การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์ฯ

การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์ฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,033 view

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อก้าวสู่ทศวรรษใหม่ร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รักษาสันติภาพและเสถียรภาพ ดุลยภาพเชิงยุทธศาสตร์ในสถาปัตยกรรมของภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลางใน กปช. สุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปีความสัมพันธ์ฯ

เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปีความสัมพันธ์ฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ทรงเป็นองค์ประธานร่วมกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ประชุมฯ ได้แสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์ฯ และการเปลี่ยนสถานะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน อีกทั้งได้ทบทวนความสำเร็จในช่วง ๓ ทศวรรษที่ผ่านมาและกำหนดแนวทางความร่วมมือที่ครอบคลุมเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระยะถัดไป

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้พร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-๑๙ และความท้าทายอื่น ๆ โดยอาเซียนสามารถเรียนรู้จากความสำเร็จของจีนในการขจัดความยากจนและความหิวโหย ตลอดจนการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ทั้งในการผลิต การแปรรูป และการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน

ในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเสนอให้มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมจากรากฐานซึ่งรวมถึงการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนทุกช่วงวัย โดยเน้นการนำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบก้าวกระโดด อีกทั้งเน้นย้ำการเสริมสร้างศักยภาพของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ MSME ผู้ประกอบการสตรี และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับยุค 4IR และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันในความมุ่งมั่นของไทยที่จะสานต่อบทบาทที่แข็งขันในการผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเน้นย้ำการเสริมสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งและความยั่งยืนในทุกมิติ รวมถึงเสนอโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการในภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความสำคัญในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ รวมทั้งดุลยภาพเชิงยุทธศาสตร์ในสถาปัตยกรรมของภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง และยืนยันเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการสานต่อบทบาทที่สร้างสรรค์ในการผลักดันความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และสนับสนุนการปฏิบัติตามปฏิญญา DOC และการเจรจาจัดทำ COC ให้สำเร็จโดยเร็ว

ที่ประชุมฯ รับรองแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ