วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มิ.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๘ – ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเทศไทยได้รับเชิญจากญี่ปุ่นให้เข้าร่วมในฐานะประธานอาเซียน โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วย
การประชุมผู้นำ G20 ประจำปี ๒๕๖๒ มีวาระการหารือ ๔ หัวข้อหลัก ได้แก่ (๑) เศรษฐกิจโลก การค้า และการลงทุน (๒) นวัตกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (๓) การแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและการสร้างโลกที่ยั่งยืนและทุกคนมีส่วนร่วม และ (๔) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน
ในการประชุมดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงถึงผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๓๔ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๒ – ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ ซึ่งย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับหัวข้อของวาระการเป็นประธานอาเซียนของไทย คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)” และเอกสารสำคัญที่ได้มีการรับรองในการประชุมผู้นำอาเซียนจำนวน ๒ ฉบับ ได้แก่ วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Vision Statement on Partnership for Sustainability) และมุมมองของอาเซียนต่อเรื่องอินโด - แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo - Pacific)
ทั้งนี้ เพื่อแปรแนวคิดดังกล่าวไปสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้สมาชิก G20 โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นคู่เจรจา (Dialogue Partners) ทวีความร่วมมือกับอาเซียนในด้านต่าง ๆ เช่น การเปิดเสรีทางการค้าและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการค้าพหุภาคีโดยการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) การผลักดันให้การเจรจาความตกลง RCEP บรรลุผลภายในปีนี้ การเสริมสร้างความเชื่อมโยง ตลอดจน ความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การเตรียมการเข้าสู่สังคมสูงอายุ และการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน รวมทั้งการขจัดปัญหาขยะทะเล ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตามเป้าหมายดิจิทัลอาเซียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Digital and Green ASAEN) การสร้างเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมความครอบคลุมทางการเงิน ซึ่งไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศ G20 ที่สนใจ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพ และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีต่อไป
ในช่วงการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีมักซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางร่วมมือกันด้านความครอบคลุมทางการเงินเพื่อประโยชน์ต่อสตรีและกลุ่มด้อยโอกาส รวมทั้งได้พบหารือทวิภาคีกับกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ด้วย
อนึ่ง การประชุมกลุ่มประเทศสมาชิก G20 ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๒ เพื่อเป็นเวทีของผู้นำประเทศ ที่สำคัญของโลก ๒๐ ประเทศ หารืออย่างไม่เป็นทางการเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงตอบสนองต่อประเด็นท้าทายใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ สมาชิกประกอบด้วยประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ๘ ประเทศ (สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย) และประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ ๑๑ ประเทศ (อาร์เจนตินา บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี) และสหภาพยุโรป มีมูลค่า GDP และประชากร เท่ากับร้อยละ ๙๐ และร้อยละ ๖๖ ของโลกตามลำดับ สำหรับในปีนี้ ญี่ปุ่นได้เชิญแขกพิเศษเข้าร่วมเพิ่มเติม ๘ ประเทศ ได้แก่ (๑) สเปน (Permanent Guest) (๒) เนเธอร์แลนด์ (๓) สิงคโปร์ (๔) เวียดนาม (๕) ไทย (ประธานอาเซียน) (๖) ชิลี (เจ้าภาพเอเปค) (๗) อียิปต์ (ประธาน AU) และ (๘) เซเนกัล (ประธาน NEPAD)
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **