กระทรวงการต่างประเทศและ IOM ประเทศไทย ร่วมเสริมสร้างทักษะและบทบาทของผู้สื่อข่าวส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

กระทรวงการต่างประเทศและ IOM ประเทศไทย ร่วมเสริมสร้างทักษะและบทบาทของผู้สื่อข่าวส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 มิ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 มิ.ย. 2567

| 1,956 view

เมื่อวันที่ ๒๘ - ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗ กระทรวงการต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประเทศไทย ร่วมจัดการฝึกอบรมเรื่องการรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐานสำหรับผู้สื่อข่าวไทย ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน ตลอดจนกรอบการดำเนินงานของภาครัฐและกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องของไทย รวมทั้งส่งเสริมขีดความสามารถและบทบาทของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยมีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวไทยเข้าร่วม ๑๕ คน

ในพิธีเปิดการฝึกอบรม นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม พร้อมเน้นย้ำว่าผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อความคิดของสังคม จึงเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยสรางทัศนคติที่ถูกต้องและขับเคลื่อนสังคมในเรื่องที่เกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทยและผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และนางสาว Géraldine Ansart หัวหน้าสำนักงาน IOM ประเทศไทย ได้ร่วมกล่าวเปิดการฝึกอบรม โดยเน้นย้ำว่า ผู้โยกย้ายถิ่นฐานยังคงเผชิญกับความเข้าใจผิดและอคติในสังคม IOM จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมวาทกรรมเกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐานบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และได้จัดตั้ง Global Migration Media Academy ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อพัฒนาทักษะดังกล่าวให้แก่ผู้สื่อข่าว

การอบรมมีระยะเวลา ๒ วัน และครอบคลุมประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำงานของผู้สื่อข่าว รวมถึงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทยและภูมิภาค การใช้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง การจัดการกับข้อมูลเท็จและบิดเบือน และวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้โยกย้ายถิ่นฐานผ่านภาพถ่ายและสารคดี นอกจากนี้ นางสาวคณิตา ทรัพย์ไพศาล นักการทูตชำนาญการพิเศษ กรมองค์การระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการจัดการการโยกย้ายถิ่นฐานผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนในสังคม และผู้เข้าอบรมได้ร่วมกิจกรรมระดมสมองเพื่อนำเสนอการรายงานเกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐานอย่างสร้างสรรค์

การฝึกอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การส่งเสริมวาทกรรมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์ และการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในประเทศไทย” ระยะเวลา ๒ ปี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับ IOM ประเทศไทย โดยในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๗ จะร่วมจัดการฝึกอบรมสำหรับนักศึกษาที่สนใจ รวมถึงการมอบทุนวิจัย การศึกษาดูงานในพื้นที่ และโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ