ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มี.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,494 view
 
      ระหว่างวันที่ ๒๗ - ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นประธานเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (Hong Kong Economic and Trade Office: HKETO) ประจำประเทศไทย ซึ่งในช่วงการเยือนไทยครั้งนี้ นอกจากการเข้าร่วมพิธีเปิด HKETO ประจำประเทศไทย ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงพร้อมด้วยนายเบอร์นาร์ด ชาน เลขาธิการสภาบริหารฮ่องกง และนายเอ็ดเวิร์ด เยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง ได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล ได้พบหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนชั้นนำของไทย และพบหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และนวัตกรรมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ไทย - ฮ่องกง จำนวน ๔ ฉบับ ในงานสัมมนา “Thailand - Hong Kong Strategic Partnership” และได้ร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่าง Zuni Icosahedron คณะศิลปะการแสดงฮ่องกงและหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครด้วย 
 
      ในช่วงการเข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือผู้บริหารระดับสูงของไทย ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ขอบคุณรัฐบาลไทยที่สนับสนุนการจัดตั้ง HKETO ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นสำนักงานแห่งที่ ๑๓ ของโลก และแห่งที่ ๓ ในอาเซียน (แห่งที่ ๑ และแห่งที่ ๒ ที่สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ตามลำดับ) พร้อมทั้งย้ำว่า การจัดตั้ง HKETO ประจำประเทศไทยเป็นการจัดตั้ง HKETO ที่รวดเร็วที่สุด โดยใช้เวลาเพียง ๑๗ เดือน และเป็นการเปิด HKETO แห่งแรกภายหลังการเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของนางแคร์รี หล่ำ เมื่อปี ๒๕๖๐ นอกจากนี้ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ช่วยผลักดันความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน - ฮ่องกง (AHKIA) โดยหวังว่า เมื่อความตกลงทั้งสองฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จะช่วยเพิ่นพูนมูลค่าการค้าไทย - ฮ่องกงให้บรรลุเป้าหมาย ที่ตั้งไว้ที่ ๒ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๖๓

      ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางกระชับและส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกและรอบด้านระหว่างไทยกับฮ่องกง ในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น การค้า การลงทุน การเงิน ดิจิทัล เทคโนโลยี นวัตกรรม ความมั่นคงทางไซเบอร์ Startups การท่องเที่ยว การศึกษา วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงรับที่จะนำหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของฮ่องกงมาร่วมลงทุนในไทย โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในด้านการเงิน โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับฮ่องกง ในฐานะศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) กับศูนย์กลางนวัตกรรม และเทคโนโลยีระหว่างประเทศในเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Guangdong - Hong Kong - Macao Greater Bay Area: GBA) ตามแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Outline Development Plan for the GBA) หรือ GBA Blueprint ที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เพื่อสนับสนุนข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) 
 
      ในการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความสำคัญของความเชื่อมโยงและการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยผลักดัน ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ รวมถึงการที่ไทยจะเชิญประเทศสมาชิกอาเซียนมาเชื่อมโยงกับ GBA โดยเฉพาะข้อเสนอของฮ่องกงในการจัดสัมมนาด้านธุรกิจเกี่ยวกับศักยภาพของพื้นที่เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง – มาเก๊าที่กรุงเทพมหานครในช่วงครึ่งปีหลังของปี ๒๕๖๒ เพื่อปูทางไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ที่มากขึ้นระหว่าง GBA กับประเทศในภูมิภาค

      ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ไทยกับฮ่องกงมีพลวัตสูง โดยตั้งแต่นางแคร์รี หล่ำ เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้เดินทางเยือนไทย ๓ ครั้ง มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้แก่ การจัดทำความร่วมมือด้านการตรวจคนเข้าเมืองผ่านช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Autogate) ระหว่างกัน เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๑ และการเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ซึ่งล้วนเป็นช่องทางในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ รวมถึงมิติประชาชนกับประชาชน ซึ่งไทยและฮ่องกงยังสามารถมีความร่วมมือที่สานต่อให้เป็นรูปธรรมได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 
 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ