รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือกับที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ๒ คน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือกับที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ๒ คน

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.พ. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 ก.พ. 2567

| 1,002 view

เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือทวิภาคีกับที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ๒ คน ที่กรุงวอชิงตัน ระหว่างการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วย ได้แก่

(๑) นาย Amos Hochstein ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้านพลังงานและการลงทุน ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับศักยภาพของโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ทั้งในมิติเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่อุปทาน ด้านดิจิทัล และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป

(๒) นาย Christopher Van Hollen สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ รัฐแมริแลนด์ (D-MD) ประธานอนุกรรมาธิการด้านเอเชียตะวันออก แปซิฟิก และนโยบายความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างประเทศ คณะกรรมการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐฯ โดยทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ และสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งวุฒิสมาชิก Van Hollen ได้ชื่นชมข้อริเริ่มของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา อีกทั้งได้แสดงความเป็นห่วงตัวประกันชาวไทยในกาซา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังแสดงความยินดีที่มีการจัดตั้ง U.S.-Thai Alliance Caucus ในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โดยวุฒิสมาชิก Van Hollen ยินดีที่จะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในลักษณะเดียวกันในกรอบของวุฒิสภาสหรัฐฯ ต่อไป

(๓) นาง Ladda Tammy Duckworth สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ รัฐอิลลินอย (D-Il) สมาชิกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐฯ โดยรองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ขอบคุณวุฒิสมาชิก Duckworth สำหรับมิตรภาพและการสนับสนุนชุมชนไทยในสหรัฐฯ รวมถึงการสนับสนุนร่างข้อมติวุฒิสภาสหรัฐฯ ในโอกาส 190 ปีไทย-สหรัฐฯ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านกลาโหม โดยเฉพาะการสนับสนุนเพิ่มจำนวน (โควตา) บุคลากรกองทัพไทยมารับการศึกษาในสถาบันวิชาการทหารในสหรัฐฯ การพัฒนากองทัพให้ทันสมัย และความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการฝึกอบรมการแพทย์ทหาร

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ