กรมองค์การระหว่างประเทศจัดประชุมระดมสมองแนวทางการส่งเสริมทัศนคติที่ดีของสังคมไทยต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

กรมองค์การระหว่างประเทศจัดประชุมระดมสมองแนวทางการส่งเสริมทัศนคติที่ดีของสังคมไทยต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 ธ.ค. 2565

| 9,476 view

เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๕ กรมองค์การระหว่างประเทศ ร่วมกับองค์กร International Detention Coalition (IDC) ได้จัดการประชุมระดมสมอง เรื่อง “แนวทางการส่งเสริมทัศนคติที่ดีของสังคมไทยต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน” เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการและกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้และทัศนคติที่ดีของสังคมไทยเกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ และส่งเสริมให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย โดยมีการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งมาจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามคำมั่นที่ไทยได้ให้ไว้ในการประชุมทบทวนการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly, and Regular Migration: GCM) ที่นครนิวยอร์ก เมื่อเดือน พ.ค. ๒๕๖๕

นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้กล่าวเปิดงาน และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (Internaitonal Labour Organization: ILO) และบริษัท ไซด์คิก (Sidekick Social Change Agency) ได้นำเสนอข้อมูลและผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลง GCM ผลงานวิจัยเกี่ยวกับทัศนคติต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน รวมถึงประเภทของสื่อและรูปแบบการนำเสนอข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐาน รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่มีแนวโน้มต่อมุมมองและทัศนคติของบุคคลต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

ทั้งนี้ จากการหารือระดมสมอง ซึ่งมี ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวกุลธิดา สามะพุทธิ สื่อมวลชนอิสระร่วมสะท้อนมุมมองต่องานวิจัยและจุดประเด็นหารือเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าว ที่ประชุมมีข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการต่อไป อาทิ

(๑) เห็นควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการสร้างความตระหนักรู้ในหมู่สาธารณชนในวงกว้าง เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงคุณประโยชน์ของของผู้โยกย้ายถิ่นฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติทั้งในแง่แรงงานและการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นแรกที่ปูทางไปสู่การมีทัศนคติที่ดีและการยอมรับว่า ผู้โยกย้ายถิ่นฐานเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

(๒) สื่อมวลชนเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างและกำหนดทิศทางความตระหนักรู้ (awareness) ความรับรู้ (perception) และภาพจำ (impression) เกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งจะส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของคนไทยที่ปฏิบัติต่อคนเหล่านั้น จึงควรมีการให้ข้อมูลและการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสื่อมวลชนในประเด็นเกี่ยวกับผู้โยกย้านถิ่นฐานมากขึ้น

(๓) เห็นควรส่งเสริมการจัดกิจกรรมในลักษณะที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีประสบการณ์ตรงในการสัมผัส พูดคุย ใกล้ชิดกับผู้โยกย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งการนำเสนอแง่มุมใหม่ ๆ ที่ใกล้ตัวที่นำมาซึ่งทัศนคติที่ดีและถูกต้อง เช่น อาหาร วัฒนธรรม ประเพณี และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนผู้โยกย้ายถิ่นฐานในไทย เป็นต้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ