นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางครั้งที่ ๒

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางครั้งที่ ๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 เม.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,259 view

เมื่อวันที่ ๒๖ – ๒๗ เมษายน ๒๕๖๒ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนางสาวชุติมา บุญยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ ๒ ภายใต้หัวข้อ “สร้างอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นร่วมกัน” ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับผู้นำ ๓๘ ประเทศ ผู้แทนพิเศษจาก ๗ ประเทศ กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศและเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อให้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative - BRI) เกิดผลเป็นรูปธรรม

ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๒ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับสูง (High-Level Meeting) โดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวเปิดงาน และนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในฐานะประธานอาเซียนว่า หลักการของอาเซียนสอดคล้องกับหลักการของ BRI ที่เน้นการส่งเสริมความร่วมมือที่สร้างสรรค์เพื่อความเจริญรุ่งเรือง สันติภาพและอนาคตร่วมกัน รวมทั้งให้ความสำคัญต่อหลักการความเท่าเทียมกัน การเคารพกฎระเบียบพหุภาคี และเห็นว่าการเชื่อมโยงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาและการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไทยให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงด้านนโยบาย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านกฎระเบียบ ด้านดิจิทัล และประชาชน รวมทั้งเสนอให้เร่งรัดการดำเนินการตามแผนแม่บทของอาเซียน และ ACMECS รวมทั้งแสวงหาแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง

ในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนและนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทยที่สอดรับกับ BRI โดยเฉพาะการพัฒนาความเชื่อมโยง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขอให้จีนดูแลนักลงทุนไทยในจีน ส่งเสริมความร่วมมือรถไฟไทย - จีน และความร่วมมือไทย - จีน - ญี่ปุ่นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นต้นแบบของความร่วมมือในภูมิภาค พร้อมนี้ นายหาน เจิ้ง รองนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑ ของจีน ได้เป็นเจ้าภาพอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มีโอกาสพบหารือกับนายเหวียน ชวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายคัลต์มา บัตทุลกา ประธานาธิบดีมองโกเลียด้วย

ในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๒ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำโต๊ะกลม (Leaders’ Roundtable) โดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธาน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงที่ ๑ ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมความเชื่อมโยงเพื่อแสวงหาช่องทางใหม่สำหรับการเติบโต” ย้ำถึงบทบาทของไทยในการขยายและยกระดับความเชื่อมโยงภายในประเทศและกับภูมิภาคและโลก โดยเฉพาะการอาศัยโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นฐานในการเชื่อมโยงในหลายรูปแบบ พร้อมทั้งเสนอให้ BRI เน้นการส่งเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจ  การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน  การเร่งรัดการเชื่อมโยงทางดิจิทัล  รวมทั้งจัดตั้งแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการพัฒนาสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน ถือเป็นความสำเร็จแรกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในประเทศที่สาม ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือที่ควรส่งเสริมให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมในช่วงที่ ๒ และช่วงที่ ๓ โดยช่วงที่ ๒ เป็นการจัดลักษณะการหารือระหว่างรับประทานอาหารเที่ยงภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมการสอดประสานด้านนโยบายและสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น” โดยหลายประเทศแจ้งว่าได้ลงนามความตกลง/บันทึกความเข้าใจกับจีนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือภายใต้ BRI และความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายการพัฒนากับ BRI  ส่วนการประชุมในช่วงที่ ๓ ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวและยั่งยืนเพื่อปฏิบัติตามวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐” นั้น ที่ประชุมให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสีเขียวเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือที่สร้างสรรค์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน จากนั้น ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ ๒ ซึ่งกล่าวถึงผลสำเร็จของการดำเนินการที่ผ่านมา และกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคตของ BRI ใน ๕ มิติ ได้แก่ (๑) ความเชื่อมโยงทางนโยบาย (๒) ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทุกมิติ (๓) การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (๔) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือ และ (๕) การพัฒนาการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนในมิติต่าง ๆ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๒ จีนได้จัดการประชุมคู่ขนาน (Thematic Forum) จำนวน ๑๒ เวที ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า ๕,๐๐๐ คน จากกว่า ๑๕๐ ประเทศ เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ อาทิ นโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล เศรษฐกิจการค้า และการจัดหาแหล่งเงินทุน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมในเวทีเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมโยงทางนโยบาย (policy connectivity) โดยได้กล่าวว่า BRI ได้ดำเนินการเป็นรูปธรรมในหลายด้าน ทั้งด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ พร้อมทั้งเสนอแนะ ๔ ข้อ เพื่อเป็นแนวทางความร่วมมือในอนาคต ได้แก่ (๑) การเคารพการจัดลำดับความสำคัญและความต้องการของแต่ละประเทศ  (๒) การส่งเสริมระบบพหุภาคี หลักการเปิดกว้างและครอบคลุม รวมทั้งระบบการค้าระหว่างประเทศ  (๓) การส่งเสริมความยั่งยืนเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และ (๔) การส่งเสริมการประสานนโยบายความเชื่อมโยงต่าง ๆ (Connecting the Connectivities) พร้อมทั้งแจ้งเรื่องความร่วมมือระหว่างไทย - จีน – ญี่ปุ่นในโครงการเชื่อม ๓ สนามบินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบความร่วมมือที่เน้นการมีส่วนร่วมและการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ควรนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินโครงการ BRI เพื่อบรรลุ 5Ps ได้แก่ ประชาชน (People) ความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) สันติภาพ (Peace) ความมั่งคั่ง (Prosperity) และโลก (Planet)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ