วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ย. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี
ในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖
ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (๑๕ นาที)
* * * * * * * * * * * *
ท่านประธาน
คณะผู้แทนประเทศต่าง ๆ
สวัสดีจากประเทศไทยครับ
๑. ก่อนอื่น ผมขอแสดงความยินดีกับท่านประธานที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖ ครับ
๒. เมื่อปลายปี ๒๕๖๓ เราเคยเชื่อมั่นว่า หากเรามีวัคซีน เราจะสามารถเอาชนะการแพร่ระบาดของโควิด-๑๘ ได้ แต่ในความเป็นจริง เชื้อไวรัสนี้ได้มีการกลายพันธุ์และสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน และมีแนวโน้มที่จะคงอยู่กับเราไปอีกเป็นเวลานาน ดังนั้น ความสามารถในการเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-๑๙ อย่างมีคุณภาพ ภายใต้บริบทของ "ความปกติถัดไป หรือที่เรียกว่า Next Normal" จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกประเทศ
๓. โควิด-๑๙ ทำให้ประชาคมโลกต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายมิติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตของเรา แต่ไม่เพียงเท่านั้น ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกภูมิภาคยังได้ซ้ำเติมความโหดร้ายของสถานการณ์ปัจจุบันและสร้างความเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้ ประการสำคัญคือ ความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศในการเร่งขับเคลื่อน SDGs ต้องเกิดภาวะชะงักงัน และส่งกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรโลกในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา
๔. โอกาสนี้ ผมจึงขอชื่นชมวิสัยทัศน์ของท่านเลขาธิการสหประชาชาติที่จัดทำรายงาน Common Agenda ซึ่งนำเสนอประเด็นสำคัญที่พวกเราจะต้องร่วมมือกัน “เพิ่มพลัง” และสร้างเครือข่ายความร่วมมือพหุภาคีที่ทุกภาคส่วน สามารถมีส่วนร่วม เพื่อให้เราก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น และมีสันติภาพสำหรับประชาชนและโลกของเรา
๕. ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับท่านประธานว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ความหวัง” และความมุ่งมั่นที่ประชาคมโลกจะร่วมกันสร้างโลกของวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างสมดุลที่มีคนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผมเชื่อว่า วิกฤตและความท้าทายที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสให้เราเรียนรู้และแก้ไขในสิ่งที่ผ่านมา และเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็น “โอกาส” ที่ประชาคมโลกจะร่วมมือกันผลักดันการปฏิรูปความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคี ให้สามารถเป็น “Driver of Change” อย่างแท้จริง โดยประชาคมโลกต้องยึดมั่นในระบบพหุภาคีด้วยความแน่วแน่ เพราะคงไม่มีประเทศใดสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือการเปลี่ยนผ่านที่มีนัยสำคัญได้โดยลำพัง มีเพียงความสมานฉันท์และความร่วมมือของประชาคมโลกเท่านั้นที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
ท่านประธานครับ
๖. การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า จะไม่มีใครปลอดภัยจากการแพร่ระบาดได้เลยหากทุกคนยังไม่ปลอดภัย ประชาคมโลกจึงต้องเร่งผลักดันให้วัคซีนและยารักษาโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะของโลก โดยการส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและรวดเร็ว ประเทศที่มีวัคซีนหรือยาที่เกินกว่าความต้องการแล้ว ควรแบ่งปันให้แก่ประเทศที่ยังขาดแคลนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการบริจาคหรือการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายควรเร่งผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาวัคซีน รวมถึงยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นยกระดับให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีอุตสาหกรรมการแพทย์ที่เข้มแข็ง และพร้อมสำหรับการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
๗. นอกจากนี้ ทุกประเทศต้องมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ WHO เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลก ซึ่งรวมถึงการหารือเพื่อพิจารณาจัดทำ Pandemic Treaty การปรับกระบวนทัศน์ในประเด็นความมั่นคงด้านสุขภาพของโลกที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมและไร้พรมแดน ในส่วนของประเทศไทย เรามีความพยายามในการส่งเสริมการผนวกรวมมิติด้านสาธารณสุขในเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งควรครอบคลุมทั้งภัยธรรมชาติและโรคอุบัติใหม่ ตลอดจนได้เชิญชวนให้มีการใช้ประโยชน์จากหลักการกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการด้านสาธารณสุขตามกรอบเซนไดฯ ผมเชื่อว่า หัวใจสำคัญของประเด็นนี้ คือ การสร้างระบบสาธารณสุขของโลกที่มีภูมิต้านทาน เท่าเทียม และเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการฟื้นตัวที่ยั่งยืนต่อไป
๘. การรับมือกับวิกฤตโควิด-๑๙ ไม่ใช่การลงแข่งขันกีฬาประเภทเดี่ยว ที่จะต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ แต่เป็นการแข่งขันกีฬาประเภททีมที่เราทุกคนอยู่ทีมเดียวกัน ดังนั้น ชัยชนะสำหรับทุกคนคือเป้าหมายร่วมกัน ปัจจุบัน เราเริ่มเห็นพัฒนาการเชิงบวกในการรับมือกับโควิด-๑๙ รวมทั้งความร่วมมือด้านการผลิตและจัดสรรวัคซีนในหลาย ๆ ประเทศทั้งระดับทวิภาคีและผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ผมจึงเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถเอาชนะวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งนี้ไปด้วยกันได้ในที่สุด
ท่านประธานครับ
๙. ตามที่ผมได้กล่าวในตอนต้น ปัจจุบันเรากำลังเผชิญหน้ากับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล เนื่องจากหลายศตวรรษที่ผ่านมา พวกเราต่างเพลิดเพลินและใช้ประโยชน์จากโลก โดยละเลยความต้องการหรือตอบรับต่อสัญญาณเตือนภัยที่โลกพยายามสื่อสารมาอย่างยาวนาน ดังนั้น ในช่วง ๓๐ ปีหลังจากนี้ จึงเป็นช่วงที่เราทุกคนจะต้องรับผลจากการกระทำที่ผ่านมา
๑๐. แม้อนาคตจะไม่เป็นดั่งที่เราคาดหวัง แต่หากเรายังคงนิ่งเฉย อุณหภูมิโลกอาจพุ่งสูงขึ้นเกิน ๒ องศาและก่อให้เกิดภัยพิบัติที่เลวร้ายยิ่งขึ้นไปกว่าที่เราประสบในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นถี่และรุนแรงมากขึ้นหรือสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมและฤดูการเก็บเกี่ยว และอาจนำมาซึ่งวิกฤตความมั่นคงทางอาหารในที่สุด ประเด็นนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีภาคการเกษตรขนาดใหญ่ โดยผมเห็นว่าการจัด Food Systems Summit ในสัปดาห์นี้เป็นกิจกรรมที่สามารถสะท้อนถึงปัญหาและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาคมโลกของเราจะสามารถหาทางแก้ไขได้อย่างยั่งยืน
๑๑. ประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. ๒๖๐๘-๒๖๑๓ ขณะเดียวกัน ก็มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ และมุ่งมั่นให้มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในท้องถนนเป็นสัดส่วน ๓ ใน ๑๐ โดยสนับสนุนให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ และสนับสนุนให้ประชาคมโลกร่วมกันผลักดันให้การประชุม COP26 (ค็อป 26) มีพัฒนาการที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม
๑๒. ผมเชื่อว่า ทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นมักมีสิ่งดี ๆ ซ่อนอยู่เสมอ ผมจึงอยากให้ทุกคนร่วมกันเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสในการเตรียมตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” โดยเฉพาะการสร้างสมดุลของการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประชาคมโลกต้องเร่งพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนสะอาด เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ EEC เป็นศูนย์กลางความร่วมมือของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระหว่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รวมถึงสามารถปรับตัว เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และฟื้นตัวจากภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน
ท่านประธานและทุกท่านครับ
๑๓. การผลักดันการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ในทุกภาคส่วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งรวมถึงความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้นสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ดังนั้น การระดมทุนเพื่อการพัฒนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยประชาคมโลกควรให้ความสำคัญกับการดำเนินตามแผนปฏิบัติการแอดดิส อาบาบา รวมถึงการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกทะเล และประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ด้วยเหตุนี้ ผมขอผลักดันให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมกันให้ความช่วยเหลือประเทศกลุ่มนี้อย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้สามารถข้ามพ้นความท้าทายด้านการพัฒนา โดยประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเกื้อกูลกันระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของโลกต่อความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต
๑๔. ผมเชื่อว่า ความสมดุลเป็นหัวใจของการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs และเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับวิกฤตและความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ความมั่นคงทางอาหาร ภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหาสิทธิมนุษยชน หรือการขจัดความยากจน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เสนอรายงาน VNR เป็นครั้งที่ ๒ โดยเน้นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนและบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับ global supply chains นอกจากนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความมั่นคงของระบบอาหารโลกผ่านเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมีโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้นแบบของการปลูกฝังการส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืนตั้งแต่ระดับเยาวชน
ท่านประธานครับ
๑๕. ความสงบสุขและเสถียรภาพเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่ไม่อาจละเว้นได้ในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้น ประชาคมระหว่างประเทศจึงต้องร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมแห่งสันติภาพ โดยส่งเสริมความสามัคคี ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน โดยเฉพาะระหว่างประเทศมหาอำนาจ ที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามมีบทบาทที่ต่อเนื่องในการส่งเสริมและรักษาสันติภาพและความมั่นคงตลอดทั้งกระบวนการ โดยส่งเสริมการเสริมสร้างสันติภาพและบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนในกรอบคณะกรรมาธิการเสริมสร้างสันติภาพ และบริจาคเงินสมทบกองทุนเสริมสร้างสันติภาพ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารของไทยยังคงปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจของ UN อย่างแข็งขัน เพื่อสนับสนุนภารกิจการส่งเสริมสันติภาพของสหประชาชาติ โดยเชื่อว่าการส่งเสริมการพัฒนาจะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากต้นเหตุได้อย่างแท้จริง
๑๖. สถานการณ์ในอัฟกานิสถานตอกย้ำความจริงว่า ประชาคมโลกจะต้องกระชับความร่วมมือเพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถาน จึงได้บริจาคเงิน จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของสหประชาชาติในการดำเนินงานเพื่อบรรเทาวิกฤตด้านมนุษยธรรมในประเทศดังกล่าว ซึ่งเป็นประเทศร่วมภูมิภาคเอเชีย นอกจากนั้น ไทยยังได้ร่วมบรรเทาทุกข์ในเฮติอีกด้วย
๑๗. ไทยและประเทศ core group อื่น ๆ ถือว่า การมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ เป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประชาคมโลกในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติที่จะส่งเสริมให้ประชาชนรุ่นหลังปลอดภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ แม้ในห้วงที่มีความตึงเครียดระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ประชาคมโลกไม่ควรย่อท้อต่อการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ ความร่วมมือทางไซเบอร์ และการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ โดยประเทศไทยส่งเสริมการเชื่อมโยงความร่วมมือในกรอบ TPNW (ทีพีเอ็นดับเบิ้ลยู) กับสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ด้วย
๑๘. ประเทศไทยยืนยันที่จะส่งเสริมการใช้การทูตพหุภาคี เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพและความสมานฉันท์ในเมียนมา โดยประเทศไทย ในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและสมาชิกอาเซียน ได้ติดตามพัฒนาการในเมียนมามาอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อ ของที่ประชุมผู้นำอาเซียน ควบคู่กับความร่วมมือด้านสาธารณสุขและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ช่วยเหลือประชาชนเมียนมาอย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้าน โดยเฉพาะในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งมีคลังสิ่งของบรรเทาทุกข์อยู่ที่จังหวัดชัยนาท และหน่วยงาน
ของสหประชาชาติอื่น ๆ
ท่านประธานและทุกท่านครับ
๑๙. ปัจจุบัน สถานการณ์โควิด-๑๙ ในประเทศไทย ยังคงอยู่ในสภาวะที่มีความท้าทายสูงเหมือนเช่นในหลาย ๆ ประเทศ อย่างไรก็ดี ผมเชื่อมั่นว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนจะมีความสำคัญต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะสามารถช่วยรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพและโรคอุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยได้นำพลังของอาสาสมัครในท้องถิ่นและความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาปรับใช้ในการรับมือกับโรคโควิด-๑๙ โดยเราภูมิใจที่มีการใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านของไทย มาเป็นยารักษาและบรรเทาอาการของโรคโควิด-๑๙ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างแนวทางการพัฒนาจากท้องถิ่นที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้
๒๐. ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ จะครบรอบ ๗๕ ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของประเทศไทย ผมในฐานะผู้แทนประเทศมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ในช่วง ๗๕ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงบทบาทในฐานะรัฐสมาชิกและหุ้นส่วนด้านการพัฒนาของสหประชาชาติที่มีความรับผิดชอบ เชื่อถือได้ และสร้างสรรค์ ในทั้ง ๓ เสาหลักของสหประชาชาติ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังภูมิใจที่เป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ของสำนักงานสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชีย โดยมีหน่วยงานของ UN ถึงกว่า ๔๐ หน่วยงานตั้งอยู่ เรายืนยันที่จะทำหน้าที่เจ้าบ้านที่ดี และจะสนับสนุนโครงการปรับปรุงอาคารสำนักงานของ ESCAP (แอสแค็ป) ให้มีความทันสมัยและสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้
๒๑. ประเทศไทยมุ่งมั่นในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างประเทศและการฝึกอบรมในภูมิภาค โดยตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือแบบใต้-ใต้ และไตรภาคี รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพการประชุม Global South-South Development Expo ที่กรุงเทพฯ ร่วมกับ ESCAP (แอสแค็ป) และสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ ในปี ๒๕๖๕
๒๒. ในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี ๒๕๖๕ เราจะผลักดันเป้าหมายหลัก ๓ ประการ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งประเด็นสำคัญเหล่านี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของประเทศไทยใน
การส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคีที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลหลังโควิด-๑๙ โดยเราหวังว่าจะสามารถให้การต้อนรับโลกสู่ไทยภายใต้บริบทของความเปลี่ยนแปลงตลอดกาล
๒๓. ทุกท่านครับ ประวัติศาสตร์สอนเราว่า ภายหลังความทุกข์ยาก มักจะตามมาด้วยการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองเสมอ ผมจึงเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือพหุภาคีในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ โดยเฉพาะภายใต้กรอบสหประชาชาติ จะนำเราไปสู่ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งยิ่งใหญ่ และพลังของประชาคมโลกในการรับมือกับวิกฤตโลกร้อน จะนำเราไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำหน้า ประการสำคัญ ความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายในมิติต่าง ๆ จะผลักดันให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันพร้อมกับการมีโลกใบใหม่ที่ดีและเข้มแข็งกว่าเดิม
ขอบคุณและสวัสดีครับ
* * *
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **