รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๗ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๗ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,458 view

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมในกรอบอาเซียน ๓ การประชุม ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๒๒ และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๒๘ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๗ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๘.๐๐ น. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting: AMM) โดยได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นประเด็นสถานการณ์โลกและภูมิภาค รวมถึงประเด็นความร่วมมือในการรับมือและการฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และทะเลจีนใต้ โดยไทยให้ความสำคัญกับการบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-๑๙ อาทิ ไทยเน้นย้ำข้อเสนอให้รวมเรื่องการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ MSMEs ในกรอบฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๗ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องด้วย

ต่อมาเมื่อเวลา ๑๐.๑๕ น. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๒๒ (22nd ASEAN Political-Security Community Council Meeting: APSC) โดยแสดงการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC Blueprint 2025) และการทบทวนกึ่งวาระ (Mid-term review) ของแผนงานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นผลสำเร็จที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นประธานอาเซียนของเวียดนาม นอกจากนั้น ฝ่ายไทยยังเน้นย้ำประเด็น ได้แก่ (๑) การบริหารจัดการชายแดนในอาเซียน เป็นข้อริเริ่มของไทยซึ่งสอดคล้องกับ APSC Blueprint (๒) ความมั่นคงทางไซเบอร์และการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการสร้างขีดความสามารถโดยใช้ประโยชน์จาก ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre (AJCCBC) ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศไทย และ (๓) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์ทหารในภูมิภาคอาเซียน ผ่านการดำเนินงานของ ASEAN Center of Military Medicine (ACMM) ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

จากนั้นเมื่อเวลา ๑๑.๑๕ น. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๒๘ (28th ASEAN Coordinating Council Meeting: ACC) และได้ร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนสนับสนุนการดำเนินการที่สำคัญของเวียดนามในฐานะประธานอาเซียน พร้อมเน้นย้ำความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในข้อริเริ่มต่าง ๆ เกี่ยวกับการรับมือกับโรคโควิด-๑๙ ในโอกาสนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๗ และการประชุมสุอดยอดที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในประเด็นการรับมือกับโรคโควิด-๑๙ ที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมสุดยอดฯ มอบหมายให้คณะมนตรีประสานงานติดตามการดำเนินงานของกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ อย่างมีประสิทธิภาพและเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดฯ เปิดตัวคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (ASEAN Regional Reserve of Medical Supplies (RRMS) for Public Health Emergencies) ในโอกาสนี้ด้วย

และเมื่อเวลา ๑๒.๓๐ น. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียน ลงนามในตราสารขยายจำนวนอัครภาคี ในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia :TAC) และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามตราสารภาคยานุวัติฯ เพื่อเข้าร่วมเป็นอัครภาคีฯ ของ ๓ ประเทศ ได้แก่ โคลอมเบีย คิวบา และแอฟริกาใต้ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ