นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู สมัยพิเศษ ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-อียู

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู สมัยพิเศษ ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-อียู

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 ธ.ค. 2565

| 21,862 view

เมื่อวันที่ ๑๓ - ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) สมัยพิเศษ ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-อียู ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนได้พบกับผู้นำอียูและประเทศสมาชิกอียูทั้ง ๒๗ ประเทศ

ที่ประชุมได้หารือและแสวงหาความร่วมมือในประเด็นสำคัญ ได้แก่ ๑) ภูมิรัฐศาสตร์ และความท้าทายด้านความมั่นคง ๒) การฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเชื่อมโยง การค้า และห่วงโซ่อุปทาน และ ๓) การเปลี่ยนผ่านสีเขียวเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ในการนี้ ผู้นำอาเซียนและอียูได้รับรองแถลงการณ์ร่วมผู้นำของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ค.ศ. ๒๐๒๒ เป็นผลลัพธ์ของการประชุมฯ

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงนโยบายเศรษฐกิจไทยที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG และเชิญชวนให้อียูมาลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและไฮโดรเจนเขียวในไทยและอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเรื่องก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied natural gas - LNG) เพื่อลดความผันผวนของราคา LNG ในตลาดโลก และเสนอให้อียูอำนวยความสะดวกแก่สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากไทย โดยย้ำถึงการดำเนินการของไทยและอาเซียนเพื่อยกระดับมาตรฐานในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้อาเซียนเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลก และเกื้อกูลการผลิตสินค้าของอียู ซึ่งจะสนับสนุนการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Area-FTA) ระหว่างไทย-อียู และเป็นแนวทางสำหรับการจัดทำ FTA อาเซียน-อียูต่อไปด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีส่งเสริมให้อาเซียนร่วมมือกับอียู โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านสีเขียว โดยเสนอจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent - AI) รวมทั้งเน้นย้ำข้อเสนอไทยที่จะจัดการประชุมนานาชาติเรื่องความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหารในปีหน้า

นอกจากการประชุมกับผู้นำอียูและประเทศสมาชิกอียูแล้ว นายกรัฐมนตรีได้พบปะกับภาคเอกชนชั้นนำของอียูในการประชุมโต๊ะกลมผู้บริหารระดับสูงในช่วงอาหารกลางวัน (C-Suite Roundtable Luncheon) ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) เพื่อรับฟังแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนกับอียู รวมทั้งได้หารือทวิภาคีกับประธานคณะมนตรียุโรป และนายกรัฐมนมตรีสาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ฮังการี และกรีซ และเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย-อียู (Thai-EU Partnership and Cooperation Agreement) เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือที่ชัดเจนและมีแบบแผนมากขึ้นในทุกด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ