นายกรัฐมนตรีมุ่งการพัฒนาที่มั่นคง เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง และสังคมที่ยังยืน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๓

นายกรัฐมนตรีมุ่งการพัฒนาที่มั่นคง เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง และสังคมที่ยังยืน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,269 view

นายกรัฐมนตรีย้ำในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๓ อาเซียนและมิตรแท้อย่างญี่ปุ่นต้องฝ่าฟันวิกฤตโควิด-๑๙ ไปด้วยกัน รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาภูมิภาคที่มั่นคง เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง และสังคมที่ยั่งยืน ไทยขอบคุณการสนับสนุนของญี่ปุ่นทั้งต่อการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ และกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ รวมทั้งการสานต่อความช่วยเหลือสามเสาของญี่ปุ่นในการรับมือกับโควิด-๑๙

เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๔.๔๕ น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยได้แสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีซูกะ โยชิฮิเดะ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง รวมทั้งแสดงความยินดีในโอกาสการสถาปนาเจ้าชายมกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

​นายกรัฐมนตรีชี้ว่า แม้สถานการณ์โควิด-๑๙ ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนทั่วโลก อาเซียนและมิตรแท้อย่างญี่ปุ่นต้องร่วมมือกันฟันฝ่าวิกฤตและจัดการกับความท้าทายครั้งนี้ไปด้วยกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โดยที่ไทยจะรับหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในช่วงกลางปี ๒๕๖๔ ไทยมองวิกฤต โควิด-๑๙ เป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ไทยสนับสนุนข้อเสนอของญี่ปุ่นในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้เอกสาร AOIP และร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๓ ว่าด้วยความร่วมมือต่อเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก โดยนายกรัฐมนตรีได้มุ่งเน้น ๓ เป้าหมายและสาขาความร่วมมือที่สอดคล้องกับบริบทของโลกในปัจจุบัน ได้แก่

(๑) ภูมิภาคที่มั่นคง ด้วยการสร้างภูมิภาคที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างใกล้ชิด และมุ่งขยายความร่วมมือบนพื้นฐานของหลักการร่วมกัน เช่น ความเป็นแกนกลางของอาเซียน การเปิดกว้าง ความโปร่งใส การทำงานตามกฎกติกา และหลักการ 3M ได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน

(๒) เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง ด้วยการเสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค เน้นการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และยินดีต้อนรับนักลงทุนและนักธุรกิจญี่ปุ่น โดยพร้อมหารือเพื่อกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศที่ปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข อีกทั้งเน้นการสนับสนุน MSMEs start-ups และผู้ประกอบการท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาทักษะที่จำเป็นในยุค 4IR

​(๓) สังคมที่ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติและมุ่งหวังที่จะขยายความร่วมมือในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นประเด็นสาธารณสุข ด้วยการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ และพร้อมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่น เช่น กลไกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมิติต่าง ๆ และเชิญชวนให้ใช้ประโยชน์จากศูนย์อาเซียนที่จัดตั้งในไทยด้วย

อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๓ ผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่นรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๓ ว่าด้วยความร่วมมือต่อเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก รวมทั้งมีการเปิดตัวศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ อีกด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ