วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ส.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 ส.ค. 2565
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งที่ ๓ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง สานต่อการหารือเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ อย่างสมดุลและยั่งยืน ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาวางกรอบทิศทางการทำงานของเอเปคอย่างเป็นระบบ ผ่านการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจ BCG ซึ่งไทยตั้งเป้าหมายให้เป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
ตลอดระยะเวลา ๘ เดือนที่ผ่านมา ไทยได้ผลักดันการจัดทำเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจ BCG อย่างต่อเนื่อง โดยจัดกิจกรรมและการประชุมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่กับการพัฒนาร่างเอกสารที่มีกระบวนการรับฟังความเห็นจากทุกเขตสมาชิกอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เอกสารเป้าหมายฉบับนี้สร้างประโยชน์สูงสุดในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของเอเปค ที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของทุกเขตเศรษฐกิจสมาชิก
โมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับขับเคลื่อนความยั่งยืนไปพร้อมกันทั้งสังคม ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ นี้ ไทยจึงได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเงิน และผู้แทนเยาวชนจากเขตเศรษฐกิจสมาชิก เพื่อถ่ายทอดความสำเร็จ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ รวมถึงอุปสรรคความท้าทายในการนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ไปปรับใช้ในการทำงานและการดำเนินธุรกิจในชีวิตจริง ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างกัน และได้เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ สะท้อนความคาดหวังต่อการทำงานของเอเปคในประเด็นนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันเป้าหมายกรุงเทพฯ ให้เดินหน้าไปอีกขั้นด้วยการจัดประชุมพิเศษเพื่อรับฟังความเห็นของทุกเขตเศรษฐกิจฯ ต่อประเด็นสารัตถะของร่างเอกสาร เพื่อนำความเห็นไปปรับปรุงให้เอกสารฉบับนี้พร้อมนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคให้ความเห็นชอบ เมื่อสำเร็จ จะถือเป็นเป้าหมายฉบับแรกของเอเปคที่ส่งเสริมการทำงานเรื่องการสร้างความยั่งยืนอย่างเป็นระบบและครอบคลุม
นอกเหนือจากการจัดทำเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ไทยยังได้ผลักดันให้เอเปคนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาการดำเนินธุรกิจที่เป็นประเด็นใกล้ตัวคนไทยและเป็นปัญหาร่วมของประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาทิ (๑) การส่งเสริมการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลการประชุมสำคัญของ การประชุมรัฐมนตรีการท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ ๑๑ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคมที่ผ่านมา (๒) การส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ประชาชนท้องถิ่น นำไปสู่การดำเนินธุรกิจด้านป่าไม้อย่างยั่งยืนและช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม และ (๓) การส่งเสริมการพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ เรื่องการขจัดความอดอยากและสร้างความมั่งคงทางอาหาร ซึ่งเป็นผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงทางอาหารเอเปค ครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นต้น
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งที่ ๓ ได้นำแนวคิดเรื่องการสร้างความสมดุลในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และความยั่งยืนที่ได้ประกาศไว้ช่วงต้นปี มาพัฒนาเป็นนโยบายที่รัฐมนตรีเอเปคสาขาต่าง ๆ เห็นชอบร่วมกันและจะถูกนำไปกำหนดเป็นทิศทางการดำเนินงานภายในของแต่ละเขตเศรษฐกิจรวมถึงไทย เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต่อไป
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **