วันที่นำเข้าข้อมูล 10 พ.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำ ๓ ประเด็นสำคัญของไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ได้แก่ (๑) การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และการเข้าถึงวัคซีนโควิด-๑๙ ได้โดยง่าย (๒) การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ โดยให้เงินอุดหนุน และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัล และ (๓) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจระดับฐานรากโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระดับชุมชน ระหว่างเข้าร่วมการประชุม Meeting of the OECD Council at Ministerial Level
เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม Meeting of the OECD Council at Ministerial Level (MCM) ในช่วงการประชุมเต็มคณะ ในหัวข้อ “The Way Out of the Crisis: National Policies and International Cooperation for a Strong, Resilient, Green and Inclusive Recovery” ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งจัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) สำหรับปีนี้ สเปนเป็นประธานการประชุม
ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงวิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยเน้น ๓ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (๑) การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้สามารถจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ได้เป็นอย่างดีต่อไป และในฐานะที่ไทยเป็นผู้ร่วมผลิตและวิจัยวัคซีน ได้เน้นการเข้าถึงวัคซีนโควิด-๑๙ ได้โดยง่าย (๒) การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รวมทั้ง นักศึกษาจบใหม่ แรงงานนอกระบบ และ SMEs โดยให้เงินอุดหนุน ช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัล และช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประคองให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตโควิด-๑๙ ไปได้ และ (๓) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจระดับฐานรากโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระดับชุมชน เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน และการใช้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อการสร้างงานและส่งเสริมการพัฒนาอย่างครอบคลุมและยั่งยืน
ที่ประชุมยังได้เสนอให้ OECD ศึกษาแนวทางในการส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม ยั่งยืน ยืดหยุ่น และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ เช่น ตัวชี้วัดทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ Gross Domestic Product – GDP (beyond-GDP indicators) ระบบภาษีในเศรษฐกิจดิจิทัล การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มการจ้างงาน
อนึ่ง OECD เป็นองค์การความร่วมมือที่มีความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการร่วมมือกับประเทศสมาชิกและกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาแนวปฏิบัติต่าง ๆ ให้มีมาตรฐานร่วมกัน โดยในแต่ละปี OECD จะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกับประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วน เพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานของ OECD ในปีถัดไป ทั้งนี้ ไทยได้รับเชิญในฐานะประเทศที่กำลังดำเนินโครงการ Thailand-OECD Country Programme
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **