาชนสองฝั่ง

- ส่งเสริมให้มีการนำเข้าแรงงานลาวมาทำในไทยอย่างถูกกฎหมายตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างสองประเทศ โดยฝ่ายไทยยืนยันที่จะคุ้มครองและให้สิทธิสวัสดิการแรงงานตามกฎหมายไทย ด้านการลงทุน จะส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น โดยเน้นย้ำการลงทุนที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น

- กระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งมีความสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีได้แจ้งความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุน สปป. ลาว ในการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของบุคลากรในด้านดิจิทัล และพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

๒. ความมั่นคง
- เพิ่มความเข้มงวดการลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย และกระชับความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุน สปป. ลาวในการขยายผลการจับกุมและการมอบอุปกรณ์สืบสวนสอบสวนที่ทันสมัย นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาแก๊ง call center และปัญหาค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของมิจฉาชีพ

๓. ความสัมพันธ์ระดับประชาชน
- ส่งเสริมความใกล้ชิดในระดับประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ของสองประเทศสืบต่อไปในทุกด้าน และสานต่อความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะระหว่างโรงพยาบาลจังหวัดและแขวงชายแดน ความร่วมมือด้านการเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งความพร้อมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทยที่จะมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอกในประเทศไทยแก่เยาวชนลาว รวมกว่า ๗๐๐ ทุน นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในด้านสื่อมวลชน เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระดับประชาชน

๔. ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค
- นายกรัฐมนตรีทั้งสองเน้นย้ำให้สองประเทศประสานท่าทีและร่วมมือกันใกล้ชิดยิ่งขึ้นทั้งในระดับอนุภูมิภาคและระดับภูมิภาคเพื่อรับมือกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยนายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุน สปป. ลาวอย่างเต็มที่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๑๐ ในปีนี้ และการเป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๗

ภายหลังการหารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรีได้มอบการสนับสนุนของรัฐบาลไทยในการก่อสร้างศูนย์พัฒนาสังคมมิตรภาพไทย – ลาวเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แบบครบวงจร ที่เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ ให้แก่นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้เป็นสักขีพยานการลงนาม “แผนปฏิบัติการว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย - สปป. ลาว เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๖๙)” และบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่ง สปป. ลาว ว่าด้วยโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย – ลาว และการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่ง สปป. ลาว ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๒๒

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้แถลงข่าวร่วมกันเกี่ยวกับสาระสำคัญของการหารือ โดยคำแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีปรากฏตามเอกสารแนบ ก่อนจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี สปป. ลาวและคณะ

ในการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี สปป. ลาวได้รับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในฐานะที่เป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นในการวางรากฐานด้านการศึกษาใน สปป. ลาว รวมทั้งได้กล่าวปาฐกถาในงานกิจกรรม Thai-Lao Business Talk and Networking ซึ่งประกอบด้วยการเสวนาเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนใน สปป. ลาว และการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศ และกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ โดยมีนักธุรกิจชั้นนำจากทั้ง สปป. ลาวและไทยเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ