วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มิ.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุม ASEAN Women’s Business Conference & Award Ceremony และกล่าวปาฐกถาพิเศษในประเด็น “Globalization 4.0 and Beyond: Advancing Women Economic Empowerment through Action and Impact” ที่โรงแรมเจ ดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ จัดขึ้นโดยเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ประเทศไทย (ASEAN Women Entrepreneurs Network (AWEN) Thailand) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทย ในปี ๒๕๖๒ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งให้ความสำคัญกับความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต โดยเฉพาะความสำคัญของการมีส่วนร่วมของสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และการดำเนินงานด้านสตรีของไทยและอาเซียน ที่จำเป็นอย่างยิ่งคือการเสริมทักษะและศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพราะบริบทของโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและประเด็นท้าทายจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔ ดังนั้น ผู้ประกอบการสตรีจำเป็นต้องเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อใช้โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ในระดับประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงประเด็นการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและบทบาทของสตรีในการสร้างสรรค์สังคม ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐) และการบังคับใช้ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ รวมถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔
ในระดับภูมิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ต่าง ๆ ของอาเซียนที่สะท้อนการให้ความสำคัญด้านสตรีของอาเซียน อาทิ ปฏิญญาฮานอยว่าด้วยการเสริมสร้างสวัสดิการและการพัฒนาของสตรีและเด็กอาเซียน และวาระการดำเนินงานในการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการส่งเสริมขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของสตรีในอาเซียน เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้วย
คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ประเทศไทย ประจำปี ๒๕๖๑ - ๒๕๖๓ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการมีความร่วมมือด้านสตรีในกรอบอาเซียนเพื่อส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียม รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยสำคัญ เพื่อให้สตรีมีความมั่นคงและเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจสำหรับตนเองและครอบครัว อย่างไรก็ดี ยังคงพบว่ามีข้อท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะแนวความคิดเกี่ยวกับบทบาทสตรีที่ยังคงยึดติดกับแบบแผนเดิม ทั้งที่สตรีสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทที่มากขึ้น โดยไม่ละทิ้งประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงาม ดังนั้น อาเซียนและเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ประเทศไทย จึงควรใช้โอกาสนี้ส่งเสริมศักยภาพสตรี
การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมประจำปีของเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญประกอบด้วย การประชุมเชิงปฏิบัติการ การมอบรางวัลผู้ประกอบการสตรีที่มีผลงานโดดเด่นในอาเซียน และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **