การจัดกิจกรรมเปิดตัวตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปี ๒๕๖๕ การประชุมระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๒

การจัดกิจกรรมเปิดตัวตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปี ๒๕๖๕ การประชุมระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,303 view

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๖๕๔ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดกิจกรรมเปิดตัวตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ในปี ๒๕๖๕ ณ ไอคอนสยาม เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๓.๓๐ น. โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นประธาน และมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย รวมทั้งผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชย และชมนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับเอเปค และการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยอีกด้วย

ตราสัญลักษณ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศออกแบบโดยนายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากชะลอม เครื่องจักสานของไทยที่ใช้ใส่สิ่งของในการเดินทาง และเป็นสัญลักษณ์การค้าขายและน้ำใจของ “การให้” ของคนไทยมาแต่โบราณ ตราสัญลักษณ์ยังสื่อถึง “OPEN, CONNECT, BALANCE” หัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย ได้แก่ ชะลอมเป็นสัญลักษณ์ของการค้า สื่อถึง OPEN โอกาสที่เปิดกว้าง / ชะลอมเป็นสิ่งบรรจุสินค้าและใช้ในการเดินทางเชื่อมโยง ไปมาหาสู่กัน สื่อถึง CONNECT/ ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจ BCG สื่อถึง BALANCE สมดุล 

ในเวลา ๑๔.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. กระทรวงการต่างประเทศยังได้จัดการประชุมระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๒ เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับภาคสื่อมวลชนในสาขาต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางตลอดจนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยให้ประชาชนไทย“ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ มีส่วนร่วม” ตลอดจนใช้โอกาสดังกล่าวในการแสดงศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทย โดยมีนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินการการเสวนา (co-moderators) ซึ่งมีสื่อมวลชนไทยและสื่อต่างประเทศในไทยเข้าร่วมกว่า ๕๐ ราย

อธิบดีกรมสารนิเทศย้ำบทบาทของสื่อมวลชนในการเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาครัฐกับประชาชน ให้ประชาชน "ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ มีส่วนร่วม” (Inform-Inspire-Integrate-Involve) โดยไทยจะผลักดันความร่วมมือเอเปคได้สำเร็จยิ่งขึ้น ต้องอาศัยการปฏิบัติของภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไทยสูงสุด ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้กำหนดยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ที่ตรงกับผู้รับสารที่เป็นเป้าหมายแต่ละกลุ่มและให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้ง (๑) ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคเกษตร โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSMEs และ start-ups (๒) ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (๓) นักเรียน นิสิตนักศึกษา เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส (๔) สาธารณชน ภาคประชาสังคม และประชาชนไทย โดยเน้นการประชาสัมพันธ์ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการประชุม และ (๕) ภาคเอกชน โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจเอเปคและในประเทศที่เป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเน้นย้ำความสำคัญของการใช้ประโยชน์เอเปคซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รวมกันเกินครึ่งหนึ่งของโลกเพื่อให้ไทยสามารถปรับตัวและทันกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมดิจิทัล (digitalization) ความยั่งยืน (sustainability) และมีความสามารถในการปรับตัว (resilience) โดยทุกภาคส่วนของไทยจำเป็นต้องร่วมกันปฏิบัติเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันแนวโน้มโลกข้างต้น

นางสุดฤทัย เลิศเกษม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่ากรมประชาสัมพันธ์ให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนไทยเข้าใจง่าย และเข้าถึงทุกระดับและทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยได้จัดทำข่าวเป็นภาษาท้องถิ่นในภูมิภาคด้วย เป็นต้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ